line
เมนู
ไลฟ์สไตล์

ให้ทุกการฟังมีความรื่นรมย์ด้วย ‘เครื่องช่วยฟังอัจฉริยะฝีมือเด็กไทย’

‘The Amazing Hearing Device’ ใช้ฟังง่าย ไม่ยุ่งยาก
แชร์บทความนี้
line
line
line

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่ามีหลายคนเริ่มประสบปัญหาหูตึงหรือความสามารถในการได้ยินเสียงต่าง ๆ ลดลง เพราะเกิดจากประสาทหูที่ค่อย ๆ เสื่อมไปตามอายุ แม้อาการเหล่านี้จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อย เนื่องจากอาจจะก่อให้เกิดปัญหาด้านการสื่อสารตามมา ด้วยเหตุนี้จึงได้มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า "เครื่องช่วยฟัง" หรือเครื่องขยายเสียงขนาดเล็กสำหรับใส่ติดหูของผู้ที่มีปัญหาการได้ยิน โดยตัวเครื่องจะมีไมค์จิ๋วคอยทำหน้าที่ขยายเสียงและดักเสียงต่าง ๆ ช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินสามารถรับเสียงต่าง ๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น

ก่อนจะรู้จักนวัตกรรมเครื่องช่วยฟังที่น่าสนใจ มาดูกันว่าเราจำเป็นต้องใช้เจ้าเครื่องนี้หรือไม่

ความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยฟัง

เครื่องช่วยฟังก็คือเครื่องขยายเสียง ช่วยให้ผู้ใช้ได้ยินเสียงดังขึ้น โดยที่เครื่องช่วยฟังที่ดีจะสามารถตั้งค่าความดังให้มีขีดจำกัดอยู่ในช่วงที่ฟังแล้วสบายหูกำลังดี ไม่เบาเกินไปและไม่ดังเกินไป ตลอดจนสามารถปรับเสียงทุ้ม เสียงแหลมได้พอเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้แต่ละราย

เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินซึ่งไม่สามารถรักษาได้จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟัง และก่อนที่จะตัดสินว่าสมควรใช้เครื่องช่วยฟังหรือไม่นั้นต้องตรวจวัดระดับการได้ยิน และหาสาเหตุของการได้ยินเสื่อมก่อน เพื่อที่จะได้รักษาควบคู่ไปด้วยกัน นอกจากนี้ระดับการได้ยินที่ตรวจวัดจะเป็นส่วนสำคัญในการเลือกเครื่องช่วยฟัง และปรับแต่งความดังและเสียงทุ้มแหลมให้พอเหมาะกับผู้ใช้แต่ละราย

นวัตกรรมเครื่องช่วยฟัง ฝีมือเยาวชนไทย คว้ารางวัลระดับโลก

นับเป็นเรื่องราวดี ๆ เมื่อเยาวชนไทยได้คิดค้นนวัตกรรม “เครื่องช่วยฟังมหัศจรรย์ (The Amazing Hearing Device : AHDs)” ที่คว้ารางวัลนานาชาติในงานแข่งขัน i-CREATe 2022 ที่ประเทศจีน เพื่อช่วยให้ผู้สูญเสียการได้ยิน ไม่ต้องผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม โดยเป็นผลงานสร้างสรรค์จาก 3 ประเทศ รวมทั้งเยาวชนไทยจากภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นั่นเอง

สังคมผู้สูงวัย จุดประกายความคิดสร้างสรรค์

เพราะสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์แบบ ทำให้ปัญหาการได้ยินยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยินเป็นเวลานาน ๆ หากไม่ได้รับการฟื้นฟู ความสามารถในการเข้าใจคำพูดจะลดลงทีละน้อย จนฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต ทีมวิจัยจึงได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม The Amazing Hearing Device ขึ้น โดยนำศาสตร์ทาง ‘วิศวกรรมชีวการแพทย์’ มาประยุกต์ใช้ร่วมกับ ‘วัสดุศาสตร์’ ในปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยที่สามารถเข้าถึง

‘เครื่องช่วยฟัง’ มีจำนวนน้อยมาก ทั้งนี้ เพราะการออกแบบเครื่องช่วยฟังยังไม่สามารถใช้ได้กับทุกคนและยังไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน เช่น คนใส่แว่นตาจะไม่สามารถใส่เครื่องช่วยฟังได้

หลักการทำงานของเครื่องช่วยฟังอัจฉริยะ

The Amazing Hearing Device เป็นเครื่องช่วยฟังที่ใช้บริเวณภายนอก โดยนำไปติดไว้บริเวณด้านหลังใบหู ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ส่วนประกอบของเครื่องช่วยฟังมหัศจรรย์ คือ ไมโครโฟน (Microphone), ตัวประมวลผล (Digital Signal Processor), เครื่องสั่นสำหรับขยายเสียงให้แก่ผู้ใช้ (Bone Conduction Vibrator)

จุดเด่น คือ ดีไซน์เหมาะกับสรีระของร่างกายมนุษย์ เพื่อให้สามารถใช้งานง่าย ประสิทธิภาพสูง มีน้ำหนักเบาและใส่สบาย รองรับการใช้ร่วมกับแว่นตาได้โดยไม่ติดขัด หรือจะเลือกใช้คู่กับที่คาดศีรษะได้ด้วย ซึ่งเหมาะกับคนที่ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวมาก ช่วยให้การฟังมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยผู้ใช้งานสามารถปรับขนาดได้ตามความเหมาะสม คาดได้ทั้งแนวนอนและแนวตั้ง หากอยู่ต่างสถานที่ ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะปรับความถี่ใหม่หรือไม่ตามความชอบ วิธีการใช้งาน สะดวกและง่ายดาย เพียงติดเครื่องช่วยฟังไว้บริเวณหลังหู โดยใช้แผ่นยึดเกาะที่ติดมากับเครื่อง ก็จะสามารถใช้งานได้ทันที

ประโยชน์ของเครื่องช่วยฟังอัจฉริยะ

1. สามารถช่วยให้ผู้สูญเสียการได้ยินรับฟังเสียงได้ดีขึ้น สามารถโต้ตอบสื่อความหมายด้วยการฟังและการพูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ปกติ

2. ผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยินและมีเสียงดังรบกวนในหู เมื่อใส่เครื่องช่วยฟังแล้ว นอกจากการฟังจะดีขึ้น เสียงรบกวนในหูจะลดลงหรือหายไปด้วย

การได้ยินถือว่าเป็นระบบการรับรู้ที่สำคัญที่สุดระบบหนึ่งของมนุษย์เรา ถ้าการได้ยินผิดปกติก็จะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในทุก ๆ ด้าน ดังนั้น จึงควรระวังไม่ให้การได้ยินเสื่อมลงไปก่อนวัยอันควร หากมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน ลองปรึกษาแพทย์เบื้องต้นดูก่อน เพราะบางสาเหตุอาจรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ ส่วนบางสาเหตุ แม้จะแก้ไขไม่ได้ แต่ก็สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินที่เหลืออยู่โดยวิธีอื่น เช่น การใช้เครื่องช่วยฟัง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง:
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. (2553, ตุลาคม, 7). ความผิดปกติของการได้ยินกับการใช้เครื่องช่วยฟัง. (2567, สิงหาคม, 21) https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=190
Workpoint Today. (2565, ตุลาคม, 20). ‘เครื่องช่วยฟังมหัศจรรย์’ เพื่อผู้ป่วยทางการได้ยิน ฝีมือ นศ. วิศวะมหิดล คว้ารางวัลนานาชาติ. (2567, สิงหาคม, 21) https://workpointtoday.com/ahds/

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว