line
เมนู
รู้แล้วยัง

RSV ไวรัสตัวร้าย ภัยเงียบที่ผู้สูงวัยก็เป็นได้

รู้จักเชื้อ RSV พร้อมวิธีการป้องกันให้ Gen ยัง Active ห่างไกลโรค
แชร์บทความนี้
line
line
line

เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ไม่ได้มีเพียงแค่อากาศเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ฤดูฝนที่มีความชื้นในอากาศสูง มักมาพร้อมกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ และหนึ่งในเชื้อโรคที่มาพร้อมกับฤดูฝนคือ เชื้อไวรัส RSV ที่มักแพร่ระบาดในเด็กเล็ก แต่รู้หรือเปล่าว่า ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุก็สามารถติดเชื้อไวรัส RSV ได้เช่นกัน¹

เพื่อป้องกันและรู้เท่าทัน ชวน Gen ยัง Active มาทำความรู้จักเชื้อไวรัส RSV การรักษา ไปจนถึงการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตัวร้าย

รู้จักไวรัส RSV

RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบการหายใจ โดยทำให้เกิดอาการที่รุนแรงได้เมื่อเกิดกับเด็กเล็ก หรือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเชื้อนี้สามารถติดต่อผ่านทางละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย²

ผู้ใหญ่ก็เสี่ยงติดเชื้อ RSV³

เรามักจะได้ยินข่าวเด็กเล็กป่วยเป็นโรค RSV กันบ่อยครั้ง แต่ในผู้ใหญ่ก็สามารถติดเชื้อ RSV ได้เช่นเดียวกัน โดยการติดเชื้อ RSV ในเด็ก มักมีอาการเหมือนไข้หวัดทั่วไป คือ มีอาการไอ มีน้ำมูก เสมหะ แต่ปัญหาจะเกิดในเด็กเล็ก เนื่องจากว่าในเด็กเล็กนั้น กลไกในการไอเอาเสมหะออกมายังไม่ดี จึงอาจทำให้เสมหะอุดตันและค้างในหลอดลม ทำให้เด็กหายใจลำบาก และอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้

ส่วนในผู้ใหญ่และวัยผู้สูงอายุมีอาการคล้ายกับเด็ก แต่มักจะมี 2 อาการเด่น ๆ ได้แก่

1. อาการไอ มีเสมหะ
2. หลอดลมตีบ ทำให้เวลาหายใจต้องใช้แรงเยอะ หายใจมีเสียงวี๊ดคล้ายกับคนเป็นโรคหืดหรือคนเป็นโรคถุงลมป่องพองกำเริบ

ใครเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด?

ที่จริงแล้ว ผู้ใหญ่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ RSV ด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าคนทั่วไปที่แข็งแรงดี เวลาติดเชื้อ RSV มักจะหายได้ง่ายเหมือนเป็นเพียงหวัดธรรมดา แต่หากอายุมากขึ้น หรืออายุเกิน 60 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคปอดและโรคหัวใจเรื้อรัง เมื่อติดเชื้อ RSV จะมีอาการรุนแรงกว่าคนปกติ¹ เนื่องจากเวลามีเชื้อเข้าไปในปอดหรือหลอดลม จะทำให้โรคปอดหรือโรคหัวใจกำเริบ ทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยที่อาจรุนแรงจนต้องใช้ออกซิเจนไฮโฟลว์ หรือที่หนักสุดคือการต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ³ ที่จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ

ช่วงใดที่ RSV มักมีการระบาด ? ให้ชาว Gen ยัง Active จำง่าย ๆ คือไวรัส RSV มักจะมาพร้อมกับไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 ซึ่งในฤดูกาลของประเทศไทยที่อยู่ในเขตเหนือเส้นศูนย์สูตรขึ้นไป ช่วงเวลาที่จะมีการระบาดของไวรัส 3 เกลอ อย่างโควิด ไข้หวัดใหญ่ และ RSV แบ่งออกเป็น 2 ช่วง³

- ช่วงแรก เป็นช่วงเริ่มเข้าสู่หน้าฝน นับตั้งแต่ เดือนเมษายนไปจนถึงกรกฎาคม
- ช่วงที่สอง คือเดือนตุลาคมถึงมกราคม เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว

ผลกระทบจาก RSV

จากสถิติผู้ป่วย RSV ในโรงพยาบาลศิริราชในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา พบว่าประมาณ 30-50 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนต้องได้รับออกซิเจน และบางรายต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ การรักษาจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยาก อีกทั้งยาที่ใช้ยังมีจำกัด และถึงแม้จะได้รับยาแล้วก็ยังไม่สามารถมั่นใจได้ในผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงยังมีความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่สูง³ นอกจากนี้ อาการของโรค RSV ยังคล้ายกับไข้หวัดใหญ่หรือโควิด-19 ซึ่งทำให้ผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องแยกตัวไปรักษา ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในด้านทรัพยากรที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วย

ดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกล RSV

การป้องกันเชื้อไวรัส RSV สามารถทำได้ในแบบเดียวกันกับป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ นั่นคือการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัด การหมั่นล้างมืออยู่เสมอ ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ที่มีอาการป่วยโดยเฉพาะเมื่อเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ใช้แก้วน้ำหรืออุปกรณ์ร่วมกัน และใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น²

หากสังเกตตัวเองว่ามีอาการคล้ายไข้หวัด ซึ่งยังไม่รู้แน่ชัดว่าเป็น RSV ไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด-19 หรือไม่ ถ้ามีอาการไม่สู้ดี มีไข้สูง หอบ ต้องรีบปรึกษาแพทย์ เพราะปัจจุบันมีการตรวจที่สามารถวินิจฉัยได้ไปพร้อมกันได้ทั้ง 3 ชนิด ถ้าพบว่าเป็นการติดเชื้อตัวไหน แพทย์ก็จะดูแลรักษาไปในทิศทางนั้น

เรียบเรียงโดย : รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล
หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

เอกสารอ้างอิง:
1. CDC. RSV in Adults. https://www.cdc.gov/rsv/older-adults/index.html (accessed 10 August 2024).
2. CDC. How RSV spreads. Respiratory Syncytial Virus Infection (RSV). https://www.cdc.gov/rsv/causes/index.html (accessed 29 August 2024).
3. Kaler J, et al, Cureus 2023;15:e36342

NP-TH-RS-WCNT-240002

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว