วัย Gen ยัง Active 50+ แบบเรา ๆ คงเคยคิดอยากจัดบ้านให้เรียบโล่งสไตล์ ‘มินิมอล’ แต่บ้านดันรกเป็น ‘มินิมาร์ท’ มาเช็กกันหน่อยว่า สเกลความรกระดับไหนที่เข้าข่าย ‘โรคชอบสะสมของ’ หรือ ‘Hoarding Disorder’ พร้อมวิธีรับมือแบบอยู่หมัด
‘โรคชอบสะสมของ’ หรือ Hoarding Disorder คืออะไร
ก่อนจะไปถึงเช็กลิสต์ มาทำความรู้จักเบื้องต้นกันก่อน ‘โรคชอบสะสมของ’ หรือ ‘Hoarding Disorder’ คือคนที่มีพฤติกรรม ‘สะสมของ’ จนลืมคำนึงถึงเรื่องความสะอาด สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อยู่อาศัย โดยใครที่มีอาการดังกล่าวจะไม่สามารถตัดใจทิ้งสิ่งของที่เก็บสะสมเอาไว้ได้ โดยเชื่อว่าของเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในอนาคต จนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ทำให้บ้านหรือที่ทำงานเต็มไปด้วยสิ่งของที่ไม่จำเป็น
ถึงตอนนี้เชื่อว่า Gen ยัง Active หลายคนคงแอบสงสัยในใจว่า แล้วคนที่เป็นโรคนี้จะมีพฤติกรรมแตกต่างจากนักสะสมอย่างไร ? คำตอบคือ คนที่เป็น ‘โรคชอบสะสมของ’ จะเก็บแต่สิ่งของทั่วไปที่ไม่ได้หายากหรือมีราคา และไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
แม้หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นกับชื่อโรคเท่าไรนัก เนื่องจากเป็นโรคที่ถูกเพิ่มเข้ามาในเกณฑ์วินิจฉัยโรคทางจิตเวช (DSM 5) เมื่อ พ.ศ. 2556 และที่สำคัญโรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในวัย Gen ยัง Active 50+ แบบเรา ๆ แต่เกิดได้กับคนทุกวัย!
10 เช็กลิสต์อาการ ‘โรคชอบสะสมของ’ รู้ก่อน แก้ได้!
1. ตัดใจทิ้งสิ่งของไม่ได้ถึงแม้ว่าสิ่งของนั้นจะไม่มีประโยชน์และความจำเป็นจะต้องใช้
2. ชอบเก็บสิ่งของที่ไม่สำคัญ เช่น หนังสือพิมพ์ จดหมายเก่า หรือนิตยสารเก่า
3. มีความต้องการอยากเก็บสะสมสิ่งของ
4. รู้สึกทุกข์ทนเมื่อต้องทิ้งสิ่งของ
5. วางสิ่งของตามทางเดินในบ้านจนไม่เหลือพื้นที่ใช้สอย
6. ที่อยู่อาศัยไม่สะอาด หรือมีสิ่งสกปรกที่อาจก่อให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค
7. ยึดติดว่าของทุกชิ้นเป็นของสำคัญ
8. ไม่อยากพบปะผู้คน
9. เสพติดการซื้อของ
10. ชอบอยู่ในที่มืด
สาเหตุและผลกระทบของ ‘โรคชอบสะสมของ’
จากการศึกษาพบว่า สาเหตุ ‘โรคชอบสะสมของ’ มาจากปัจจัยทางพันธุกรรมถึง ร้อยละ 50 เพราะผู้ป่วยโรคนี้จะพบว่ามีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย อีกสาเหตุคือความผิดปกติทางสมองของผู้ป่วยบางคนที่เลือกเก็บสะสมของบางชนิด
ในส่วนของผลกระทบต่อสุขภาพนั้นส่งผลทั้งกายและใจ เพราะการเก็บหมักหมมสิ่งของเอาไว้ อาจก่อให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคได้ ต่อมาก็ยังส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุภายในบ้านได้ง่ายอีกด้วย อาจเกิดร่วมกับอาการทางจิตอื่น ๆ ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล หรือโรคกลัวการเข้าสังคม
แนวทางการรักษา ‘โรคชอบสะสมของ’
หากใครเข้าข่ายดังกล่าวอย่าเพิ่งวิตกกังวลจนเกินไป เพราะสามารถรักษาได้ด้วยยาที่จะช่วยปรับสารเคมีในสมองเกี่ยวกับวิธีคิด และสามารถรักษาได้ด้วยการบำบัด พฤติกรรมและความคิด เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้จะมีปัญหาในเรื่องของการแยกประเภท ก็ต้องปรับความคิดใหม่เพื่อทำความเข้าใจกับพวกเขาเหล่านั้น อาจเป็นการให้เหตุผลและอื่น ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ยอมตัดใจทิ้งข้าวของที่ไม่จำเป็น เริ่มจากให้ลำดับความสำคัญของสิ่งของเพื่อแยกประเภทออกจากกัน อันไหนทิ้งอันไหนควรเก็บต่อไป
‘How to ทิ้ง’ รวม 5 สิ่งที่ควรทิ้งเพื่อสุขภาพกายใจที่ดี
1. ของที่เสื่อมสภาพหรือของหมดอายุ ยังไงก็ใช้ไม่ได้
สิ่งของที่ซื้อไว้นานจนเสื่อมสภาพ รวมทั้งสิ่งของที่หมดอายุ เป็นของจำพวกแรกที่ควรทิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งครีมบำรุงและเครื่องสำอาง นอกจากนี้กล่องบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เก็บไว้ช่วงรับประกัน หากหมดอายุประกันแล้วก็แนะนำให้ทิ้งเช่นกัน
2. เสื้อผ้า เก็บไว้นานเกินปี ได้เวลาโละจากตู้
ทริคง่าย ๆ ในการคัดแยกเสื้อผ้าคือ ให้ดูว่าเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใส่นานแล้ว อย่างชุดทำงานตัวเก่ง ในเมื่อเราอยู่ในวัยสุขเสรี ก็ไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าที่ดูเป็นทางการเหล่านี้อีกต่อไป หรือเสื้อผ้าทั่วไป ยิ่งเสื้อผ้าตัวนั้นเก็บไว้นานเกินปี นั่นแหละคือตัวที่เราควรโละออกจากตู้เสื้อผ้า
3. กล่องเปล่า ถ้าไม่ใส่ของก็ทิ้งไปซะ!
ใครที่ชอบสะสมกล่องเปล่า ซึ่งคิดว่าสักวันคงได้ใช้ แต่หากกล่องเปล่านั้นเก็บมาเนิ่นนานแล้ว ยังไม่มีโอกาสได้ใช้งานสักที แนะนำว่าให้นำไปบริจาคหรือส่งต่อจะดีกว่า
4. ของที่มีคุณค่าทางใจ จะทิ้งก็เกรงใจ แต่เก็บไว้ก็ไร้ประโยชน์
เชื่อว่าวัย Gen ยัง Active 50+ ทุกคนต้องมี ‘ของที่มีคุณค่าทางใจ’ หากเป็นของเพียงชิ้นสองชิ้นก็ไม่เป็นไร แต่หากมีหลายสิบชิ้นจะกลายเป็นสิ่งของชวนให้บ้านรกไปแทน
ยิ่งของสิ่งนั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์ด้วยแล้วก็ควรคัดออกไปบ้าง แนะนำว่าควรนำมาไล่เรียงว่า ชิ้นไหนควรเก็บ และชิ้นไหนควรตัดใจทิ้ง
5. ของที่ซื้อมาและเก็บไว้นานเกิน 5 เดือน แต่ยังไม่ได้ใช้
แนะนำว่าให้ดูจากระยะเวลาที่ซื้อและเก็บไว้ หากนานเกิน 5 เดือนแล้วยังไม่ได้นำออกมาใช้ นั่นหมายความว่าของสิ่งนั้นไม่จำเป็นกับชีวิต หากเก็บต่อไปก็ไม่ได้ใช้อยู่ดี ควรตัดใจทิ้งหรือบริจาคเพื่อให้ผู้ที่ต้องการจริง ๆ ก็เป็นไอเดียที่ดี
อาจจะดูเหมือนง่ายแต่ทำยาก อย่าเพิ่งใจร้อน เร่งรัดตัวเองจนเกินไป ค่อย ๆ ให้เวลากับตัวเองเพื่อเลือกที่จะ ‘ทิ้ง’ หรือเลือกเพื่อที่จะ ‘เก็บ’ รับรองว่าผลลัพธ์คุ้มเกินคาด และที่แน่ ๆ ทำปุ๊บรู้ปั๊บ คือ สุขภาพกายและใจที่ดีจะมาพร้อมกับบ้านที่โล่ง โปร่ง สบาย เป็น ‘Home Sweet Home’ บ้านสุขใจอย่างแท้จริง
เอกสารอ้างอิง:
กรุงเทพธุรกิจ. (2565, พฤศจิกายน, 19). “ชอบเก็บของ-ไม่อยากทิ้ง” อันตรายกว่าที่คิด อาจเข้าข่าย “โรคชอบสะสมของ”. (2567,เมษายน, 29) https://www.bangkokbiznews.com/health/social/1038512
The Gen C Blog – Urban Living Solution. (2563, ธันวาคม, 10). จะทิ้งก็เสียดาย แต่เก็บไว้ก็รกบ้าน! จัดห้องรับปีใหม่ เจอ 5 สิ่งนี้ควรทิ้ง. (2567,เมษายน, 29) https://www.ananda.co.th/blog/thegenc/things-to-trash/