การมีสุขภาพดี ปราศจากโรคภัย เป็นความต้องการพื้นฐานของทุกคน นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และนอนหลับพักผ่อนเพียงพอ การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการตรวจสภาพความสมบูรณ์ของร่างกายแล้ว ยังเป็นการค้นหาความผิดปกติของโรคต่าง ๆ ก่อนลุกลาม สามารถรักษาได้ทันท่วงที โดยเฉพาะโรคร้ายแรง อย่างโรคมะเร็งต่าง ๆ ที่หากพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นอาจรักษาให้หายได้
แม้มะเร็งจะเป็นโรคร้ายที่พบมากในผู้สูงอายุ แม้จะไม่แสดงอาการในช่วงระยะแรกเริ่ม แต่สามารถตรวจเช็กเพื่อคัดกรองความเสี่ยงให้รู้ก่อนได้ องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งบางชนิดเช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพประจำปี¹
ประโยชน์ของการคัดกรองมะเร็งในวัย 50+
โรคมะเร็ง โรคร้ายที่ใคร ๆ ก็เป็นกังวล โดยเฉพาะวัย Gen ยัง Active หลาย ๆ คนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้สุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรค ไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง แต่กลับตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง
แล้วทำไมโรคมะเร็งจึงพบได้บ่อยกับผู้สูงวัย? นั่นเป็นเพราะอายุที่มากขึ้น เซลล์ในร่างกายของเรานั้นก็มีความเสื่อมลง จนอาจเกิดเป็นก้อนเนื้อที่ควบคุมไม่ได้ และกลายเป็นก้อนมะเร็งในที่สุด
อีกทั้งสาเหตุของการเกิดมะเร็งนั้น ไม่จำเป็นต้องมาจากพันธุกรรมตามที่เข้าใจเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกหลาย ๆ อย่างรวมถึงพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตด้วยเช่นกัน²
3 มะเร็งตัวร้ายที่พบบ่อยในวัย 50+³
สำหรับการตรวจคัดกรองนั้น จะมีวิธีที่แตกต่างกันตามมะเร็งแต่ละชนิด และนี่คือ Top 3 มะเร็งตัวร้าย ที่พบบ่อยมากที่สุดในวัย 50+

1. มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ในคนไทย และอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มะเร็งประเภทนี้ แนะนำให้ตรวจในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยการตรวจมี 2 แบบ ได้แก่ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้มองเห็นผนังลำไส้ได้อย่างชัดเจน และสามารถตัดเนื้อเยื้อที่ผิดปกติไปตรวจสอบได้ทันที หากผลตรวจเป็นปกติ สามารถเว้นการตรวจได้ถึง 5-10 ปี
ส่วนการตรวจอีกแบบ คือ การตรวจอุจจาระ เพื่อดูว่ามีเลือดออกแฝงในระบบทางเดินอาหารหรือไม่ ซึ่งการตรวจด้วยการใช้กระบวนการทางเคมี จะได้ผลที่แม่นยำมากกว่าด้วยการดูด้วยตาเปล่า ข้อดีของการตรวจอุจจาระ คือความสะดวกของผู้ป่วย เพราะใช้เวลาเตรียมตัวน้อยกว่า ขั้นตอนไม่เยอะ ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการตรวจด้วยการส่องกล้อง
แต่หากผลการตรวจอุจจาระผิดปกติ จำเป็นต้องยืนยันผลตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่อีกรอบหนึ่ง นอกจากนี้ หากผลตรวจอุจจาระเป็นปกติ ผู้สูงอายุควรตรวจซ้ำในทุก ๆ ปี จึงจะได้การคัดกรองที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เมื่อเทียบกับการส่องกล้อง

