line
เมนู
รู้แล้วยัง

ชวนรู้จักและเตรียมรับมือ ‘ภาวะเปราะบาง’ ภัยเงียบในผู้สูงอายุ

ภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุ สังเกต และป้องกันได้อย่างไร
แชร์บทความนี้
line
line
line

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุเกิน 60 ปี คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเรียกว่าเราเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete-aged society) และในอีก 10 กว่าปีข้างหน้า สัดส่วนของผู้สูงอายุจะอยู่ที่ 28 เปอร์เซ็นต์ทันประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด หรือ super aged society

ในเมื่อสังคมผู้สูงอายุเป็นวาระระดับชาติ และไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป จะทำอย่างไรให้เรายังคงแข็งแรง ผศ. พญ.ฐิติมา ว่องวิริยะวงศ์ อาจารย์แพทย์สาขาอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ชวนทำความรู้จัก ‘ภาวะเปราะบาง’ กันในเบื้องต้น

“‘ภาวะเปราะบาง’ คือภาวะที่อยู่ระหว่าง ‘ความแข็งแรงดี’ กับ ‘การมีภาวะพึ่งพิง’ ซึ่งสามารถย้อนกลับไปมาระหว่างความแข็งแรงดีกับการมีภาวะพึ่งพิงได้ ภาวะที่แข็งแรงดี คือยังแอคทีฟอยู่ ยังไปไหนมาไหนได้ ออกกำลังกาย ยังเดินได้คล่องเหมือนเดิม ในขณะที่คนมีภาวะพึ่งพิง คือคนที่ต้องการความช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว จัดยา ทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ได้ด้วยตนเองแล้ว ก็ถือว่ามีภาวะพึ่งพิง หากเราพบภาวะเปราะบางได้แต่เนิ่น ๆ ก็จะสามารถดูแลให้กลับไปแข็งแรงได้

มีข้อมูลว่า ผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบาง ภายใน 1-5 ปี 1 ใน 3 อาจเป็นคนไข้ติดเตียงได้ หรืออาจเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรงได้¹ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุท่านนั้น เป็นคนที่แข็งแรงมากกว่าเป็นคนที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง”

พร้อมกันนั้น ผศ. พญ.ฐิติมา ยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบาง เวลาเป็นโควิด พละกำลังจะถดถอยลงไป อาจจะกลายเป็นติดเตียงไปเลย หรือน้ำหนักลดเป็น 10 กิโลกรัม แล้วเรามีการจัดการอะไรบ้าง เพื่อช่วยให้ท่านแข็งแรงขึ้น ต่อให้เป็นโควิด ปอดติดเชื้อ ไม่นานก็จะฟื้นตัวกลับมาแข็งแรงได้เหมือนเดิม²

“อายุไม่ได้เป็นตัวกำหนดภาวะเปราะบาง จะเห็นว่าผู้สูงอายุบางท่าน อายุ 90 ปี ยังไปว่ายน้ำอยู่ บางคนอายุ 85 ยังขับรถได้ เดินช้อปปิ้งได้ จัดยาเองได้ หรือบางท่านเป็นคุณหมอที่ยังออกตรวจคนไข้อยู่เลย ในขณะที่บางท่านอายุ 70 ปี กลับช่วยเหลือตัวเองได้น้อยแล้ว ทำอะไรต้องให้ลูกหลานคอยช่วยเหลือ หรือต้องนั่งวีลเเชร์”

เรามีวิธีสังเกตได้ไม่ยากว่าผู้สูงอายุมีภาวะเปราะบางหรือไม่ โดยสามารถสังเกตได้หากมีอาการตั้งเเต่ 3 ใน 5 ข้อต่อไปนี้³𝄒⁴

