‘เบนโตะ’ และ ‘ปิ่นโต’ อาจแตกต่างกันที่ชื่อ แต่มีใจความสำคัญเดียวกันคือ ความใส่ใจในทุก ๆ ขั้นตอนในการลงมือทำ ลงมือปรุง ตั้งแต่การออกแบบเมนู การเลือกวัตถุดิบ การเลือกรูปแบบของภาชนะที่ใส่ ไปจนถึงการจับคู่สีสันของอาหารให้ออกมาสวยงาม เป็นทั้งอาหารตาที่ดูแล้วอิ่มอกอิ่มใจ และเป็นทั้งอาหารมื้ออร่อยที่ดีต่อพุงดีต่อสุขภาพ
‘เบนโตะ’ งานศิลป์ที่กินได้
ถึงแม้ในสมัยก่อน ‘เบนโตะ’ เป็นการพกอาหารที่เรียบง่ายไปทานข้างนอก โดยเน้นให้อิ่มท้อง แต่ปัจจุบัน เบนโตะถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่นอกจากต้องแค่อิ่มท้องแล้วต้องมีหน้าตาที่น่ารับประทาน มีคุณค่าทางสารอาหาร และมีรายละเอียดพื้นฐานที่ละเลยไม่ได้อยู่ด้วย ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้ไป ก็คงพูดไม่ได้เต็มปากว่านี่คือเบนโตะสไตล์ญี่ปุ่นที่สมบูรณ์
เรื่องน่ารู้ก่อนทำเบนโตะ
ไม่ใช่แค่แม่บ้านที่มีหน้าที่ทำเบนโตะ แต่ทุกคนสามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่กินได้กินดีได้ด้วยตัวเอง อย่างวัย Gen ยัง Active ที่อยู่กับบ้านเหงา ๆ ลองฝึกความคิดสร้างสรรค์ ทำเบนโตะให้ลูก ๆ หลาน ๆ ได้นำไปกินที่โรงเรียนหรือที่ทำงานก็ดีต่อใจ ฝึกสมองให้ได้คิดอะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลา
อดใจรอไม่ไหวแล้วใช่ไหม งั้นเริ่มกันเลย!
1. คิดคำนวณความสมดุลของรสชาติ
สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงก่อนการทำเบนโตะก็คือ รสชาติต้องมีความสมดุลกันดีทั้งหวาน เปรี้ยว เค็ม เผ็ด พร้อมกับต้องมีรสสัมผัสที่หลากหลาย มีคุณค่าทางโภชนาการ อร่อยและต้องดีต่อผู้ทานด้วย โดยควรเริ่มเลือกจากจานหลักก่อน ว่าเป็นข้าว ขนมปัง หรือเส้น เพราะช่วยให้กำหนดเมนูกับข้าวอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น
2. แบ่งสัดส่วนเป็น 3:2:1
ส่วนประกอบของเบนโตะแบ่งได้ 3 ประเภท ได้แก่ อาหารหลัก ซึ่งก็คือ ข้าว ขนมปังหรือเส้นต่าง ๆ อาหารเมนูหลัก คือ เนื้อ หมู ไก่ ปลา และเครื่องเคียง คือ ผักและผลไม้ โดยแบ่งสัดส่วนของกล่องเบนโตะทั้งหมดเป็น 3:2:1 ดังนี้ อาหารหลัก 3 ส่วน เครื่องเคียง 2 ส่วน และอาหารเมนูหลัก 1 ส่วน
3. 3 สีสำคัญ 5 สีสมบูรณ์
การจัดเบนโตะให้ดูน่ากินถือเป็นศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งชาวญี่ปุ่นได้กำหนดกับข้าวให้มี 5 สี แบ่งเป็น 3 สีสำคัญที่ขาดไม่ได้ในเบนโตะทุกกล่อง คือ สีแดง เหลือง เขียว และอีก 2 สี คือ สีน้ำตาลและสีดำ ซึ่งจะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ แต่ถ้ามีครบทั้ง 5 สีจะกลายเป็นเบนโตะที่สวยน่าทานพร้อมได้คุณประโยชน์ครบถ้วน
- สีแดง (สีส้ม) ได้แก่ ผักที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ อย่าง แครอท มะเขือเทศ พริกระฆัง ฯลฯ และเนื้อสัตว์โทนสีแดง อย่าง ปลามากุโระหรือแซลมอน เป็นต้น รวมทั้งผลไม้สีแดง อย่าง แอปเปิ้ล สตรอว์เบอร์รี่ และเบอร์รี่ต่าง ๆ ฯลฯ - สีเหลือง เป็นสีที่เต็มไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ ได้แก่ ไข่ ข้าวโพด กล้วย มันเทศ ฟักบัตเตอร์นัท เป็นต้น - สีเขียว ได้แก่ ผักสีเขียวทุกชนิด เช่น ผักกาดหอม บร็อคโคลี่ ถั่วเขียว ถั่วแระญี่ปุ่น บวบ หน่อไม้ฝรั่ง กีวี ซึ่งผักและผลไม้สีเขียวเหล่านี้อุดมไปด้วยไฟเบอร์และวิตามินซีมากมาย - สีน้ำตาล ได้แก่ เนื้อสัตว์และปลาที่อุดมไปด้วยโปรตีน เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู ฯลฯ - สีดำ ได้แก่ บรรดาสาหร่ายสีดำที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุ เช่น ฮิจิกิ วากาเมะ เป็นต้น
4. อุณหภูมิของอาหารก็เป็นเรื่องที่สำคัญ
ข้าวที่เพิ่งหุงเสร็จร้อน ๆ ควรต้องพักไว้ให้เย็นก่อนเสมอ เพราะเมื่อใส่ตอนที่ยังร้อนลงไปในเบนโตะ จะทำให้เกิดไอร้อนและหยดน้ำ ข้าวจึงบูดได้ หรือกับข้าวที่มีน้ำมากบางชนิด ควรซับให้แห้งก่อนใส่เช่นกัน รวมไปถึงการหาถุงที่สามารถรักษาอุณหภูมิให้อยู่ได้นาน ก็ช่วยให้ข้าวกล่องนั้นน่าทานไปตลอดทั้งวันได้
5. หลีกเลี่ยงของแหลมคมในข้าวกล่อง
ที่จิ้มอาหารที่มีรูปทรงและดีไซน์น่ารักก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่ชื่นชอบการทำข้าวกล่องอย่างแน่นอน แต่ถ้าใครหาไม่ได้ อาจเลือกใช้ไม้จิ้มฟันแทน ซึ่งจริง ๆ แล้วควรหลีกเลี่ยงเพราะอาจเป็นอันตรายได้ เทคนิคง่าย ๆ ที่กูรูเบนโตะชาวญี่ปุ่นแนะนำ คือ ใช้เส้นสปาเก็ตตี้มาเสียบในอาหารแทน เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก ความชื้นและความร้อนจากอาหาร จะทำให้เส้นสปาเก็ตตี้อ่อนตัวลงโดยอัตโนมัติ อร่อย ไอเดียดี และไม่เป็นอันตรายอย่างแน่นอน
เอกสารอ้างอิง: Sumire by สุมาลี. วิธีทำ ‘เบนโตะ’ หรือกล่องข้าวญี่ปุ่นง่าย ๆ สวยงามน่ารับประทาน (2567, สิงหาคม, 29) https://sumirethailand.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B3-%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B8%B0-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2/