เชื่อว่าวัย Gen ยัง Active คงเคยมีอาการปวดข้อกันมาบ้าง แต่ถ้าถามว่ามีโรคอะไรบ้างที่ทำให้เกิดข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่มักจะนึกถึงโรคเกาต์ หรือโรครูมาตอยด์ อันที่จริงโรคข้ออักเสบมีหลายชนิด และขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเสี่ยงด้วยกัน มาทำความรู้จัก ‘โรคข้ออักเสบ’ ให้มากขึ้นไปพร้อม ๆ กัน
‘โรคข้ออักเสบ’ คือ ภาวะที่ข้อต่อมีการตอบสนองต่อสิ่งที่ทำให้ระคายเคือง จนมีอาการ และอาการแสดงโรคหลายอย่างเกิดขึ้น ตั้งแต่ปวดตามข้อ ข้อบวม แดง หากสัมผัสจะมีความรู้สึกร้อนร่วมด้วย ข้อฝืดตึง กดเจ็บที่ตำแหน่งข้อ มีน้ำในข้อ ส่งผลทำให้การเคลื่อนไหวข้อทำได้ลดลง ความรุนแรงจะแตกต่างกันไปตามโรคหรือระยะของโรค หรือสิ่งที่ทำให้ระคายเคือง โรคที่แตกต่างกันจะมีการแสดงออกของโรคบริเวณข้อต่อที่แตกต่างกัน เช่น ตำแหน่งของข้อที่อักเสบ จำนวนข้อที่อักเสบ ความรุนแรงของการอักเสบ และการดำเนินโรคที่แตกต่างกัน โดยสิ่งที่ทำให้ระคายเคืองอาจจะเป็นเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในช่องข้อ เช่น ผลึกเกลือยูเรต หรือผลึกเกลือแคลเซียมชนิดต่างๆ หรือข้อได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ การเล่นกีฬา หรือจากการใช้งานข้อที่ไม่เหมาะสม หรือ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น¹
วิธีเช็กว่าข้อต่ออักเสบหรือเปล่า²
ในกรณีที่มีอาการปวดข้อขึ้นมา คงต้องดูก่อนว่ามีข้ออักเสบหรือไม่ โดยอาจแบ่งเป็น 3 ลักษณะดังนี้
ลักษณะที่ 1 ข้อไม่อักเสบ มีแค่อาการปวดข้อ ปวดไม่มาก ไม่มีข้อบวมแดงร้อน ไม่มีน้ำในข้อ ข้อไม่ฝืดตึง ขยับข้อได้ปกติ จะอยู่ในกลุ่มข้อปกติ ไม่มีอักเสบ
ลักษณะที่ 2 ก้ำกึ่งข้ออักเสบ เริ่มมีปวดข้อมากขึ้น ข้อเริ่มบวมบ้าง ไม่แดง อาจมีความรู้สึกอุ่นเล็กน้อยหรือไม่มาก มีน้ำในข้อได้แต่ไม่มาก ข้อฝืดตึงเล็กน้อย ขยับข้อได้ปกติหรือลดลง พบได้ในโรคข้อเสื่อม หรือข้อได้รับบาดเจ็บสัมพันธ์กับการใช้งานหรืออุบัติเหตุ กลุ่มนี้อยู่ตรงกลางระหว่างข้อไม่อักเสบกับข้ออักเสบชัดเจน โดยหากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม จะมีอาการของโรคเพิ่มขึ้น จากเป็นๆ หายๆ สัมพันธ์กับการใช้งาน ปวดแต่ละครั้งจะนานขึ้น ความรุนแรงของโรคก็จะค่อย ๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเป็นระยะรุนแรงหรือระยะท้ายของโรคจะเคลื่อนไหวขยับข้อต่อได้ลำบาก ข้อมีการผิดรูป ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
ลักษณะที่ 3 ข้ออักเสบชัดเจน มีอาการเจ็บปวดที่ข้ออย่างมาก ข้อบวมชัดเจนคือบวมตรงกลางข้อมากที่สุดและค่อยๆ บวมน้อยลง เลยจากตำแหน่งข้อไปแล้วจะไม่เห็นบวม ลักษณะคล้ายกระสวยทอผ้า เมื่อสัมผัสข้อจะร้อนชัดเจน มีผิวหนังบริเวณข้อแดงร่วมด้วยได้ กดเจ็บปานกลางถึงมาก มีน้ำในข้อปานกลางถึงมาก ข้อฝืดตึงมากเมื่อไม่ได้ขยับข้อนานๆ เช่น ตื่นนอนตอนเช้า มีข้อฝืดตึงเกินกว่า 1 ชั่วโมง² ข้อที่อักเสบทำให้ขยับข้อได้ลดลงหรือขยับไม่ไหวส่งผลต่อการเคลื่อนไหว หรือทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้แก่ โรคเกาต์ (เกิดจากผลึกเกลือยูเรต) โรคเกาต์เทียม (เกิดจากผลึกเกลือแคลเซียมไพโรฟอสเฟตไดไฮเดรท) โรคข้ออักเสบติดเชื้อ และโรคแพ้ภูมิตนเอง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบข้อสันหลังยึดติด โรคพุ่มพวง¹
วัยสูงอายุเป็นช่วงวัยที่อาจไม่ค่อยขยับร่างกายเท่าวัยอื่น ๆ เมื่อเคลื่อนไหวร่างกายหรือเดินได้ลดลง ญาติหรือผู้ดูแลอาจจะคิดว่าเป็นปกติตามวัย โดยอาจไม่ได้สังเกตความผิดปกติที่ข้อ หรือเมื่อมีอาการปวดข้อหรือข้ออักเสบก็อาจเข้าใจเองว่าเป็นโรคข้อเสื่อมตามวัย ให้การดูแลรักษาอาการดังกล่าวเอง ไม่ได้พบแพทย์แต่เนิ่นๆ หรือผู้สูงอายุบางรายไม่สามารถบอกอาการผิดปกติของตนเองเพราะมีภาวะสมองเสื่อม หรือเกรงใจญาติหรือผู้ดูแลต้องลำบากในการพาไปตรวจ ทำให้การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบทำได้ล่าช้า มีการดำเนินโรคที่เป็นมากแล้ว หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น ดังนั้นต้องอาศัยญาติหรือผู้ดูแลคอยหมั่นสังเกตผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยขยับแขนขาข้างที่มีอาการอักเสบ หรือขยับได้อย่างจำกัด ไม่คล่องแคล่วเหมือนแต่เดิม แล้วรีบปรึกษาแพทย์
ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุหรือสัมพันธ์กับการเกิดโรคข้ออักเสบ³
ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุหรือสัมพันธ์กับการเกิดโรคข้ออักเสบนั้น แต่ละโรคมีปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกัน โดยรวมแล้วปัจจัยเสี่ยงมีหลายประการ ได้แก่ อายุ เพศ พันธุกรรม เชื้อชาติ โรคประจำตัว พฤติกรรมหรือวิถีการดำเนินชีวิต กิจกรรมทางกาย อุบัติเหตุที่ข้อต่อหรือกระดูกบริเวณข้างเคียง ภาวะโภชนาการ การดูแลสุขภาพของตนเอง การดูแลรักษา การใช้ยา ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมภายนอก ได้แก่ การได้รับเชื้อโรค ฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศ เป็นต้น

จะรู้ได้อย่างไรว่าเสี่ยงโรคข้ออักเสบ?³
เนื่องจากสาเหตุของโรคข้ออักเสบนั้นมีหลายประการ ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายอย่างที่สามารถแก้ไขหรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้นการเรียนรู้ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญเป็นสิ่งที่ควรทำและนำไปปฏิบัติให้เกิดผลในการป้องกันโรค ได้แก่
- อายุที่มากขึ้น มีความเสี่ยงเป็นโรคข้อเสื่อม โรคเกาต์ โรคเกาต์เทียม มากขึ้น - เพศหญิงมีความเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ มากกว่าเพศชาย ส่วนเพศชายมีความเสี่ยงเป็นโรคเกาต์มากกว่าเพศหญิง - หากมีญาติสายตรงที่มีประวัติเป็นโรคข้อมาก่อน เช่น พ่อแม่ พี่น้อง อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคข้อชนิดนั้นได้มากขึ้น เช่น โรคข้อเสื่อม โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ - ผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมาก มีความเสี่ยงต่อโรคข้อเข่าเสื่อม โรคข้อสะโพกเสื่อม - ผู้ที่ข้อได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรืออุบัติเหตุ ทำให้เสี่ยงต่อโรคข้อเสื่อม โรคเกาต์เทียมในวัยสูงอายุ - ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง หรือทานอาหารที่มีสารพิวรีนมาก เช่น เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล น้ำตาลจากผลไม้ฟรุกโตส เช่น น้ำผลไม้ ผลไม้หวานๆ น้ำผึ้ง ทำให้กรดยูริกในเลือดสูง เสี่ยงต่อโรคเกาต์ได้ - ผู้ที่สูบบุหรี่ ทำงานที่มีโอกาสรับฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศ อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ - ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต หรือมีภูมิต้านทานร่างกายไม่ดี ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เสี่ยงต่อโรคข้ออักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย

ชนิดของโรคข้อต่ออักเสบรุนแรงที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
ชนิดที่ 1 โรคเกาต์ เป็นโรคข้ออักเสบที่เกิดจากผลึกเกลือยูเรตสะสมที่ข้อ โดยเกิดจากกรดยูริกในเลือดสูงต่อเนื่อง จะมีอาการปวดข้อรุนแรงทุกข์ทรมานมาก ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวใช้ข้อได้ อาการอักเสบจะเกิดเฉียบพลันและรุนแรงสูงสุดภายใน 24 ชั่วโมงแรก มักเป็นที่ข้อเท้าหรือข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า อาการจะค่อยๆดีขึ้น และหายเป็นปกติภายใน 2 สัปดาห์ จะมีการกำเริบเป็นระยะ เมื่อเป็นครั้งหลัง ๆ จะเริ่มอักเสบหลายข้อมากขึ้น และมีอักเสบเรื้อรัง ระยะนี้อาจจะเกิดตุ่มก้อนให้เห็นตามข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า ข้อศอก หรือใบหูก็ได้ และมีการทำงานของไตผิดปกติจากผลึกเกลือยูเรตตกตะกอน การรักษาจะมีการให้ยาลดการอักเสบและให้ยาป้องกันกำเริบซ้ำ ที่สำคัญคือจะมียาควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อเนื่องเพื่อละลายผลึกเกลือยูเรตที่สะสมที่ข้อหรือไต ทำให้หายจากโรคแต่ต้องทานยาสม่ำเสมอ การหยุดยาจะทำให้กลับมาเป็นใหม่ได้ ร่วมกับการหาสาเหตุของกรดยูริกในเลือดสูงและให้การแก้ไข⁴
สิ่งที่ต้องระวังคือผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะพบกรดยูริกในเลือดสูงได้บ่อย หากมีข้ออักเสบเกิดขึ้น อย่าเพิ่งสรุปว่าเป็นโรคเกาต์ จำเป็นต้องให้แพทย์ตรวจประเมินว่าข้ออักเสบเกิดจากโรคใด เพราะในวัยสูงอายุมีโอกาสเป็นโรคข้อได้หลายโรค
ชนิดที่ 2 โรคเกาต์เทียม โรคเกาต์เทียมหรือโรคซีพีพีดี เป็นโรคข้ออักเสบที่เกิดจากผลึกเกลือแคลเซียมชนิดหนึ่ง ชื่อว่าแคลเซียมไพโรฟอสเฟตไดไฮเดรท (Calcium Pyrophosphate Dihydrate หรือ CPPD) ผลึกเกลือชนิดนี้มีโอกาสเกาะตามกระดูกอ่อนผิวข้อมากขึ้นในวัยสูงอายุ โดยอาจจะไม่มีอาการ หรือก่อให้เกิดข้ออักเสบโดยอาจเป็นเฉียบพลัน ที่มีข้ออักเสบเป็นพัก ๆ หรืออักเสบเรื้อรังก็ได้ สำหรับข้ออักเสบเฉียบพลันจะมีลักษณะคล้ายโรคเกาต์จึงเรียกว่าโรคเกาต์เทียม ตำแหน่งข้ออักเสบเฉียบพลันที่พบบ่อยคือ ข้อเข่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคคือ อายุที่มากขึ้น ผู้ที่เป็นโรคข้อเสื่อม หรือข้อนั้นได้รับบาดเจ็บมาก่อน การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาตามอาการเพื่อประคับประคอง ยังไม่มียาจำเพาะที่ละลายผลึกเกลือในกระดูกอ่อนผิวข้อได้ ร่วมกับการหาสาเหตุที่สัมพันธ์กับการเกิดโรค เช่น ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ โรคฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ แล้วให้การแก้ไข⁵
ชนิดที่ 3 โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง พบได้ค่อนข้างบ่อยในผู้สูงอายุ สัมพันธ์กับภูมิตนเองที่ทำงานมากผิดปกติหรือแพ้ภูมิตนเอง ทำให้เกิดการทำลายข้อโดยมีการดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยจะมีข้ออักเสบพร้อมกันหลาย ๆ ข้อ ทั้งข้อเล็กข้อใหญ่ เป็นแบบสมมาตรทั้งสองข้างของร่างกาย มีข้อฝืดตึงโดยเฉพาะตอนเช้ามากกว่า 1 ชั่วโมง เมื่อข้ออักเสบเป็นเวลานานไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ข้อจะถูกทำลาย เกิดข้อผิดรูปตามมา ทำให้มีปัญหาในการใช้งานข้อต่อในระยะยาว การรักษาจะมีการให้ยาเพื่อลดการอักเสบของข้อ ร่วมกับให้ยาที่ออกฤทธิ์ปรับเปลี่ยนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันซึ่งเป็นยาหลักในการรักษาโรคเพื่อให้โรคสงบและลดการทำลายข้อ โดยต้องใช้เวลาที่จะเห็นผลการรักษา นอกจากนั้นจะมีการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดข้อ ข้อฝืดตึง และไม่ให้ข้อติดข้อผิดรูป ให้ใช้งานข้อได้เป็นปกติมากที่สุด⁶
ชนิดที่ 4 โรคข้ออักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคข้ออักเสบที่พบไม่บ่อยแต่มีความรุนแรงเพราะทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิตได้ เชื้อโรคที่อยู่ในข้อมาจากหลายทาง ได้แก่ การติดเชื้อในกระแสเลือด การฉีดยาหรือแทงเข็มเข้าข้อ การทำหัตถการในข้อ ได้รับบาดเจ็บมีแผลฉีกขาดทะลุเข้าข้อ จากการติดเชื้อบริเวณข้างเคียงข้อ หรือหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อ โดยมีอาการไข้ ปวดบวมแดงร้อนที่ข้อ กดเจ็บที่ข้อ มีน้ำในข้อ ข้ออักเสบค่อยๆ มากขึ้นจนถึงจุดที่อักเสบรุนแรง อาจใช้เวลา 2-3 วันขึ้นไปถึงสัปดาห์ มักเป็นข้อเดียว ข้อที่พบบ่อยที่สุดคือ ข้อเข่า รองลงมาคือ ข้อสะโพก ข้อไหล่ ข้อเท้า และข้อมือ บางรายเป็นหลายข้อ ทำให้เคลื่อนไหวขยับข้อได้ลดลง พบว่าการติดเชื้ออาจเริ่มจากตำแหน่งอื่นของร่างกายก่อน เช่น ผิวหนัง หรือระบบทางเดินปัสสาวะ แล้วเชื้อกระจายเข้าสู่กระแสเลือดก่อนที่จะเข้าสู่ข้อ โรคนี้พบมากขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต หรือมีภูมิต้านทานร่างกายไม่ดี ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน มีประวัติเป็นโรคข้อมาก่อน การรักษา คือการให้ยาปฏิชีวนะที่จำเพาะกับเชื้อโรค ร่วมกับการระบายน้ำไขข้อที่ติดเชื้อออกให้มากที่สุด พร้อมกับหาสาเหตุที่ทำให้เกิดข้ออักเสบติดเชื้อและทำการแก้ไข⁷
การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบ
การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบต้องอาศัยหลาย ๆ อย่างประกอบกัน ตั้งแต่การซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด ตรวจดูว่ามีปัญหาข้ออักเสบจริงหรือไม่ ถ้ามีจริงเป็นที่ข้อตำแหน่งใดบ้าง เป็นข้อเดียว หลายข้อ ระดับของความรุนแรง และการดำเนินโรคเป็นอย่างไร แล้วทำการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ การตรวจน้ำไขข้อ การตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ และการถ่ายภาพรังสี เป็นต้น จากนั้นจึงให้การวินิจฉัยโรค หาสาเหตุ และให้การรักษาในขั้นตอนต่อไป¹
การรักษาโรคข้ออักเสบ
หากเป็นโรคข้ออักเสบระยะเริ่มแรก การดูแลรักษาอย่างเหมาะสม มีโอกาสหายจากโรคได้ แต่ถ้าปล่อยให้การดำเนินโรคเป็นมากขึ้น มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ข้อ ข้อถูกทำลาย ข้อผิดรูป มีปัญหาในการใช้งานข้อต่อ หรือโรคข้ออักเสบนั้นมีความผิดปกติของระบบอื่นร่วมด้วย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายผู้สูงอายุ เกิดเจ็บป่วยมากขึ้น เกิดทุพพลภาพ หรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติที่ข้อควรรีบปรึกษาแพทย์อย่าทิ้งไว้โดยคิดว่าหายเองได้¹
แนวทางการป้องกันโรคข้ออักเสบ
หากไม่รวมถึงปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น อายุที่มากขึ้น เพศ พันธุกรรม เชื้อชาติ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เราสามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคข้ออักเสบ ได้แก่

- ออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานที่ดี ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ใช้ข้อต่ออย่างหนัก เช่น การกระโดด การใช้แรงกระแทกที่ข้อ การขยับร่างกายที่รวดเร็วเกินไป หรือกีฬาที่เน้นการแข่งขัน เพราะนอกจากข้อได้รับบาดเจ็บแล้ว ยังเสี่ยงพลัดตกหกล้มด้วย แนะนำการออกกำลังกายอย่างการเดิน หรือว่ายน้ำเพราะน้ำสามารถช่วยพยุงข้อต่อได้ หรือบริหารเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น บริหารกล้ามเนื้อต้นขา ช่วยในการพยุงข้อต่อได้ดีขึ้นด้วย

- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีการวิจัยพบว่ามีน้ำหนักตัวยิ่งมาก ยิ่งมีความเสี่ยงต่อโรคข้อเข่าเสื่อม และอาจเสี่ยงต่อโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มากขึ้นด้วย

- ปรับไลฟ์สไตล์ ทานอาหารที่มีประโยชน์โดยทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม การขาดสารอาหารบางอย่างอาจส่งผลต่อในเรื่องข้อต่อได้ เช่นเดียวกับการได้รับสารอาหารบางอย่างมากเกินไปอาจเสี่ยงต่อโรคข้ออักเสบบางโรคได้ เช่น ทานอาหารที่มีสารพิวรีนมาก ได้แก่ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล น้ำตาลจากผลไม้ฟรุกโตส เช่น น้ำผลไม้ ผลไม้หวานๆ น้ำผึ้ง ทำให้กรดยูริกในเลือดสูง เสี่ยงต่อโรคเกาต์ได้

- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมหรือเหตุที่ส่งผลทำให้ข้อต่อได้รับบาดเจ็บตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ ได้แก่ บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา กิจกรรมทางกาย อาชีพที่ใช้ข้ออย่างหนัก อุบัติเหตุที่ข้อต่อ หรือการตรวจรักษาที่ทำให้ข้อได้รับบาดเจ็บ เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคข้อเสื่อม โรคเกาต์เทียมในวัยสูงอายุ

- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมถึงการสัมผัสควันบุหรี่เพราะพบว่าสัมพันธ์กับการเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเกาต์หากดื่มปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง ทำให้สุขภาพไม่แข็งแรง เกิดโรคตับเสี่ยงต่อโรคข้ออักเสบติดเชื้อได้

- หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีหรือตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ

- หากมีความผิดปกติของข้อ ปวดข้อ ข้อบวมแดงร้อน เคลื่อนไหวข้อต่อได้ลดลง แนะนำให้พบแพทย์

- ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวควรดูแลโรคประจำตัวให้ดี ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคข้ออักเสบบางโรคได้
แม้ว่าข้ออักเสบดูจะเป็นอาการเฉพาะจุด แต่อาจเกิดจากโรคที่มีความผิดปกติของร่างกายระบบอื่นๆ ร่วมด้วย หากไม่ตรวจรักษามีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาไม่ใช่เฉพาะที่ข้อ แต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมได้ โรคข้อแต่ละโรคมีสาเหตุแตกต่างกัน การดูแลสุขภาพให้ดี โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมีความสำคัญที่จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ ถ้าไม่ดูแลป้องกันหรือรีบตรวจรักษา ปล่อยทิ้งไว้จนโรคมีความรุนแรงเกิดภาวะแทรกซ้อน จะทำให้เจ็บป่วยพิการ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นหากมีอาการที่สงสัยข้ออักเสบ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวด บวม แดง ร้อน ข้อฝืดตึง ขยับข้อได้ลดลง ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและตรวจสอบในกรณีที่มีความผิดปกติต่อไป
เรียบเรียงโดย : อ. นพ.สมบูรณ์ อินทลาภาพร อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เอกสารอ้างอิง:
1. Senthelal, S., Li, J., Ardeshirzadeh, S., & Thomas, M. A. (2025). Arthritis. In StatPearls. StatPearls Publishing.
2. The stages of arthritis. (2018, September 21). Movement Orthopedic. https://movementortho.com/2018/09/21/thestages-of-arthritis/
3. CDC. (2024, June 7). Arthritis risk factors. Arthritis. https://www.cdc.gov/arthritis/risk-factors/index.html
4. Fenando, A., Rednam, M., Gujarathi, R., & Widrich, J. (2025). Gout. In StatPearls. StatPearls Publishing.
5. Zamora, E. A., & Naik, R. (2025). Calcium pyrophosphate deposition disease. In StatPearls. StatPearls Publishing.
6. Chauhan, K., Jandu, J. S., Brent, L. H., & Al-Dhahir, M. A. (2025). Rheumatoid arthritis. In StatPearls. StatPearls Publishing.
7. Momodu, I. I., & Savaliya, V. (2025). Septic arthritis. In StatPearls. StatPearls Publishing.
NP-TH-NA-WCNT-240036 | กุมภาพันธ์ 2025