  1. รู้สึกอ่อนเพลีย หมดเรี่ยวหมดแรง ไม่อยากทำอะไร จะลุกจากเตียงก็ไม่อยากไป ออกจากบ้านก็ไม่อยากไปไหน เหนื่อยง่าย
  2. เดินขึ้นลงบันไดชั้นเดียวไม่ไหว เช่น ต้องเกาะราวบันไดขึ้นไป พักระหว่างชั้นบันได หรือต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุง
  3. เดินทางราบ ทางตรง ในระยะแค่ 300-400 เมตรไม่ไหว ต้องหยุดระหว่างทาง หรือต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดิน
  4. มีโรคประจำตัวหลายโรค ตั้งเเต่ 5 โรคขึ้นไป
  5. น้ำหนักตัวลดลงเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ใน 1 ปีโดยไม่ตั้งใจลด

ทั้งนี้ เรายังคงสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุได้ด้วยหลากหลายวิธี โดยวิธีเหล่านั้นง่ายและใกล้ตัวกว่าที่คิด

1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ผู้สูงอายุจำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยผู้สูงอายุควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์⁵

“การออกกำลังกายในผู้สูงอายุนั้น ทำอะไรก็ได้ที่รู้สึกว่าได้ออกกำลังกาย อย่าอยู่นิ่งเฉย แม้อยู่บ้านก็สามารถออกกำลังกายได้ ทำงานบ้านก็ได้ ออกกำลังกายให้หัวใจได้เต้นเร็วขึ้นกว่าปกติ สำหรับผู้สูงอายุถ้าจะให้ดี นอกจากจะออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงของระบบหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ยังแนะนำให้ออกกำลังกายเพื่อการสร้างมวลกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่น เเละฝึกการทรงตัวที่ดีขึ้น จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มที่เป็นสาเหตุของกระดูกหักได้ และยังช่วยให้ห่างไกลภาวะเปราะบางอีกด้วย”

2. รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และเน้นการเพิ่มโปรตีน

ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และมีปริมาณของโปรตีนที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

“ผู้สูงอายุมักเข้าใจผิดเรื่องการกินว่า พออายุเยอะแล้วควรกินเจ กินมังสวิรัติ ซึ่งนั่นอาจทำให้ขาดสารอาหารได้ อัตราส่วนอาหารที่อาจเหมาะกับผู้สูงอายุที่เปราะบางและไม่มีโรคไตเสื่อมเรื้อรังคือ 2:2:1 คือโปรตีน 2 ผัก 2 แป้ง 1 ควรรับประทานโปรตีนให้มากขึ้นกว่าวัยหนุ่มสาว โดยเป็นโปรตีนทั้งจากสัตว์และโปรตีนจากพืช ในอัตราส่วนที่สมดุลกัน พร้อมกันนั้น อาหารที่รับประทานควรหลากหลาย เพื่อป้องกันการขาดสารอาหารบางชนิด และมีไฟเบอร์ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายที่ดี เพราะลำไส้ของผู้สูงอายุจะเคลื่อนตัวช้าลง ทำให้เกิดภาวะท้องผูกตามมาได้ ส่วนไขมันควรกินในปริมาณน้อยและควรเลือกบริโภคไขมันดี⁶𝄒⁷”

3. งดบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

งดการสูบบุหรี่โดยสิ้นเชิง ส่วนแอลกอฮอล์ มีการศึกษาพบว่า การดื่มไวน์แดงประมาณ 1-2 แก้วต่อวัน ช่วยให้สุขภาพหัวใจดี สุขภาพสมองดีได้ เป็นหนึ่งในสูตรของ ‘Mediterranean Diet’ คือการกินอาหารแบบผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งดีต่อสุขภาพ⁸𝄒⁹

4. ใช้ยาให้เหมาะสมกับโรคและคน

ผู้สูงอายุมักมีความรู้สึกว่า ยิ่งกินยาเยอะ ยิ่งแข็งแรง อันที่จริงการกินยาในปริมาณที่เยอะเกินไปก็ไม่ดี ทั้งนี้ ยาควรจะเหมาะกับโรคและคน ที่สำคัญอย่าแชร์ยากัน และอย่าลืมพบคุณหมอเพื่อเลือกใช้ยาให้เหมาะสม

“ท้ายสุดสิ่งสำคัญที่สุดคือใจของเรา ถ้าใจของเราคิดว่าเราแก่ เราก็จะแก่ไปเลย อย่างคุณยายชาวเยอรมันท่านหนึ่ง ชื่อคุณยายโจฮันน่า ควอซ (Johanna Quaas) อายุ 98 ยังเล่นยิมนาสติกอยู่ ท่านฝากเคล็ดลับความสดใสไว้ว่า ‘My face is old, but my heart is young. – ถึงหน้าฉันจะเหี่ยวแต่ใจฉันยังสาวเสมอ’ ดังนั้น อายุเป็นเพียงตัวเลข ขอให้แข็งแรงเอาไว้ อายุเท่าไหร่ก็ช่างมัน” นี่ล่ะคือวลีเด็ดที่เสริมสร้างแรงบันดาลใจสำหรับชาว Gen ยัง Active ชั้นดีเลยทีเดียว

เรียบเรียงโดย ผศ.พญ. ฐิติมา ว่องวิริยะวงศ์
สาขาวิชาอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

เอกสารอ้างอิง
1. Hoogendijk EO, Afilalo J, Ensrud KE, Kowal P, Onder G, Fried LP. Frailty: implications for clinical practice and public health. Lancet. 2019;394(10206):1365-75.
2. Clegg A, Young J, Iliffe S, Rikkert MO, Rockwood K. Frailty in elderly people. Lancet. 2013;381(9868):752-62.
3. T Sriwong W, Mahavisessin W, Srinonprasert V, Siriussawakul A, Aekplakorn W, Limpawattana P, Suraarunsumrit P, Ramlee R, Wongviriyawong T. Validity and reliability of the Thai version of the simple frailty questionnaire (T-FRAIL) with modifications to improve its diagnostic properties in the preoperative setting. BMC Geriatr. 2022 Feb 28;22(1):161.
4. Lopez D, Flicker L, Dobson A. Validation of the frail scale in a cohort of older Australian women. Journal of the American Geriatrics Society. 2012;60(1):171-3.
5. Liu CK, Fielding RA. Exercise as an intervention for frailty. Clin Geriatr Med. 2011 Feb;27(1):101-10. doi: 10.1016/j.cger.2010.08.001. PMID: 21093726; PMCID: PMC3005303.
6. Ni Lochlainn M, Cox NJ, Wilson T, Hayhoe RPG, Ramsay SE, Granic A, Isanejad M, Roberts HC, Wilson D, Welch C, Hurst C, Atkins JL, Mendonça N, Horner K, Tuttiett ER, Morgan Y, Heslop P, Williams EA, Steves CJ, Greig C, Draper J, Corish CA, Welch A, Witham MD, Sayer AA, Robinson S. Nutrition and Frailty: Opportunities for Prevention and Treatment. Nutrients. 2021 Jul 9;13(7):2349.)
7. Volkert D, Beck AM, Cederholm T, Cruz-Jentoft A, Hooper L, Kiesswetter E, Maggio M, Raynaud-Simon A, Sieber C, Sobotka L, van Asselt D, Wirth R, Bischoff SC. ESPEN practical guideline: Clinical nutrition and hydration in geriatrics. Clin Nutr. 2022 Apr;41(4):958-989.
8. Morley JE, Vellas B, van Kan GA, Anker SD, Bauer JM, Bernabei R, et al. Frailty consensus: a call to action. Journal of the American Medical Directors Association. 2013;14(6):392-7.
9. Ntanasi E, Yannakoulia M, Kosmidis MH, Anastasiou CA, Dardiotis E, Hadjigeorgiou G, Sakka P, Scarmeas N. Adherence to Mediterranean Diet and Frailty. J Am Med Dir Assoc. 2018 Apr;19(4):315-322.e2.

NP-TH-NA-WCNT-230026

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว