โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นภัยเงียบที่ส่งผลร้ายแรงต่อหัวใจและสุขภาพโดยรวม ซึ่งสามารถพบได้ในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
ชวน Gen ยัง Active วัย 50+ มาทำความเข้าใจ โรคความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค ผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงวิธีการป้องกันตนเองและคนที่คุณรัก
โรคความดันโลหิตสูง เกิดจากอะไร
ความดันโลหิต คือ แรงดันเลือด เกิดจากการที่หัวใจสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยหลอดเลือดแดงคือจุดเริ่มที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งหลอดเลือดแดงมีลักษณะเป็นท่อสลับซับซ้อน มีหน้าที่ขนส่งเลือดไปทั่วร่างกาย เมื่อความดันโลหิตสูงขึ้น หลอดเลือดแดงก็จะได้รับแรงดันมากขึ้น ความดันที่สูงเกินไปจะทำให้หลอดเลือดแดง และอวัยวะสำคัญเกิดความเสียหายอย่างช้า ๆ จนอาจเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต และอื่น ๆ ดังนั้นโรคความดันโลหิตสูงจึงถูกตั้งฉายาว่า ‘ภัยเงียบ’ ที่คุกคามสุขภาพ
จากสถิติประเทศไทย ร้อยละ 45 ของผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจะไม่รู้มาก่อนว่าตัวเองมีภาวะนี้ เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูงไม่มีอาการบ่งชี้ชัดเจน จึงไม่ได้เข้ารับการรักษา นอกจากนี้ ร้อยละ 6 ของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไม่มีการควบคุมความดันโลหิตอย่างเหมาะสม ทำให้อวัยวะเกิดความเสียหาย ทั้ง ๆ ที่ความเสียหายเหล่านี้สามารถป้องกันได้โดยการดูแลความดันโลหิตให้เหมาะสม สม่ำเสมอ และทำความเข้าใจกับตัวเลขความดันโลหิต
การวัดค่าความดันโลหิต
การวัดค่าความดันโลหิตจะวัด 2 ค่า ได้แก่
ความดันโลหิตค่าบน หรือ ความดันซิสโตลิก (Systolic Blood Pressure) เป็นค่าความดันโลหิตเมื่อหัวใจบีบตัว และ ความดันโลหิตค่าล่าง หรือ ความดันไดแอสโตลิก (Diastolic Blood Pressure) เป็นค่าความดันโลหิตเมื่อหัวใจคลายตัว
- ค่าความดันที่ดีค่าปกติของความดันโลหิตจะไม่เกิน 129/84 มิลลิเมตรปรอท หมายถึง ความดันโลหิตค่าบนไม่เกิน 129 มิลลิเมตรปรอท และความดันโลหิตค่าล่างไม่เกิน 84 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งความดันโลหิตที่ดีและอยู่ในช่วงปลอดภัยคือ ความดันโลหิตที่ไม่เกิน 120/80 มิลลิเมตรปรอท
- ค่าความดันเริ่มสูงค่าความดันโลหิตที่อยู่ในช่วง 130/85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง 140/90 มิลลิเมตรปรอท จะเรียกว่า ภาวะความดันโลหิตเริ่มสูง (Elevated blood pressure, high normal) ผู้ที่อยู่ในภาวะนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงในอนาคต หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อควบคุมความดันโลหิต
- ค่าความดันสูงค่าความดันโลหิตเท่ากับหรือมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท เพียงค่าใดค่าหนึ่งสูง ก็จะเข้าเกณฑ์ของโรคความดันโลหิตสูง
วัดความดันโลหิตที่บ้านได้ด้วยตัวเอง
การวัดความดันโลหิต แนะนำให้วัดที่บ้านทุกวัน โดยสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง ดังนี้
- เว้นดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือสูบบุหรี่ก่อนทำการวัดอย่างน้อย 30 นาที
- ทำจิตใจให้ผ่อนคลายอย่างน้อย 2 นาทีก่อนทำการวัด
- นั่งพิงพนักเก้าอี้สบายๆ ไม่เกร็งตัว เท้าวางราบกับพื้น และวางแขนให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ และตอนวัดไม่ควรพูดคุย
- วัดความดันโลหิต 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 1 นาที แล้วบันทึกตัวเลขค่าเฉลี่ย โดยวัดวันละ 2 ช่วง คือ ช่วงเช้า ภายใน 1 ชั่วโมงหลังตื่นนอน และช่วงค่ำก่อนเข้านอน
ปัจจัยเสี่ยงต้องระวัง
- อายุ เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น
- ความเครียด เมื่อเกิดความเครียด ความดันโลหิตจะสูงขึ้น
- พันธุกรรม พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้
- ผู้ที่เป็นโรคที่เกี่ยวข้อง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน
- สูบบุหรี่
- ดื่มแอลกอฮอล์
ภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา
โรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ความเสียหายต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้ ดังนี้
หัวใจ: ความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการควบคุมเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจโต โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และภาวะหัวใจล้มเหลวได้
สมอง: ความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อม (dementia)
ไต: ความดันโลหิตสูงอาจนำไปสู่ความเสียหายของหลอดเลือดในไตและเกิดภาวะไตวายเรื้อรังตามมาได้
ดวงตา: หากเป็นความดันโลหิตสูงในระยะเวลานาน จะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับดวงตา อาจทำให้จอประสาทตาเสื่อมได้
ป้องกันและควบคุมไว้ก่อนดีกว่า
ก่อนที่ค่าความดันโลหิตจะขึ้นสูง ชวน Gen ยัง Active มารู้วิธีการป้องกันและควบคุมไว้ก่อน ด้วยเคล็ดลับดี ๆ ตามนี้
บริโภคอย่างเหมาะสม: เน้นการบริโภคอาหารที่อุดมด้วยสารอาหาร ซึ่งรวมถึงผลไม้ ผัก ธัญพืชเต็มเมล็ด ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ โปรตีนไม่ติดมัน รวมถึงควบคุมการบริโภคโซเดียม ลดน้ำตาล และไขมันอิ่มตัว ตามแนวทาง DASH (Dietary Approaches to Stop Hypertension) ซึ่งเป็นแผนการรับประทานอาหารที่เป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถลดระดับความดันโลหิตและลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ: ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที โดยตั้งเป้าออกกำลังกายคาร์ดิโอ เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน 30 นาทีแบบต่อเนื่องเกือบทุกวัน และออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรง เช่น ยกน้ำหนัก 2-3 ครั้ง/สัปดาห์
ลดน้ำหนัก: น้ำหนักที่เกินมาตรฐาน มีผลต่อค่าความดันที่สูงขึ้น ดังนั้นการลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม มีส่วนช่วยลดความดันโลหิตอย่างมีประสิทธิภาพ
งดสูบบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์: การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและเป็นอันตรายต่อหัวใจ
จัดการความเครียด: ลดระดับความเครียดและทำจิตใจให้สงบโดยใช้เทคนิคการผ่อนคลาย เช่น การทำสมาธิ
รับประทานยา: ในบางครั้งการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตยังไม่เพียงพอ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต ซึ่งแม้ว่าจะไม่พบผลข้างเคียงของยารักษาความดันโลหิตสูงในผู้ป่วยส่วนใหญ่ แต่ก็อาจมีบางรายที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ขาบวม หรือไอ
สิ่งสำคัญคือต้องแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ให้ทราบเกี่ยวกับยา หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่กำลังรับประทานอยู่ เนื่องจากยา หรืออาหารเสริมเหล่านี้อาจมีผลกับยาความดันโลหิตสูง
นอกจากนี้ การลดค่าความความดันโลหิตสูงให้กลับไปสู่ค่าปกติ จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคอื่น ๆ ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ปัญหาเกี่ยวกับไตและอวัยวะต่าง ๆ
เมื่ออายุมากขึ้น ชาว Gen ยัง Active อย่าลืมดูแลตัวเอง ให้ห่างไกลโรคความดันโลหิตสูงด้วยการปรับไลฟ์สไตล์ และดูแลตัวเองให้ยังแอคทีฟอยู่เสมอ
เรียบเรียงโดย : รศ. นพ.สัมมน โฉมฉาย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
และ ดร.ศุภธิดา กุลปวโรภาส วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
และ หน่วยข้อมูลยาและพิษวิทยา โรงพยาบาลศิริราช
เอกสารอ้างอิง สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. (2562). แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ.2562 (ครั้งที่1). สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย (Thai Hypertension Society).
NP-TH-NA-WCNT-230010