line
เมนู
รู้แล้วยัง

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ภัยร้ายใกล้ตัว หากรู้ทันป้องกันได้

เรื่องปอดเรื่องใหญ่! Gen ยัง Active อย่าละเลยหากมีสัญญาณเตือน
แชร์บทความนี้
line
line
line

เมื่อกล่าวถึงโรคระบบการหายใจ บางคนอาจมองว่าเป็นโรคทั่ว ๆ ไปที่พบได้บ่อย ไม่ใช่โรคที่น่ากลัว แต่เชื่อหรือไม่ว่าโรคที่ถูกมองว่าธรรมดานั้นแฝงอันตรายที่ส่งผลกระทบถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว และโรคเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับทุกวัย จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทุกคนและทุกวัยควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะ ‘โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง’ เป็นโรคระบบการหายใจที่คร่าชีวิตคนไทยมากเป็นอันดับที่ 4 รองจากโรคปอดอักเสบ โรคมะเร็งปอด และวัณโรคปอด เลยทีเดียว

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังคืออะไร?¹

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จัดอยู่ในกลุ่มโรคปอดเรื้อรังที่พบได้บ่อย ซึ่งเกิดจากการตีบแคบ อุดกั้น หรือมีการขัดขวางการหายใจภายในปอด ส่งผลให้ปอดไม่สามารถส่งออกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากร่างกาย และทำให้ก๊าซออกซิเจนไม่สามารถไหลเวียนเข้าสู่เลือดได้อย่างเพียงพอ นับเป็นหนึ่งในโรคระบบการหายใจที่ร้ายแรงเพราะอาจทำให้ถึงแก่ชีวิต ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันทีและเหมาะสม

สาเหตุของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง¹

1) การสูบบุหรี่ และควันบุหรี่มือสอง

การสูบบุหรี่ คือปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่พัฒนาอย่างช้า ๆ ดังนั้นกว่าที่จะตรวจพบโรค ผู้ป่วยก็มักเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว

อีกทั้งอันตรายจากบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นควันบุหรี่มือหนึ่ง มือสอง หรือ มือสาม ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่สูบเองและบุคคลรอบข้าง เนื่องจากนิโคติน รวมถึงสารเคมีในบุหรี่ ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเส้นเลือด เยื่อบุหลอดลม และถุงลม จนนำไปสู่การอักเสบเรื้อรัง และทำให้ปอดเสื่อมสมรรถภาพในที่สุด ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลานานจึงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ขณะเดียวกันผู้ที่ได้รับควันบุหรี่แม้จะไม่ได้สูบก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน

2) มลพิษทางอากาศ

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีสาเหตุสำคัญอีกด้านหนึ่งจากการสูดดมมลพิษ ทั้งฝุ่นละออง ควันพิษ รวมถึงสารเคมีบางอย่างเข้าไปในปอดติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการสะสมจนร่างกายได้รับผลกระทบและเป็นโรคนี้ในที่สุด

3) พันธุกรรม

ปัจจัยทางพันธุกรรมบางประเภทก็อาจส่งผลทำให้เกิดโรคนี้ได้ โดยคนที่มีปัจจัยดังกล่าวจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้คนในครอบครัวที่มีประวัติโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมีอาการอย่างไรบ้าง?¹

- ไอเรื้อรัง มีเสมหะเรื้อรัง
- แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
- หอบ เหนื่อยง่าย เวลาออกแรง หรือทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเดินขึ้นบันได เดินขึ้นสะพานลอย

แนวทางการดูแล และการรักษา¹

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่สามารถรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังให้หายขาด แต่สามารถชะลอการดำเนินโรค บรรเทาอาการของโรค ป้องกันและรักษาภาวะแทรกซ้อนรวมถึงอาการกำเริบเฉียบพลันได้ โดยวิธีที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้มีดังนี้

เป้าหมายระยะสั้น คือการทำให้สมรรถภาพปอดที่มีอยู่จำกัด ถูกใช้งานให้มีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม

เป้าหมายระยะยาว คงสมรรถภาพการทำงานของปอดไว้หรือให้เสื่อมลงช้าที่สุด

ส่วนการรักษาด้วยยา เป็นการรักษาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการ ลดการกำเริบ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย ซึ่งการเลือกใช้ยาจะเป็นไปตามอาการและระดับความรุนแรงของโรค สำหรับกลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่ ยาขยายหลอดลม ยาลดการอักเสบของหลอดลม นอกจากนั้นการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะช่วยป้องกันการกำเริบของโรคได้ สำหรับผู้ป่วยบางรายที่อาการรุนแรงแพทย์จะพิจารณาให้ใช้ออกซิเจนหรือเครื่องช่วยหายใจที่บ้าน

สิ่งที่แพทย์ทำควบคู่กันไปคือการดูแลรักษาแบบองค์รวม เนื่องด้วยผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อาจมีภาวะของโรคต่าง ๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาวะขาดสารอาหาร ภาวะซึมเศร้า อีกทั้งสมรรถภาพร่างกายที่เสื่อมถอยเร็ว อาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน และเนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงร่วมกันจากการสูบบุหรี่ ทำให้มักจะมีโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองร่วมด้วย จึงต้องเฝ้าระวังควบคู่ไปกับการดูแลโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างใกล้ชิด

ปรับพฤติกรรม ห่างโกลโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

สิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ตั้งแต่ตอนนี้ คือ การรักษาต้นทุนปอดของเราให้ดีที่สุด พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ที่สูบบุหรี่ ป้องกันตัวเองจากมลพิษในอากาศและละอองสารเคมี และการตรวจสุขภาพปอดอย่างสม่ำเสมอสำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบไม่ต้องเป็นกังวล ผู้ที่มีความสนใจเรื่องโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังสามารถปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับความรู้เกี่ยวกับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง การรักษา และการป้องกันโรคได้

เรียบเรียงโดย: รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล
หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เอกสารอ้างอิง :
1. Global Initiative for Chronic Obstructive Lung Disease. (2024). Global Strategy for Prevention, Diagnosis and Management of Copd: 2024 Report.

NP-TH-NA-WCNT-240039

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว