line
เมนู
รู้แล้วยัง

รวมเช็คลิสต์ 5 โรคไม่ติดต่อเรื้อรังของวัย 50+ ที่เสี่ยง ‘งูสวัด’ กว่าใคร

ภัยเงียบวัย Gen ยัง Active ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งเสี่ยงงูสวัด
แชร์บทความนี้
line
line
line

ปี 2568 เป็น ‘ปีงู’ ก็จริง แต่สำหรับวัย 50+ นั้น อย่าเป็น ‘โรคงูสวัด’ เป็นพอ เพราะขึ้นชื่อว่าวัย Gen ยัง Active นั้นมาพร้อมโรคภัยต่าง ๆ ที่ดาหน้ามาเป็นแพ็คเกจ โดยเฉพาะ 5 โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่หากเป็นแล้ว ยิ่งเสี่ยงเป็นโรคงูสวัด มาเช็คกันเลยว่ามีโรคอะไรบ้าง

1. วัย 50+ ที่เป็นโรคเบาหวาน ก็อาจเสี่ยงเป็นงูสวัดร่วมด้วย

ผู้ป่วยเบาหวาน มีโอกาสติดเชื้อง่ายกว่าคนปกติ เนื่องจาก ภูมิคุ้มกันที่ต่อสู้กับการติดเชื้อทำงานได้ลดลง ส่งผลให้ระดับภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เชื้องูสวัดที่ซ่อนในร่างกาย จึงกำเริบได้ง่ายขึ้น¹

อาการของโรคงูสวัดจะมากกว่าปกติ และอาการเบาหวานจะแย่ลงด้วย อาจจะไม่สามารถควบคุมน้ำตาลได้ นอกจากนี้ ยังมีอาการแทรกซ้อนที่ควรระวัง โดยผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นงูสวัด มีแนวโน้มที่จะปวดตามแนวเส้นประสาท ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยหลังจากเป็นงูสวัด แม้ว่าผื่นจะหายดีแล้วก็ตาม¹˒²

2. วัย 50+ ที่เป็นโรคไต ก็อาจเสี่ยงเป็นงูสวัดร่วมด้วย

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เสี่ยงเป็นงูสวัดเพิ่มมากขึ้น 38%³ เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพราะภูมิคุ้มกันแย่ลงหลังจากเป็นโรคไต⁴ เมื่อคนไข้โรคไตเป็นงูสวัด จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย⁵ ยิ่งไตทำงานแย่ลง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นงูสวัด ยิ่งไปกว่านั้น หากฟอกไตทางเส้นเลือด มีความเสี่ยงเป็นงูสวัดเพิ่มขึ้น 1.35 เท่าผู้ที่ฟอกไตหน้าท้อง เสี่ยงเป็นโรคงูสวัดเพิ่มขึ้น 3.6 เท่า และผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไต เสี่ยงเป็นโรคงูสวัดเพิ่มขึ้น 8.5 เท่า⁶

นอกจากนี้ แม้ผื่นจะหายดีแล้ว ยังเสี่ยงเจอกับอาการแทรกซ้อนอย่าง อาการปวดตามแนวเส้นประสาทสูงถึง 59% โดยอาจจะปวดต่อเนื่องนานเป็นเดือน หรือตลอดชีวิต จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต⁷

มากไปกว่านั้น ยังพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่เคยเป็นงูสวัด มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกด้วย⁸

3. วัย 50+ ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง ก็อาจเสี่ยงเป็นงูสวัดร่วมด้วย

ภายใน 1 เดือนหลังจากเป็นโรคงูสวัด คนไข้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น Stroke สูงถึง 78%⁹
ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคงูสวัดเพิ่มขึ้น 2.51 เท่า และผู้ป่วยหลอดเลือดสมองแตกจะเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดเพิ่มขึ้น 2.31 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีโรคนี้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองยังพบอาการปวดตามแนวเส้นประสาท ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยหลังจากเป็นงูสวัด แม้ผื่นจะหายดีแล้ว ได้สูงถึง 2.15 เท่า¹⁰

4. วัย 50+ ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ก็อาจเสี่ยงเป็นงูสวัดร่วมด้วย

ปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ มลพิษทางอากาศ และพันธุกรรม แต่เมื่อเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแล้ว รู้หรือไม่ว่ามีงานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เสี่ยงเป็นโรคงูสวัด เพิ่มมากขึ้น 2.77 เท่า¹¹ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นโรคงูสวัด อาจทำให้อาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแย่ลง 26% และมีอาการกำเริบมากขึ้นได้ 12%¹²

นอกจากนี้ เมื่อเป็นโรคงูสวัด ยังพบอาการปวดตามแนวเส้นประสาท (PHN) ได้สูงถึง 1.53 เท่า ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ถึงผื่นจะหายดีแล้ว แถมยังจะมีอาการปวดอย่างต่อเนื่อง อาจนานร่วมเดือนหรือตลอดชีวิต จนส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิต⁷

5. วัย 50+ ที่เป็นโรคหัวใจ ก็อาจเสี่ยงเป็นงูสวัดร่วมด้วย

วัย Gen ยัง Active คนไหนที่เป็นโรคหัวใจแล้ว ยังเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดร่วมด้วย เพราะภายใน 1 สัปดาห์หลังจากเป็นโรคงูสวัด มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือดสูงถึง 68%¹³ อีกทั้งผู้ป่วยโรคหัวใจ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคงูสวัดเพิ่มขึ้น 34%¹⁴

นอกจากนี้ ยังมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด แม้ว่าผื่นจะหายแล้วซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยบางคน โดยเฉพาะวัย 50+ อาจมีอาการปวดต่อเนื่องยาวนานร่วมเดือน ซึ่งทำให้การใช้ชีวิตยากขึ้น เช่น นอนไม่หลับ ขยับตัวลำบาก ยกของหนักไม่ได้¹⁵

งูสวัดก็ต้องสยบให้กับวัคซีน¹⁶

หากไม่อยากเสี่ยงเป็นโรคงูสวัด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถึงการป้องกัน และขอคำแนะนำเกี่ยวกับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคงูสวัด

ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนงูสวัดอยู่ 2 ชนิด ได้แก่

ชนิดที่ 1 ชนิดที่มีสารเสริมกระตุ้นภูมิ (ชนิดที่ไม่ใช่เชื้อเป็น) ที่สามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมีความเสี่ยงต่อการเป็นงูสวัด

ชนิดที่ 2 ชนิดเชื้อเป็น ซึ่งจะฉีดได้ในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

วิธีป้องกัน หรือลดความเสี่ยงการเกิดงูสวัด
1. ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
2. พักผ่อนเพียงพอ
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
4. หลีกเลี่ยงภาวะเครียด

หากไม่อยากเจ็บปวดจากอาการแทรกซ้อนจากโรคงูสวัด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถึงการป้องกัน หรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับวัคซีน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และลดความรุนแรงของอาการได้

เรียบเรียงโดย : จีเอสเค

เอกสารอ้างอิง
1. Muñoz-Quiles C. et al. (2017). Hum Vaccin Immunother. 13, 2606–2611.
2. Papagianni M, Metallidis S, & Tziomalos K. (2018). Diabetes Ther, 9(2), 545–550.
3. Lai SW et al. (2020). Int J Clin Pract. 74, e13566.
4. Pahl MV. et al. (2015). Chronic Renal Disease. Chapter 24. 285-297.
5. Lin SY et al. (2014). Eur J Clin Microbiol Infect Dis. 33, 1809–1815.
6. Lin SY et al. (2012). Am J Nephrol. 36, 27–33.
7. Forbes HJ et al. (2016). Neurology. 87:94–102.
8. Muñoz-Quiles C. et al. (2020). BMC Infectious Diseases. 20, 1-14.
9. Marra F, Ruckenstein J, Richardson K. (2017). BMC Infect Dis. 17(1), 198.
10. Tung YC. et al. (2020). PloS one, 15(2), e0228409.
11. Thompson-Leduc P et al. (2022). Clin Respir J. 16, 826–834.
12. Yawn BP et al. (2022). Vaccines (Basel). 10, 420.
13. Erskine N. et al. (2017). PLoS One. 12, 1-18, (KC).
14. Marra F (2020). Open Forum Infectious Diseases. 609.
15. Harpaz R. et al. (2008). MMWR. Recommendations and reports, 57(RR-5), 1–CE4.
16. IDAT. (2023). Recommended Adult and Elderly Immunization Schedule

NP-TH-NA-WCNT-250002 | กุมภาพันธ์ 2025

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว