line
เมนู
ไลฟ์สไตล์

แจกทริค กินเจอย่างไรให้ Healthy อิ่มบุญ อิ่มใจ ไร้พุง

เคล็ดลับเพื่อสุขภาพที่ดี อิ่มอร่อยไม่กระทบโรคเรื้อรัง
แชร์บทความนี้
line
line
line

เทศกาลถือศีลกินผัก หรือที่เราเรียกว่า ‘เทศกาลกินเจ’ เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี สำหรับปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-11 ตุลาคม 2567 ในช่วงกินเจควรเลือกกินอาหารที่สมดุลและหลากหลาย ว่าแต่จะเลือกกินอย่างไรให้ได้สุขภาพ สิ่งแรกคือการวางแผนให้เหมาะสม เพราะหากกินเจแบบขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง อาจทำให้เสี่ยงขาดสารอาหาร หรือการได้รับแป้งรับโปรตีนมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะอ้วนตามมาได้

การละเว้นกินเนื้อสัตว์ ได้สร้างบุญสร้างกุศล ตามความเชื่อทางศาสนา แต่ในเรื่องของร่างกายแล้ว หากละเว้นการกินเนื้อสัตว์กินของมันของทอด หรือกินอาหารประเภทเดียวกันติดต่อกันหลายวัน ร่างกายจะเสียสมดุล น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น โรคต่าง ๆ ก็ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ

5 ทริคกินเจอย่างไร ให้ดีต่อสุขภาพ

ก่อนกินเจ 2 – 3 วัน ควรเตรียมความพร้อมของร่างกายและจิตใจ โดยให้ระบบทางเดินอาหารค่อย ๆ ปรับสภาพ โดยเพิ่มการกินผักในมื้ออาหารให้มากขึ้น ลดปริมาณเนื้อสัตว์หรือเปลี่ยนจากเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เป็นปลา ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง ตามลำดับ และเมื่อถึงช่วงกินเจ อาจต้องคอยระวังเรื่องน้ำหนักกันหน่อย เพราะมองไปทางไหนก็เจอแต่อาหารที่ทำจากแป้ง ของมัน ของทอด และนี่คือ 5 ทริคกินเจให้อิ่มอร่อย หุ่นไม่พัง

1. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละมื้ออาหาร ประกอบไปด้วย โปรตีนจากถั่วเมล็ดแห้ง คาร์โบไฮเดรตจากข้าวแป้ง วิตามินและแร่ธาตุ จากพืชผัก ผลไม้ และไขมันจากน้ำมันแต่พอดี
2. กินโปรตีนจากพืชให้หลากหลายและเพียงพอ เช่น เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ น้ำเต้าหู้ โปรตีนเกษตร ถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่วเมล็ดแห้งทุกชนิด
3. เลือกปรุงหรือซื้ออาหารที่มีรสชาติปานกลาง ไม่หวาน มัน เค็มจัด โดยอาจเลือกเมนูเจประเภท ต้ม แกง ย่าง ยำ และน้ำพริกผักแนม
4. กินอาหารกลุ่มข้าว แป้ง เส้นต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์ที่ทำจากแป้งในปริมาณที่เหมาะสม เพราะอาจทำให้ได้พลังงานจากคาร์โบไฮเครตมากเกินไป
5. วัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารต้องไม่ปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีตกค้าง โดยเฉพาะจากพืชผักควรล้างให้สะอาดเพื่อความปลอดภัย

กินเจครบ 9 วันแล้ว ก็ต้อง 'ออกเจ' ให้ถูกต้อง

การกินเจติดต่อกันเป็นเวลา 9 วัน ส่งผลให้ร่างกายมีการปรับสภาพของระบบการย่อยอาหารจากที่ย่อยเนื้อสัตว์มาเป็นพืชผักเป็นหลักแทน เมื่อหลังออกเจในช่วง 2-3 วันแรก ควรปรับสภาพร่างกายด้วยทริคการกินง่าย ๆ ดังนี้

