line
เมนู
รู้แล้วยัง

รู้จัก “โรคติดเชื้ออาร์เอสวีในผู้ใหญ่” ภัยเงียบที่อันตรายถึงชีวิต

แชร์บทความนี้
line
line
line

ภายหลังการระบาดของโควิด ผู้คนสนใจเรื่องการติดเชื้อที่แพร่กระจายทางการหายใจกันมากขึ้น และสามสหายสำคัญของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มนี้ คือ “ไข้หวัดใหญ่” “โควิด” และ “อาร์เอสวี”

เชื้อไวรัสอาร์เอสวี (respiratory syncytial virus) เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของไข้หวัดในวัยเด็ก หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ‘โรคติดเชื้ออาร์เอสวี’ ผู้ใหญ่ก็เป็นกันได้¹ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคปอดหรือโรคหัวใจอยู่เดิม ซึ่งเมื่อติดเชื้อนี้แล้วจะมีอาการรุนแรง และในบางรายอาจทำให้โรคเดิมกำเริบจนถึงขั้นทุพพลภาพหรือเสียชีวิต²⁻⁴ เพราะปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มียารักษาโรคที่จำเพาะ แต่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้¹

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ‘โรคติดเชื้ออาร์เอสวีในผู้ใหญ่’ เกิดขึ้นในระบบการหายใจทั้งส่วนบนคือจมูกและโพรงหลังจมูก และส่วนล่างคือหลอดลมลงไปจนถึงเนื้อปอด แพร่ระบาดติดต่อกันด้วยการได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจเอาละอองลอย หรือจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ที่ติดตามผิวสัมผัสโดยมีไวรัสแฝงอยู่⁵ พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กที่ไปโรงเรียนหรือสถานรับดูแลเด็กช่วงกลางวัน ซึ่งจะเป็นแหล่งนำเชื้อกลับมาแพร่ให้กับคนในบ้านโดยเฉพาะผู้สูงอายุ⁶ โรคนี้แพร่ระบาดได้ตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันและในอนาคตเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พบโรคนี้มากขึ้นกว่าในอดีต²

อาการของโรคจัดอยู่ในกลุ่มไข้หวัด คือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ จาม น้ำมูกไหล² ในคนปกติที่ร่างกายแข็งแรงโรคนี้จะหายได้เองภายใน 3-5 วัน แต่ในผู้สูงอายุโดยเฉพาะคนที่มีโรคร่วม²⁻⁴ เชื้อจะมีการลุกลามลงไปถึงหลอดลมฝอยและถุงลมปอดได้ ทำให้เกิดอาการหายใจลำบากเพราะหลอดลมตีบจากหลอดลมฝอยอักเสบ และอาจมีอาการหอบเหนื่อยมากจากถุงลมอักเสบลุกลามไปมากจนทำให้ปอดอักเสบเป็นวงกว้าง เมื่อเกิดความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นแล้วไปพบแพทย์ช้า หรือไปพบแพทย์แล้วให้การวินิจฉัยได้แต่ก็ไม่มียาต้านไวรัสที่ได้ผลดีสำหรับรักษา จึงอาจทำให้เกิดผลลัพธ์ในด้านลบที่ทุกฝ่ายไม่พึงประสงค์

“ผู้ใหญ่ทุกคนมีความเสี่ยงติดเชื้ออาร์เอสวี แต่คนทั่วไปที่แข็งแรงดีเมื่อติดเชื้อมักจะหายได้ง่ายเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่ถ้าอายุมากขึ้น อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะมีโรคเรื้อรัง ที่สำคัญคือโรคปอด โรคหัวใจ หากติดเชื้อ ก็จะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติได้ เพราะเมื่อเชื้อเข้าไปหลอดลมและปอด ทำให้โรคปอดกำเริบและกระเทือนไปถึงหัวใจที่ทำงานประสานงานกัน ทำให้กลุ่มเสี่ยงคือคนที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปและมีโรคเรื้อรัง” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว²

แม้ว่าปัจจุบันโรคติดเชื้ออาร์เอสวีในผู้ใหญ่จะยังไม่มีการรักษาจำเพาะที่ได้ผล² แต่สามารถป้องกันโรคนี้ไม่ให้ระบาดรุนแรงได้ ด้วยมาตรการเช่นเดียวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่และโควิด คือ การหมั่นล้างมือเมื่อออกไปในที่สาธารณะในช่วงที่มีการระบาด หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัดและมีการระบายอากาศไม่ดี ถ้าจำเป็นต้องใส่หน้ากากให้แน่นหนาและถูกวิธี ถ้าเป็นหวัดไม่ควรออกนอกบ้าน แต่ถ้าจำเป็นให้ใช้เวลาสั้นที่สุด ใส่หน้ากากตลอดเวลา และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดผู้อื่น⁵

นอกจากนี้ในปัจจุบันมีวัคซีนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการป้องกันโรคติดเชื้ออาร์เอสวี สามารถปรึกษาแพทย์ถึงการป้องกันที่เหมาะสมโดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคปอดและหัวใจอยู่เดิม

เรียบเรียงโดย : จีเอสเค

เอกสารอ้างอิง :
1. Centers for Disease Control and Prevention (CDC), 2024. Clinical Overview of RSV. https://www.cdc.gov/rsv/hcp/clinical-overview/?CDC_AAref_Val=https://www.cdc.gov/rsv/clinical/index.html (Access in June 2024)
2. Nam, Hannah H, and Michael G Ison. “Respiratory syncytial virus infection in adults.” BMJ (Clinical research ed.) vol. 366 l5021. 10 Sep. 2019, doi:10.1136/bmj.l5021
3. Centers for Disease Control and Prevention (CDC), 2024. RSV in Older Adults and Adults with Chronic Medical Conditions. https://www.cdc.gov/rsv/older-adults/?CDC_AAref_Val=https://www.cdc.gov/rsv/high-risk/older-adults.html (Access in June 2024)
4. Belongia, Edward A et al. “Clinical Features, Severity, and Incidence of RSV Illness During 12 Consecutive Seasons in a Community Cohort of Adults ≥60 Years Old.” Open forum infectious diseases vol. 5,12 ofy316. 27 Nov. 2018, doi:10.1093/ofid/ofy316
5. Centers for Disease Control and Prevention (CDC), 2024. How RSV Spreads. https://www.cdc.gov/rsv/causes/?CDC_AAref_Val=https://www.cdc.gov/rsv/about/transmission.html (Access in June 2024)
6. Otomaru, Hirono et al. “Risk of Transmission and Viral Shedding From the Time of Infection for Respiratory Syncytial Virus in Households.” American journal of epidemiology vol. 190,12 (2021): 2536-2543. doi:10.1093/aje/kwab181

NP-TH-RS-WCNT-240001

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว