‘น้ำ’ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ เพราะเกือบ 60% ของร่างกายประกอบด้วยน้ำ น้ำไม่เพียงแต่เป็นพื้นฐานในการสร้างเซลล์เท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การย่อยอาหาร และสร้างความสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย¹
หากร่างกายขาดน้ำนั้น จะเกิดอะไรขึ้น? คำตอบคือ ‘ภาวะขาดน้ำ’ นั่นเอง แน่นอนว่าย่อมเป็นอันตรายอย่างยิ่งในร่างกายของคนเรา ซึ่งมีใครบางคนบอกไว้ว่า ขาดน้ำก็เหมือนขาดใจ แต่ในวัยผู้สูงอายุนั้น มีภาวะเสี่ยงมากกว่าวัยอื่น ๆ เพราะอะไรถึงเกิดภาวะที่ว่านี้ ไปหาคำตอบพร้อม ๆ กัน
‘ภาวะขาดน้ำ’ (Dehydration) คือ ภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าที่ได้รับ จึงมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ส่งผลต่อระบบไหลเวียนของเหลว และการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ และหากปล่อยไว้เป็นเวลานาน อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้²
ในกลุ่มผู้สูงอายุนั้นจะพบภาวะขาดน้ำมากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ เนื่องจากของเหลวสำรองในร่างกายที่ลดลง ทำให้การตอบสนองต่อความกระหายน้ำลดลง หรือเกิดจากความเสื่อมของร่างกาย เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ซึมเศร้า สมองเสื่อม รวมถึงการได้รับยาบางชนิดเพื่อรักษาโรคประจำตัว³
โดยพบว่าอาการที่แสดงภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุ เริ่มจากริมฝีปากแห้ง ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลง รู้สึกอ่อนเพลีย ปัสสาวะลดลงหรือมีสีเข้มขึ้น รวมถึงการเป็นตะคริวได้ง่าย หากผู้สูงอายุมีภาวะขาดน้ำที่รุนแรงมากขึ้น จะพบว่ามีชีพจรเร็วกว่า 120 ครั้งต่อนาที ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ เป็นลมง่าย มีภาวะสับสน หมดสติ จนกระทั่งเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวและไตวายได้³
อาการที่ควรสังเกตของภาวะขาดน้ำ²
- กระหายน้ำ - อ่อนเพลีย / เหนื่อยง่าย - ปวดศีรษะ / วิงเวียนศีรษะ - ปัสสาวะมีสีเข้มหรือปัสสาวะน้อย 4-6 ชั่วโมง / 1 ครั้ง - ชีพจรเต้นเร็ว หายใจหอบถี่ - ความดันโลหิตต่ำ บางรายอาการรุนแรงจนเกิดอาการชักได้
การป้องกันภาวะขาดน้ำ²
- ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 2 - 3 ลิตรต่อวัน¹ หรือประมาณ 8 - 10 แก้ว (แก้วในขนาด 200 มล.) และควรจิบน้ำตลอดทั้งวัน
- ในกรณีที่ร่างกายขาดน้ำ เนื่องจากท้องเสีย ควรดื่มน้ำเกลือแร่ จากผงเกลือแร่ โออาร์เอส (ORS) เพื่อชดเชยน้ำ และเกลือแร่ที่สูญเสีย บรรเทาอาการอ่อนเพลีย
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางที่โล่งแจ้ง ในวันที่อากาศร้อนจัด เลือกสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี เพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย
แม้ว่าการดื่มน้ำอย่างเพียงพอจะช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าปัจจัยอื่น ๆ อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำได้เช่นกัน เช่น คุณภาพการนอนหลับ รูปแบบการบริโภคอาหาร การเดินทาง และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นในช่วงหน้าร้อนเช่นนี้ ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด ยิ่งทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ง่าย อย่าลืมดูแลตัวเองให้ดีเพื่อที่จะผ่านพ้นหน้าร้อนนี้ไปด้วยกันนะทุกคน
เรียบเรียงโดย : จีเอสเค
เอกสารอ้างอิง 1. Sissons, C. (2020, May 27). What percentage of the human body is water? Medicalnewstoday.com. (2024, April, 19) https://www.medicalnewstoday.com/articles/what-percentage-of-the-human-body-is-water 2. กรมอนามัย. (2566, พฤษภาคม, 9) อากาศร้อน อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ (2567, เมษายน, 19) https://multimedia.anamai.moph.go.th/infographics/info499_cool/ 3. pptvhd36. (2567, มีนาคม, 13). ผู้สูงอายุเสี่ยงภาวะขาดน้ำ รุนแรงเสี่ยงหัวใจล้มเหลวไตวายได้!. (2567,มีนาคม, 28) https://www.pptvhd36.com/health/care/4962
NP-TH-NA-WCNT-240010