ชาว Gen ยัง Active ที่อายุ 50+ น่าจะเคยผ่านการเป็นโรคสุกใสกันมาแล้วบ้าง แล้วรู้ไหมว่า เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคสุกใสนั้น ยังคงแฝงอยู่ในปมประสาทของร่างกายคนเรา รอวันที่ร่างกายเราอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันตก แล้วจึงแสดงตัวออกมาในรูปแบบของ ‘โรคงูสวัด’
งูสวัดเป็นได้ทุกเมื่อที่ร่างกายอ่อนแอ
ไม่ว่าใครก็เสี่ยงที่จะเป็นงูสวัดได้หากภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ เช่น ช่วงที่ร่างกายอ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอหรือเครียด โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันลด รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด หรือผู้ป่วยที่ต้องกินยากดภูมิคุ้มกัน ยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคงูสวัด และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ซึ่งงูสวัดสามารถติดได้จากการสัมผัสผื่นแผล หากท่านยังไม่เคยได้รับเชื้อ อาจทำให้เป็นโรคสุกใสที่เป็นต้นกำเนิดของโรคงูสวัดได้
โรคกับภาวะแทรกซ้อนที่ใครก็ไม่อยากเป็น
หากป่วยเป็นโรคงูสวัดจะเริ่มจากมีอาการปวดแสบปวดร้อนบนผิวหนัง มีผื่นแดงเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นเรียงกันเป็นกลุ่ม หรือเป็นแถวยาวตามแนวเส้นประสาท ซึ่งจะแตกเป็นแผลและตกสะเก็ด ส่วนใหญ่แล้วจะหายได้เองใน 2 สัปดาห์(1)
แต่ในบางรายโดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เริ่มตั้งแต่อาการปวดตามแนวเส้นประสาท ซึ่งบางรายอาจปวดเรื้อรังนานหลายปี ไปจนถึงมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย และหากงูสวัดขึ้นตาก็อาจทำให้กระจกตาอักเสบจนถึงขั้นตาบอด(2) แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้น ในกรณีผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำมาก งูสวัดอาจส่งผลให้สมองและปอดอักเสบได้
เสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ป้องกันงูสวัดได้
งูสวัดเป็นโรคที่ควรระวังสำหรับสูงวัย เพราะผู้สูงอายุมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดได้ง่ายหากภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ดังนั้น ชาว Gen ยัง Active จึงต้องดูแลตัวเองและเสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งงูสวัดสามารถป้องกันได้ด้วย 5 วิธีง่าย ๆ ดังนี้
- ออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัยของผู้สูงอายุ และทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เพราะความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด
- พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันที่ดีทำงานได้ดี โดยผู้สูงอายุควรเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน
- กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
- ไม่ใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วยหรือใกล้ชิดผู้ป่วย เนื่องจากงูสวัดสามารถ ติดจากการสัมผัสผื่นแผล หากไม่เคยได้รับเชื้องูสวัด อาจทำให้เป็นสุกใส
- อีกหนึ่งวิธีการป้องกัน คือการฉีดวัคซีนงูสวัดในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป เพื่อลดโอกาสในการเป็นโรคงูสวัด
แต่หากป่วยเป็นโรคงูสวัดแล้ว โปรดปรึกษาแพทย์ เนื่องจากงูสวัดเป็นโรคที่สามารถหายได้เอง แต่ในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก ควรได้กินยาต้านไวรัสเพื่อลดความรุนแรงของโรคหรือลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ แล้วถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์
เรียบเรียงโดย : อ.นพ.เอกภพ หมอกพรม
สาขาวิชาอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เอกสารอ้างอิง
- Center for Disease Control and Prevention (2018, 08 21). Shingles Sign and Symptoms Herpes Zoster. Center for Disease Control and Prevention
https://www.cdc.gov/shingles/about/symptoms.html - Kosuke Kawai., Berhanu G Gebremeskel., & Camilo J Ascosta (2014). BMJ Open Systematic review of incidence and complications of herpes zoster: towards a global perspective. CrossMark
NP-TH-NA-WCNT-230017