2. มะเร็งเต้านม
อายุ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดต่อการเป็นมะเร็งเต้านม พบว่ายิ่งอายุมากขึ้นโดยเฉพาะสตรีวัย 60 ปีขึ้นไป ยิ่งมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม แนะนำให้ผู้หญิงทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 45-50 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์แมมโมแกรม (Mammogram) ร่วมกับการทำอัลตราซาวด์เต้านม (Ultrasound)
หากผลตรวจออกมาเป็นปกติ ควรตรวจซ้ำทุก ๆ 1 – 2 ปี เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่หากไม่สามารถทำแมมโมแกรมสามารถตรวจด้วยตัวเองง่าย ๆ โดยการคลำเต้านมเพื่อดูว่ามีก้อนเนื้อผิดปกติเกิดขึ้นหรือเปล่า ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้ แม้จะมีความแม่นยำน้อยกว่าแบบแมมโมแกรม แต่ก็ถือว่าเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย สำหรับในรายที่พบว่ามีก้อนเนื้อผิดปกตินั้น อาจจะต้องตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติม เพื่อดูว่ามีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่

3. มะเร็งปากมดลูก
แม้มะเร็งปากมดลูกจะพบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม แต่กลับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากมะเร็งอันดับหนึ่งของหญิงไทย เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกหรือระยะก่อนเป็นมะเร็งนั้นผู้ป่วยจะไม่มีอาการใด ๆ รวมทั้งหญิงไทยมีความเขินอายในการเข้ารับการตรวจโรค กว่าจะมารับการตรวจโรคก็อาจเข้าสู่ระยะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้จนต้องเสียชีวิตในที่สุด หากเราเรียนรู้และทำความเข้าใจ ก็จะช่วยป้องกันให้ห่างไกลจากมะเร็งปากมดลูกได้
มะเร็งปากมดลูกนี้เป็นมะเร็งชนิดเดียวที่ไม่จำกัดเฉพาะผู้ป่วยสตรีสูงวัย แต่มีโอกาสเกิดขึ้นกับสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้วทุกคน สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส HPV
แนะนำให้ตรวจในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20-30 ปีขึ้นไป และควรตรวจซ้ำทุก 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับเทคนิคที่ใช้ในการตรวจ ในรายที่ผลการตรวจเป็นปกติตลอด สามารถหยุดตรวจได้หลังอายุ 65 ปี ส่วนรายที่มีผลการตรวจผิดปกติ จะต้องเข้ารับการตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติม หรือทำการรักษาเพื่อกำจัดชิ้นเนื้อที่ผิดปกตินี้ ก่อนจะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดมากขึ้น
อย่างไรก็ดี “มะเร็งในผู้สูงอายุ” นั้นไม่ว่าจะน่ากลัวสักแค่ไหน แต่ถ้าหากวัย 50+ ได้เข้ารับการตรวจคัดกรองแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถห่างไกลจากโรคนี้ได้แบบสบายหายห่วง
ผู้ที่มีความสนใจในเรื่องโรคมะเร็งสามารถรับคำปรึกษาเพิ่มเติมจากบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ปัจจัยเสี่ยง การรักษา และการป้องกันตนเองได้
เรียบเรียงโดย : จีเอสเค
เอกสารอ้างอิง:
1. A short guide to cancer screening: increase effectiveness, maximize benefits and minimize harm [Internet]. Who.int. World Health Organization; 2022 [cited 2025 Mar 7]. Available from: https://www.who.int/europe/publications/i/item/9789289057561.
2. Cancer [Internet]. Mayo Clinic. [cited 2025 Mar 11]. Available from: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cancer/symptoms-causes/syc-20370588
3. มารู้จักกับประเภทการ ตรวจมะเร็ง สำหรับผู้สูงอายุ - คลินิกผู้สูงวัย [Internet]. คลินิกผู้สูงวัยสุขภาพดี - Comprehensive Geriatric Clinic. 2021 [cited 2025 Mar 7]. Available from: https://healthyelderly.md.chula.ac.th/articles/%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%87-%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9
NP-TH-NA-WCNT-250004 | March 2025