ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนเรา มีความสำคัญต่อทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ หรือวัยผู้สูงอายุ ‘วัคซีน’ เป็นหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพราะภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงสามารถปกป้องเราจากการเจ็บป่วยและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ด้วย¹
การรับวัคซีนสำหรับ Gen ยัง Active จำเป็นแค่ไหน
การรับวัคซีนป้องกันโรคในวัยผู้สูงอายุมีความจำเป็นไม่น้อยไปกว่าการรับวัคซีนในวัยเด็ก เพราะเมื่ออายุมากขึ้นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคก็เพิ่มมากขึ้น² ระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ จะมีประสิทธิภาพลดลง ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อ และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สูงขึ้น³ ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงมีความจำเป็นที่ต้องรับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคเช่นเดียวกัน ซึ่งการป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นวิธีที่ดีกว่ารอให้ป่วยแล้วจึงค่อยมาพบแพทย์เพื่อรักษา
Gen ยัง Active ควรรับวัคซีนอะไรบ้าง⁴
1. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1 ครั้ง
2. วัคซีนโควิด-19 ปีละ 1 ครั้ง
3. วัคซีนนิวโมค็อกคัส หรือมักเรียกกันว่า วัคซีนปอดอักเสบ วัย Gen ยัง Active ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนชนิดคอนจูเกต 13 หรือ 15 สายพันธุ์ 1 เข็ม และวัคซีนชนิดพอลีแช็กคาไรด์ 23 สายพันธุ์ 1 เข็ม
4. วัคซีนงูสวัด วัย Gen ยัง Active ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด แม้แต่คนที่เคยเป็นงูสวัดมาแล้วก็ยังควรจะได้รับวัคซีน
5. วัคซีนบาดทะยัก คอตีบและไอกรน 1 เข็ม ทุก 10 ปี
พอจะได้ไอเดียการรับวัคซีนที่แนะนำสำหรับ Gen ยัง Active กันไปแล้ว มาดูกันว่า หากต้องออกทริป เดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศ หรือต่างถิ่นไกล ๆ นั้น นอกจากการวางแผนว่าจะไปเที่ยวที่ไหนบ้างแล้ว ยังต้องวางแผนการรับวัคซีน เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย อีกทั้งยังช่วยลดความรุนแรงหากต้องเผชิญกับโรคที่ไม่คาดคิด โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์และรับวัคซีนก่อนออกเดินทาง เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นไปตามแพลนและได้พักผ่อนอย่างแท้จริง
วัคซีน...ตัวช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้เตรียมเที่ยวแบบสุขเสรี
พาสปอร์ตพร้อม ตารางเที่ยวพร้อม แล้วเรื่องวัคซีนล่ะ พร้อมหรือยัง?
นอกจากวัคซีนข้างต้นที่แนะนำสำหรับ Gen ยัง Active ทุกคนแล้ว Gen ยัง Active ที่ชอบท่องเที่ยวนั้น อาจต้องรับวัคซีนเพิ่มเติมก่อนเดินทาง ขึ้นอยู่กับว่า ประเทศหรือสถานที่ที่จะไปมีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากแค่ไหน ซึ่งต้องดูแยกย่อยในแต่ละประเทศ หากมองโดยภาพรวม ประเทศยอดฮิตในกลุ่ม Gen ยัง Active อย่างญี่ปุ่น หรือกลุ่มประเทศแถบยุโรป จะไม่มีวัคซีนเฉพาะของกลุ่มประเทศนั้น ๆ ส่วนประเทศแถบตะวันออกกลาง หรือแอฟริกา จะมีวัคซีนที่จำเป็นต้องรับวัคซีนก่อนเดินทางนั่นเอง
ก่อนจะออกทริป Gen ยัง Active 50+ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาวัคซีนที่ควรได้รับ ล่วงหน้า 2 - 4 สัปดาห์ก่อนการเดินทาง เพื่อให้ร่างกายมีเวลาในการสร้างภูมิคุ้มกัน
วัคซีนสำคัญสำหรับการเดินทาง⁵
1. วัคซีนไข้เหลือง เป็นวัคซีนที่จำเป็นต้องได้รับก่อนออกเดินทาง เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายอนามัยระหว่างประเทศ โดยพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้เหลือง คือประเทศแถบแอฟริกาและอเมริกาใต้ จำเป็นต้องได้รับวัคซีนก่อนการเดินทางอย่างน้อย 10 วัน แต่วัคซีนนี้อาจมีผลข้างเคียงในผู้สูงอายุได้ จึงต้องปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดเสมอ
2. วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น เป็นวัคซีนที่จำเป็นต้องได้รับก่อนเดินทางสำหรับใครที่กำลังจัดทริปตะลุยแอฟริกา เช่น ซูดาน เอธิโอเปีย ฯลฯ และประเทศซาอุดิอาระเบีย
3. วัคซีนไทฟอยด์ Gen ยัง Active คนไหนเตรียมจัดทริปในประเทศแถบเอเชียใต้ เช่น อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ และแถบแอฟริกา แนะนำให้รับวัคซีนนี้
4. วัคซีนพิษสุนัขบ้า เป็นวัคซีนที่แนะนำถ้าต้องเดินทางไปอยู่ในประเทศที่มีสัตว์เร่ร่อนจำนวนมาก หรือต้องทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่าง ๆ
5. วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปในประเทศกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชียใต้ แอฟริกาและอเมริกาใต้ ซึ่งอาหารการกินอาจจะไม่สะอาดได้
เพราะการเดินทางท่องเที่ยวคือความสนุกสนานและประสบการณ์ชีวิตที่น่าจดจำของวัย Gen ยัง Active ทว่าแม้จะมีวางแผนป้องกันโรคด้วยการรับวัคซีนแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ 100%⁶ ชาว Gen ยัง Active ควรหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงต่อโรค ด้วยการเลือกรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่สะอาด รวมถึงต้องมีความระมัดระวังไม่เข้าไปในบริเวณที่มีการระบาดของโรคที่รุนแรงด้วยเช่นกัน เพื่อให้ทริปในฝันเป็นไปอย่างราบรื่น มีความสุขและสุขภาพแข็งแรงตลอดการเดินทาง
*อ่านข้อมูลเรื่องคำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับประชาชนทั่วไป ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เพิ่มเติมได้ที่
คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566 "ฉบับประชาชน" ฉบับเต็ม
เรียบเรียงโดย : นพ.ปวัตน์ พื้นแสน
อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เอกสารอ้างอิง
1. Pollard, A.J., Bijker, E.M. A guide to vaccinology: from basic principles to new developments. Nat Rev Immunol 21, 83–100 (2021). https://doi.org/10.1038/s41577-020-00479-7
2. Niccoli, T., & Partridge, L. (2012). Ageing as a risk factor for disease. Current Biology: CB, 22(17), R741–R752. https://doi.org/10.1016/j.cub.2012.07.024
3. Gray-Miceli, D., Gray, K., Sorenson, M. R., & Holtzclaw, B. J. (2023). Immunosenescence and Infectious Disease Risk Among Aging Adults: Management Strategies for FNPs to Identify Those at Greatest Risk. Advances in Family Practice Nursing, 5(1), 27–40. https://doi.org/10.1016/j.yfpn.2022.11.004
4. Adult immunization schedule by age. (2024, March 11). Cdc.gov. https://www.cdc.gov/vaccines/schedules/hcp/imz/adult.html
5. คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ, IDAT;2023;1-37
6. WHO;2020;1-3;Vaccines and immunization myths and misconceptions
NP-TH-NA-WCNT-240018