line
เมนู
ไลฟ์สไตล์

8 วิธีรับประทานยา’ เช็กให้ชัวร์ก่อนกิน

“ทำไมก่อนกินยาต้องอ่านฉลากทุกครั้ง ?” มาดูเหตุผลพร้อมคำแนะนำจากคุณหมอ
แชร์บทความนี้
line
line
line

โรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ แม้การไม่มีโรคจะเป็นลาภอันประเสริฐ แต่โรคของผู้สูงอายุบางโรคก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

‘ยา’ จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาโรคหรือบรรเทาอาการต่าง ๆ ซึ่งยาจะดีและปลอดภัยเมื่อใช้อย่างถูกหลัก มาคลายทุกข้อสงสัยกับ ‘8 วิธีรับประทานยาที่ถูกต้อง’ ที่จะทำให้ชาว Gen ยัง Active ใส่ใจเรื่องยามากขึ้น

จำเป็นไหมที่ต้องรับประทานยาตามข้อบ่งใช้ ?

เคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมยาแต่ละชนิดจึงมีข้อบ่งใช้ต่างกัน บางตัวต้องรับประทานทั้งเช้า กลางวัน เย็น และมีทั้งที่เป็นยาก่อนอาหาร และหลังอาหาร ซึ่งหากต้องรับประทานยาหลายตัวด้วยแล้ว ยิ่งชวนให้สับสน คำตอบจากคุณหมอคือ ยาแต่ละชนิดถูกกําหนดให้รับประทานในเวลาที่แตกต่างกันด้วยเหตุผลที่จําเป็นต่าง ๆ เช่น

‘ยาแก้ปวดแก้อักเสบ’ (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs; NSAIDs) ยากลุ่มนี้จะกําหนดให้รับประทานหลังอาหารทันทีเนื่องจากมีผลระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร

‘ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ’ (Antibiotic) ควรรับประทานต่อเนื่องจนยาหมดหรือตามแพทย์สั่ง เพราะหากคิดว่าตัวเองหายดีแล้วและหยุดยาเอง จะทำให้ร่างกายดื้อยาและอาจเจ็บป่วยรุนแรงกว่าเดิม

ทั้งนี้มีข้อพึงสังเกตและข้อพึงระวังเนื่องจากมีการเรียก “ยาแก้อักเสบ” ในกลุ่มยาที่แตกต่างกันนั่นคือ ‘กลุ่มของยาปฏิชีวนะ’ ที่หลายคนเข้าใจผิดเรียกว่ายาแก้อักเสบ แต่หน้าที่ของยาปฏิชีวนะคือการฆ่าเชื้อหรือกำจัดเชื้อโรคที่เป็นต้นตอของการอักเสบนั่นเอง

ส่วน ‘กลุ่มยาต้านการอักเสบ’ ซึ่งถูกต้องแล้วที่เรียกว่ายาแก้อักเสบ โดยยากลุ่มนี้ช่วยแก้ปวดและลดการอักเสบโดยตรง เช่น กลุ่มแอสไพรินหรือกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งใช้รักษาการอักเสบที่เกิดจากการบาดเจ็บเพราะการเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย การใช้เสียง ข้ออักเสบจากโรครูมาตอยด์ เป็นต้น

อ่านฉลากแล้วต้องรับประทานยาให้ถูกวิธี

ก่อนรับประทานยาทุกครั้ง อย่าลืมหยุดอ่านฉลากยาสักนิดเพื่อความชัวร์ ซึ่งคำแนะนำในการรับประทานยาจากคุณหมอที่ควรจำให้ได้และนำไปใช้ ได้แก่

  1. ยาก่อนอาหาร

    ให้รับประทานก่อนอาหารประมาณ 30 นาที

  2. ยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที

    มักเป็นยาที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร เช่น ยากลุ่มแอสไพรินหรือกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs; NSAIDs) ให้รับประทานอาหารครึ่งหนึ่งแล้วรับประทานยา แล้วจึงรับประทานอาหารต่อจนอิ่ม หรือรับประทานอาหารคําสุดท้ายแล้วรับประทานยาทันที พร้อมดื่มน้ำตามมาก ๆ

  3. ยาหลังอาหาร

    ควรรับประทานหลังอาหาร 15 - 30 นาที

  4. ยาระหว่างมื้ออาหาร

    ให้รับประทานก่อนหรือหลังอาหาร 1 - 2 ชั่วโมง

  5. ยาก่อนนอน

    รับประทานก่อนเข้านอน 15 - 30 นาที กรณีที่เป็นยานอนหลับก่อนนอนเพื่อให้ผู้ป่วยนอนได้เต็มที่ โดยมากมักให้ผู้ป่วยรับประทานก่อนถึงเวลาที่ต้องตื่นนอนประมาณ 7 - 8 ชั่วโมง และที่สำคัญ ยานอนหลับควรใช้ตามแพทย์สั่งเท่านั้น เพราะยาบางตัวมีไว้สำหรับจัดการการนอนไม่หลับในช่วงเวลาหนึ่ง

  6. ยาที่รับประทานสัปดาห์ละครั้ง

    หากรับประทานวันใดก็ควรรับประทานวันนั้นทุก ๆ สัปดาห์ เช่น เริ่มรับประทานยาวันอาทิตย์ก็ให้รับประทานยานั้นทุกวันอาทิตย์

  7. ยาที่รับประทานเมื่อมีอาการ

    เช่น ยาลดไข้แก้ปวดพาราเซตามอล (Paracetamol) รับประทาน 2 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมงเวลาปวด หมายความว่าให้รับประทานครั้งละ 2 เม็ดเมื่อมีอาการปวด ถ้าต่อมามีอาการปวดอีกแต่ยังไม่ถึง 6 ชั่วโมง ยังไม่ควรรับประทานยานั้นซ้ำอีก เพราะอาจเกิดพิษจากยาเกินขนาดได้

  8. กรณีลืมรับประทานยา

    ให้รีบรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าใกล้ถึงเวลามื้อต่อไปแล้วให้ข้ามมื้อที่ลืมไป อย่าเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าในมื้อต่อไปเป็นอันขาดเพราะไม่ได้ชดเชยมื้อที่ลืมไป และอาจเกิดอันตรายหรืออาการข้างเคียงตามมาได้อีกด้วย

เรียบเรียงโดย : เรียบเรียงโดย : ภญ.ฐนิตา ทวีธรรมเจริญ
ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

Faculty of Medicine Siriraj Hospital. (n.d.). เมื่อคุณต้องกินยา Mahidol.ac.th. Retrieved
August 29, 2023, from https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=544
NP-TH-NA-WCNT-230008

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว