โพรไบโอติกส์ (Probiotics) คืออะไร
โพรไบโอติกส์ เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ได้แก่ แบคทีเรียบางชนิด และยีสต์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของการทำงานของลำไส้ และสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย แบคทีเรียที่เป็นประโยชน์เหล่านี้สามารถพบได้ตามธรรมชาติในลำไส้ของมนุษย์ และยังมีอยู่ในอาหาร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิด
โพรไบโอติกส์ ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยช่วยสร้างสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ และส่งเสริมสุขภาวะของมนุษย์ ตัวอย่างของจุลินทรีย์ที่นำมาใช้ประโยชน์ ได้แก่
- แบคทีเรียสายพันธุ์ Lactobacillus ได้แก่ Lactobacillus casei, Lactobacillus rhamnosus, Lactobacillus bulgaricus, Lactobacillus reuteri และ Lactobacillus acidophilus
- แบคทีเรียสายพันธุ์ Bifidobacterium ได้แก่ Bifidobacterium bifidum
- ยีสต์ที่ไม่ก่อโรค ได้แก่ Saccharomyces boulardii
โพรไบโอติกส์ (Probiotics) พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) และซินไบโอติกส์ (Synbiotics) แตกต่างกันอย่างไร
พรีไบโอติกส์ เป็นอาหารที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของ โพรไบโอติกส์ ได้แก่ ใยอาหารจากพืชผักชนิดต่าง ๆ เช่น หัวหอม ถั่วเหลือง และสารอาหารอื่น ๆ ได้แก่ น้ำตาลในนม
ซินไบโอติกส์ เป็นส่วนผสมของ โพรไบโอติกส์ และพรีไบโอติกส์ ตัวอย่างของซินไบโอติกส์ ได้แก่ นมเปรี้ยว โยเกิร์ต
โพรไบโอติกส์มีประโยชน์กับผู้สูงอายุอย่างไร
ผู้สูงอายุอาจมีปัญหาทางสุขภาพต่าง ๆ ได้แก่ ความผิดปกติของการขับถ่าย ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลงกว่าวัยหนุ่มสาว และเป็นโรคไม่ติดต่อต่าง ๆ
โพรไบโอติกส์ให้ประโยชน์ผ่านกลไกต่าง ๆ ช่วยรักษาสภาวะสมดุลของลำไส้โดยการแข่งขันและจำกัดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นอันตราย ดังนั้นจึงช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ นอกจากนี้โพรไบโอติกส์อาจผลิตสารต้านจุลชีพ เสริมสร้างการทำงานของผนังกั้นทางเดินอาหาร ปรับการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน และช่วยในการสลายส่วนประกอบของอาหารบางชนิด
โดยประโยชน์ต่าง ๆ ที่มีหลักฐานจากการวิจัยทางการแพทย์มีดังนี้
ผลต่อระบบทางเดินอาหาร
ช่วยฟื้นฟูสมดุลตามธรรมชาติของจุลินทรีย์ในลำไส้ ช่วยในการย่อยอาหารและการดูดซึมสารอาหาร นอกจากนี้โพรไบโอติกส์ อาจบรรเทาอาการผิดปกติ ของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด มีแก๊ส และท้องผูก ซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ นอกจากนี้การวิจัยแสดงให้เห็นว่า โพรไบโอติกส์ สามารถช่วยรักษาสุขภาพของผนังกั้นลำไส้ ป้องกันแบคทีเรียที่เป็นอันตรายไม่ให้ซึมผ่านเยื่อบุลำไส้และทำให้เกิดการอักเสบ
ผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน
รักษาสมดุลของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในลำไส้ การวิจัยพบว่า โพรไบโอติกส์ ช่วยเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกัน โดยกระตุ้นการผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกัน และส่งเสริมการตอบสนองของภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง การบริโภค โพรไบโอติกส์ เป็นประจำช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงของการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร
ผลต่อกระดูก
โพรไบโอติกส์ บางสายพันธุ์อาจมีบทบาทในการชะลอการสูญเสียความหนาแน่นของมวลกระดูก ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับการรักษาความแข็งแรงของกระดูกและป้องกันโรคกระดูกพรุน ลดการอักเสบ
ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
โพรไบโอติกส์ บางสายพันธุ์ เช่น Lactobacillus acidophilus และ Bifidobacterium longum ช่วยลดความดันโลหิตและปรับปรุงระดับไขมัน เช่น LDL มีการวิจัยพบว่า โพรไบโอติกส์ ลดการอักเสบดังแสดงด้วยการลดค่า h-CRP อย่างไรก็ตาม ยังไม่แนะนำให้ใช้ โพรไบโอติกส์ ทดแทนยาแผนปัจจุบันในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด
ผลต่อสุขภาพจิต
จุลินทรีย์ในลำไส้มีบทบาทสำคัญในการผลิตสารสื่อประสาทและสารประกอบอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการทำงานของสมอง ความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของอารมณ์ และการลดลงของการรับรู้และความเข้าใจ โพรไบโอติกส์ ช่วยคืนความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งอาจช่วยลดความเครียด และในผู้สูงอายุที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairments: MCI) โพรไบโอติกส์มีผลเพิ่มการทำงานด้านเชาวน์ปัญญาของสมอง (Cognitive Function) และทำให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น
ผลต่อความเสื่อมของระบบประสาท
โพรไบโอติกส์อาจมีคุณสมบัติในการชะลออาการจากความเสื่อมในระบบประสาท เช่น การสูญเสียการทำงานด้านเชาวน์ปัญญาของสมองและความจำ
ผลต่อการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ
โพรไบโอติกส์อาจเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกาย ลดการอักเสบที่เกิดจาก การออกกำลังกาย และสนับสนุนการฟื้นตัวหลังการออกกำลังกายได้
จะเห็นว่า โพรไบโอติกส์มีประโยชน์มากมาย อย่างไรก็ตาม จากผลการรวบรวมข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ โพรไบโอติกส์ ในผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ของนักวิจัยกลุ่มหนึ่ง โดยรวบรวมการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่ทำการศึกษาเปรียบเทียบผลของการใช้โพรไบโอติกส์กับยาหลอกในผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 – พ.ศ.2562 จำนวน 17 การศึกษา เพื่อพิสูจน์ว่า โพรไบโอติกส์มีประโยชน์ด้านใด พบว่า โพรไบโอติกส์มีประโยชน์ต่อการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ และส่งผลให้มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น
ก่อนใช้โพรไบโอติกส์ แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เช่น แพทย์ที่ดูแลท่านเป็นประจำ ก่อนที่จะเริ่มใช้โพรไบโอติกส์หรือสูตรอาหารเสริมใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งแพทย์จะประเมินสภาวะสุขภาพของท่าน รวมทั้งยาประจำตัวที่ท่านใช้อยู่ และให้คำแนะนำเป็นรายบุคคล เพื่อให้แน่ใจว่าการใช้โพรไบโอติกส์ เป็นไปอย่างปลอดภัยและเหมาะสม
แหล่งอ้างอิง:
Hutchinson, AN, Bergh C, Kruger K, S˝usserová M, Allen J, Améen S, Tingö L. The Effect of Probiotics on Health Outcomes in the Elderly: A Systematic Review of Randomized, Placebo-Controlled Studies. Microorganisms 2021;9(6):1344. https://doi.org/10.3390/microorganisms9061344
พัทธ์ธีรา โสดาตา. ประโยชน์ของโพรไบโอติกส์. [เข้าถึงเมื่อ 5 มิถุนายน 2566]. เข้าถึงได้จาก https://pharm.tu.ac.th/uploads/pharm/pdf/articles/20181002_4.pdf
Pandey KR, Naik SR, Vakil BV. Probiotics, prebiotics and synbiotics- a review. J Food Sci Technol. 2015;52(12):7577-7587.
เรียบเรียงโดย : รศ. นพ.สัมมน โฉมฉาย
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภก. ธนพล นิ่มสมบูรณ์ หัวหน้าหน่วยข้อมูลยาและพิษวิทยา
งานวิชาการเภสัชกรรม ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช