อากาศเย็นสบายช่วงปลายปีเช่นนี้ จะมีอะไรดีไปกว่าการออกทริป! เพราะสำหรับวัย Gen ยัง Active นั้น การได้ออกนอก Comfort Zone บางครั้งบางคราวอย่างการเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ ๆ คือยาชุบชูจิตใจชั้นดี ช่วยให้ร่างกายและจิตใจสดใสสุดพลัง
ยิ่งเดิน ยิ่งแอคทีฟ
จากงานวิจัยพบว่าผู้สูงอายุที่เดิน 6,000 ก้าวต่อวัน ช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ หากมีการเดินเพิ่มมากขึ้นเป็นวันละ 7,000 – 10,000 ก้าว จะช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อ และเพิ่มสมรรถภาพทางกายให้ดีขึ้น ช่วยให้มีการเคลื่อนไหวที่ดี ป้องกันการหกล้ม ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง ช่วยเหลือตนเองได้ และเป็นวัย Gen ยัง Active ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
How to เที่ยวอย่างไรให้ปลอดภัย ลูกหลานหายห่วง
1. วางแผนล่วงหน้า: วางแผนการเดินทางล่วงหน้า เพื่อเตรียมตัวด้านสุขภาพ พร้อมศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่จะไป เช่น สภาพอากาศ อาหารการกิน ภาษาท้องถิ่น และเตรียมเครื่องแต่งกายให้เหมาะสม 2. ฟิตร่างกายให้พร้อม: เช็กสภาพความพร้อมของร่างกายของตนเองก่อน ว่าสามารถออกไปท่องเที่ยวได้หรือไม่ หากต้องเดินเท้าระยะทางไกล จำเป็นต้องนั่งรถเข็นหรือใช้ไม้เท้าหรือไม่ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว บางโรคก็ยังสามารถท่องเที่ยวได้ แต่ต้องไม่ได้อยู่ในภาวะอาการรุนแรง หรืออยู่ในภาวะที่จะต้องพักฟื้นร่างกาย ดังนั้นจึงควรเช็กสภาพร่างกายตนเองให้พร้อม หรือต้องมีอุปกรณ์ช่วยเหลือในการเดินทางไปด้วย 3. เตรียมยาและของใช้จำเป็น: เตรียมยารักษาโรคประจำตัว ยาแก้ปวด ยาลดไข้ และอุปกรณ์ปฐมพยาบาลให้เพียงพอ รวมถึงประวัติทางการแพทย์ และใบสั่งยาของแพทย์ประจำตัว โดยนำใส่ในกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่องบินหรือนำติดตัวไว้ตลอด 4. คอสตูมต้องพร้อม: ควรจัดเตรียมเสื้อผ้าที่เหมาะสม กับสภาพอากาศของสถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังจะไป รวมถึงอุปกรณ์เครื่องแต่งกายอื่นๆ เช่น รองเท้ากันลื่น ผ้าพันคอ หมวก และต้องเตรียมผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่ไปสวมใส่ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว เพราะห้องน้ำอาจจะหาได้ยาก ไม่สะดวกต่อการใช้งาน หรือใช้ระยะเวลาการเดินทางนาน จนไม่อาจจะเข้าห้องน้ำได้สะดวก 5. เตรียมโทรศัพท์และเบอร์โทรฉุกเฉิน: โทรศัพท์มือถือคือสิ่งจำเป็นที่ผู้สูงอายุควรพกพาติดตัวขณะท่องเที่ยว รวมทั้งควรพกแบตเตอรี่สำรอง และบันทึกเบอร์โทรศัพท์ของบุคคลที่สามารถติดต่อได้ เพื่อสำรองไว้ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน และควรมีเบอร์โทรศัพท์ของโรงพยาบาล สถานีตำรวจ หรือหน่วยงานที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานที่ที่จะไป เพื่อใช้ติดต่อยามมีเหตุฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้สูงอายุและลูกหลานรู้สึกอุ่นใจ 6. เตรียมประกันการเดินทาง: ตรวจสอบประกันการเดินทางว่าครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่ต่างประเทศและค่าใช้จ่ายในการส่งตัวกลับประเทศหรือไม่ เพื่อให้สามารถเคลมค่าใช้จ่ายได้จริง เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น
วิธีดูแลตนเองระหว่างเดินทาง
1. ดื่มน้ำให้เพียงพอ: โดยเฉพาะเมื่อเดินทางในสภาพอากาศร้อนหรือแห้ง หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2. รับประทานอาหารที่สะอาดและปลอดภัย: หลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน อาหารที่ทำทิ้งไว้นาน หรืออาหารสุก ๆ ดิบ ๆ 3. สวมเสื้อผ้าให้เหมาะสม: เลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ 4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์: ป้องกันตนเองจากยุงและแมลงต่าง ๆ ทั้งในร่มและกลางแจ้ง 5. พักผ่อนให้เพียงพอ: ไม่ฝืนร่างกาย หากรู้สึกไม่สบายควรหยุดพักและอาจปรึกษาแพทย์ถ้าอาการไม่ดีขึ้น
แม้ว่าวัย Gen ยัง Active จะมีความเสี่ยงทางสุขภาพในหลากหลายด้านสูงขึ้น แต่ก็สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัยหากมีการวางแผนและเตรียมตัวเป็นอย่างดี อายุจึงไม่เป็นอุปสรรคในการสัมผัสความสุขจากการเดินทางท่องเที่ยวอย่างแน่นอน
เอกสารอ้างอิง: อนามัยมีเดีย กรมอนามัย. (2566, มกราคม, 13). กรมอนามัย เผยผลงานวิจัยชี้ผู้สูงอายุเดิน 6,000 ก้าวต่อวัน ป้องกันโรคหัวใจ (2567, ตุลาคม, 15) https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/130425662/#:~:text=%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A2%20%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%A2%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3,%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%82%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%87 ไทยรัฐออนไลน์ (2566, สิงหาคม, 31). การท่องเที่ยวสูงวัย เที่ยวอย่างไรให้ปลอดภัย ลูกหลานหายห่วง (2567, ตุลาคม, 15) https://www.thairath.co.th/lifestyle/lifestyle45plus/2721576