โรคมะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก¹ และในปัจจุบันผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับ 1 มากกว่ามะเร็งปากมดลูก² แต่ด้วยเป็นโรคที่ไม่มีอาการชัดเจนนักในตอนแรก มีเพียงก้อนเนื้อให้สัมผัสได้ หลายคนจึงไม่ได้สังเกตจนเข้าสู่ระยะลุกลาม³ ดังนั้นการใส่ใจตรวจหามะเร็งเต้านมอย่างจริงจังจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอาการเบื้องต้นของมะเร็งเต้านม เพราะยิ่งพบเร็วเท่าไร ยิ่งลดความรุนแรงของโรคและอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลงได้มากเท่านั้น⁴ นับว่ามะเร็งเต้านมเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้หญิง ดังนั้นเราจึงควรมาทำความรู้จักกับสาเหตุและอาการรวมถึงการรักษาของโรคนี้ให้มากขึ้น
สาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม⁵
จุดเริ่มต้นของการเจริญเติบโตมักมาจากเซลล์ในท่อน้ำนมและต่อมน้ำนม แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุหลัก ๆ ของการเกิดเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม เช่น ปัจจัยด้านวิถีชีวิต สุขภาพโดยรวม พันธุกรรม สภาพแวดล้อม
สัญญาณเตือนและอาการเบื้องต้นของมะเร็งเต้านม⁵
- คลำพบก้อนในเต้านม - มีของเหลวออกจากบริเวณหัวนม - มีความผิดปกติของผิวหนังบริเวณเต้านม โดยผิวหนังมีลักษณะคล้ายผิวส้ม หรือมีรอยบุ๋มที่ผิวหนัง หรือเต้านมผิดรูปร่างไปจากเดิม
มะเร็งเต้านมระยะไหน...อาการเป็นแบบใด
เป็นที่คุ้นเคยกันดีกับคำวินิจฉัย เมื่อตรวจพบมะเร็ง แพทย์จะบอกกับผู้ป่วยว่า “เป็นระยะที่เท่าไร” ทั้งนี้ ระยะขั้นของมะเร็ง มีส่วนสำคัญกับระดับความรุนแรง และโอกาสในการรักษาให้หายขาด ดังนี้⁶
ระยะ 0 เป็นระยะที่มะเร็งมีขนาดเล็ก ยังไม่ลุกลามถึงเนื้อเยื่อ ระยะ 1 มะเร็งโตขึ้น ลุกลามถึงต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้านเดียวกับโรค ระยะ 2 มะเร็งโตขึ้นกว่าขั้นที่ 1 ลุกลามถึงต่อมน้ำเหลือง แต่ยังจำนวนน้อย ระยะ 3 มะเร็งโตมาก อาจแตกเป็นแผล หรือยึดติดกับกล้ามเนื้อหน้าอก ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเป็นจำนวนมาก ระยะ 4 ระยะสุดท้าย มะเร็งแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด และเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ ทั้งนี้ อาการเบื้องต้นของมะเร็งเต้านม หากตรวจพบตั้งแต่ระยะที่ 0 จะมีโอกาสรักษาหายขาดสูง⁷ ดังนั้นยิ่งตรวจพบเร็ว ยิ่งมีโอกาสหายได้มากกว่า⁴
วิธีการตรวจมะเร็งเต้านม⁴
ปัจจัยที่ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีโอกาสรักษาให้หายได้ มีอยู่ 2 ปัจจัยคือ ค้นพบให้เร็วและได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ ด้วยความที่มะเร็งเต้านมเป็นเซลล์มะเร็งที่เกิดกับอวัยวะภายนอก สามารถคลำหาได้ด้วยมือ แต่นั่นไม่ใช่อาการเริ่มต้น เพราะกว่าจะคลำเจอต้องเป็นก้อนมะเร็งที่ใหญ่ไม่น้อยกว่า 1 เซนติเมตรไปแล้ว
การตรวจเต้านมด้วยตนเอง⁸
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการพบก้อนที่บริเวณเต้านม และโดยมากผู้ป่วยจะตรวจพบหรือคลำได้ด้วยตนเอง การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอจะทำให้รู้ว่าลักษณะของเต้านมปกติเป็นอย่างไร และสามารถสังเกตได้หากเริ่มมีความผิดปกติขึ้น จะทำให้แพทย์สามารถรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลที่ดี แนะนำให้ตรวจด้วยตัวเองทุกเดือน เดือนละครั้ง
การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม (Mammogram)⁴
เป็นวิธีการตรวจสุขภาพเต้านมที่สำคัญและได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลาย และเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิงทั่วไป ซึ่งการตรวจด้วยแมมโมแกรมนั้นเป็นเทคโนโลยีการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษ คล้ายกับเครื่องเอกซเรย์เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการหาความผิดปกติของเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และเนื่องจากปริมาณรังสีที่ใช้น้อยมาก ประกอบกับการตรวจเพียง 1 – 2 ปีต่อครั้ง จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย
แนวทางการรักษามะเร็งเต้านม⁵
การรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง และอาจใช้มากกว่าหนึ่งวิธีในการรักษาร่วมกัน ไม่สามารถใช้เพียงวิธีเดียวในการรักษา โดยมี 3 แนวทางหลัก ได้แก่
1. การผ่าตัด 2. การฉายรังสี 3. การให้ยา ยาที่ใช้ในการรักษามะเร็งเต้านมมี 3 ชนิด ได้แก่ ยาเคมีบำบัดหรือคีโม, ยาต้านฮอร์โมน และยาพุ่งเป้า (Targeted therapy) โดยยาจะมีความจำเพาะเจาะจงในการหยุดหรือชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยส่งผลต่อเซลล์ปกติของร่างกายเพียงเล็กน้อย จำเป็นต้องผ่านการตรวจลักษณะของเซลล์มะเร็งก่อนเช่นกัน
การป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม
- ผู้หญิงทุกคนควรรู้จักการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และเฝ้าระวังอาการผิดปกติต่างๆ ที่อาจบ่งถึงมะเร็งเต้านมได้ - ควรหมั่นตรวจสุขภาพ คัดกรองมะเร็งเป็นประจำทุกปี หรือควรเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ทุกปี หลังจากที่อายุ 40 ปีขึ้นไป - หากคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง การเข้ารับการตรวจกรรมพันธุ์ก่อมะเร็งหรือการตรวจยีนหาความเสี่ยงมะเร็งเต้านมถือเป็นอีกวิธีการเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งในอนาคตได้
เรียบเรียงโดย : รศ. ดร. นพ.สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เอกสารอ้างอิง: 1. Arnold, M. (2022). Breast (Edinburgh, Scotland), 66, 15–23. 2. Wongpratate, M. (2024). Obstetrics & gynecology science, 67(3), 261–269. 3. Canadian Cancer Society (n.d.). Symptoms of breast cancer. Canadian Cancer Society. Retrieved September 4, 2024, from https://cancer.ca/en/cancer-information/cancer-types/breast/signs-and-symptoms 4. Bhushan, A. (2021). Pharmaceutics, 13(5), 723. 5. Menon, G. (2024). Breast Cancer. StatPearls Publishing. 6. Rosen, RD (2023). TNM Classification. StatPearls Publishing. 7. Stage 0 breast cancer - symptoms, treatment & survival rate. (2023, December 5). National Breast Cancer Foundation. https://www.nationalbreastcancer.org/breast-cancer-stage-0/ 8. Breast self-exam. (2019, August 28). National Breast Cancer Foundation. https://www.nationalbreastcancer.org/breast-self-exam/
NP-TH-NA-WCNT-240030