1. อย่าเพิ่งกินเนื้อสัตว์

พอหมดเจแล้ว วิธีออกเจเพื่อให้ร่างกายปรับสมดุลได้ดี คือ ในช่วง 2-3 วันแรก อย่าเพิ่งทานเนื้อสัตว์ใหญ่ที่ย่อยยาก เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ แต่ให้ทานอาหารจำพวกนมถั่วต่าง ๆ ไข่ ปลา ไปก่อน

ถ้ากินเนื้อสัตว์ย่อยยากไปในทันที หรือการหักดิบ อาจจะทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ได้ ท้องอืด เพราะย่อยยาก

2. งดเว้นนมวัวไปก่อน

สำหรับผู้ที่ต้องการจะกลับมาดื่มนมวัวหลังออกเจ แนะนำให้เริ่มดื่มครั้งละน้อย ประมาณครึ่งแก้ว และสามารถเพิ่มเป็นครั้งละ 1 แก้วได้ในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือดื่มนมหลังอาหารขณะที่ท้องไม่ว่าง หรือดื่มนมในช่วงสายหรือช่วงบ่าย ในมื้ออาหารว่าง หรือเลือกผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการย่อยน้ำตาลแลคโตสบางส่วนโดยจุลินทรีย์ เช่น โยเกิร์ต หรืออาจดื่มนมถั่วเหลืองทดแทนไปก่อน เมื่อรู้สึกว่าร่างกายสามารถปรับสภาพการย่อยอาหารกลับสู่ภาวะเดิมได้แล้วก็สามารถกินอาหารและดื่มนมได้ตามปกติ

3. ไม่ควรกินอาหารรสจัด

เนื่องจาก 9 วันที่ผ่านมา ร่างกายเคยชินกับอาหารรสชาติอ่อน ๆ การกินอาหารรสจัดในทันทีอาจส่งผลเสียต่อระบบการย่อยอาหาร เช่น กินเผ็ดจัดในทันทีก็อาจจะปวดท้อง หรือโรคกระเพาะถามหาได้ ดังนั้นอย่ากินอาหารรสจัดทันที ควรเน้นเป็นอาหารที่ไม่เผ็ดจัด หวานจัด มันจัด เช่น ไข่ตุ๋นทรงเครื่อง ปลานึ่งขิง แกงจืดเต้าหู้ไข่ใบตำลึง

4. ลดแป้ง เน้นผักผลไม้

เนื่องจากช่วงกินเจ อาหารส่วนใหญ่จะเน้นแป้งเยอะ กินแป้งมาหนัก ๆ 9 วันก็อาจจะทำให้น้ำหนักพุ่งไปหลายกิโลกรัม ดังนั้นออกเจแล้วก็ได้เวลากลับมากินเนื้อสัตว์ ก็ควรลดแป้งไปด้วยในตัว เพิ่มเติมด้วยการกินผัก ผลไม้ ให้มากขึ้น ควรกลับมากินอาหารที่ไม่มันมาก ประเภท ต้ม ย่าง ยำ อบ นึ่ง อย่างเช่น อาหารพื้นบ้านพวกแกงเลียง แกงป่า แกงอ่อม แกงแค ที่ไม่ใส่หมู ไม่ใส่น้ำมัน ส่วนผลไม้ แนะนำให้เลือกผลไม้น้ำตาลน้อย เช่น ฝรั่ง ชมพู แก้วมังกร แอปเปิ้ลเขียว เป็นต้น

ทั้งนี้ หลังจากออกเจถือเป็นโอกาสที่ดีในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้ดีขึ้น โดยกินอาหารให้หลากหลายตามหลักโภชนาการ รับรองว่าเทศกาลเจนี้จะอิ่มบุญอิ่มใจและสุขภาพดี สดใสจนใคร ๆ เป็นต้องทักอย่างแน่นอน

เอกสารอ้างอิง:
กรมอนามัย. (2565, กันยายน, 24). กรมอนามัย แนะ เตรียมพร้อมกาย-ใจ กินเจให้ถูกหลักโภชนาการ. (2567, สิงหาคม, 28) https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/240965/
กรมอนามัย. (2565, ตุลาคม, 5). กรมอนามัย แนะ หลังออกเจเน้นกินอาหารย่อยง่าย รสไม่จัด. (2567, สิงหาคม, 28) https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/041065/

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว