line
เมนู
รู้แล้วยัง

วัย 50+ ป้องกันยังไงเมื่ออีสุกอีใสอาจกลายเป็น ‘งูสวัด’

วัคซีนป้องกันงูสวัด ฉีดก่อน...ปลอดภัยกว่า
แชร์บทความนี้
line
line
line

รู้หรือไม่ วัย 50+ ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน มีโอกาสเสี่ยงเป็น ‘งูสวัด’ กันได้ทุกคน

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไม ก่อนอื่นต้องเกริ่นถึงสาเหตุของโรคงูสวัดในเบื้องต้นกันก่อนว่าโรคงูสวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus: VZV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสเดียวกับโรคอีสุกอีใส หลังจากผู้ป่วยหายจากโรคอีสุกอีใส เชื้อไวรัสจะซ่อนตัวอยู่ในปมประสาทของร่างกายและสามารถกลับมาแสดงอาการเมื่อภูมิคุ้มกันลดลง เชื้อไวรัสจะทำให้เส้นประสาทอักเสบและเกิดผื่นของโรคงูสวัดขึ้น¹

โรคงูสวัด แตกต่างจากโรคอีสุกอีใสอย่างไร?

โรคงูสวัดและโรคอีสุกอีใสมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ผื่นหรือตุ่มของโรคงูสวัดจะขึ้นเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท ไม่กระจายตัวทั่วร่างกายเหมือนโรคอีสุกอีใส ผื่นจะเริ่มจากการเกิดผื่นแดง แล้วเกิดเป็นตุ่มนูนใสและบวม แล้วจะแตกและตกสะเก็ดในที่สุด

บริเวณที่มักเกิดผื่นได้แก่ รอบเอว, แนวชายโครง, หลัง, ด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า และอาจเกิดบริเวณดวงตาได้ อาการของโรคงูสวัดจะรุนแรงกว่าโรคอีสุกอีใสและอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์หากไม่ได้รับการรักษา¹

อาการของโรคงูสวัดเป็นอย่างไร?

  • มีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนังหลายวัน หรือสัปดาห์ก่อนที่จะมีผื่นงูสวัดขึ้น
  • ผื่นสีแดงจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสเป็นแนวยาว โดยผื่นมักเรียงตัวกันเป็นกลุ่มหรือตามแนวเส้นประสาท ไม่กระจายตัวทั่วร่างกายเหมือนตุ่มในผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส
  • ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแปลบบริเวณผิวหนัง แม้ถูกสัมผัสเพียงเล็กน้อย หรือแม้เพียงสัมผัสโดนเสื้อผ้า
  • ต่อมาผื่นจะแตกออกเป็นแผล ตกสะเก็ด และหลุดออกจากผิวหนังใน 7-10 วัน
  • หลังผื่นหายยังอาจมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลงเหลืออยู่
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการงูสวัดแบบหลบใน โดยมีอาการปวดแสบปวดร้อนตามแนวเส้นประสาทแต่ไม่มีผื่นขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคเพิ่มเติม

จาก ‘อีสุกอีใส’ สู่ ‘งูสวัด’

‘โรคงูสวัด’ ภัยเงียบของผู้สูงวัย สุขภาพยังฟิต ใช่ว่าจะไม่เสี่ยง

มากกว่า 90% ของคนอายุ 50 ปีขึ้นไป มีเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคงูสวัดอยู่ในตัว² ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับโรคอีสุกอีใส เมื่ออายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันลดลง เชื้อที่ซ่อนอยู่จะกลายเป็นโรคงูสวัด นอกจากจะต้องเจ็บปวดกับตุ่มตามตัว ปวดเมื่อย มีไข้ ยังมีอาการแทรกซ้อนมากมาย ที่อันตรายกว่าที่คิด ทั้งงูสวัดขึ้นหน้า ขึ้นใบหู อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อใบหน้า เป็นอัมพาตครึ่งซีก มีอาการหลับตาไม่สนิท มุมปากตก หรือถ้าขึ้นตรงตา อาจเสี่ยงตาบอด รวมถึงติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนที่ผิวหนัง¹

นอกจากนี้ ยังมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด แม้ว่าผื่นจะหายแล้วซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยบางคน โดยเฉพาะวัย 50+ อาจมีอาการปวดต่อเนื่องยาวนานร่วมเดือน ซึ่งทำให้การใช้ชีวิตยากขึ้น เช่น นอนไม่หลับ ขยับตัวลำบาก ยกของหนักไม่ได้ ส่งผลต่อการใช้ชีวิต และอาจจะกลายเป็นการพลาดโอกาสการใช้ชีวิต ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เช่น อาการปวดปลายประสาท สร้างความรำคาญต่อการดำเนินชีวิต ทำให้ไม่อยากทำกิจวัตรประจำวัน เป็นต้น¹

โรคงูสวัดและโรคอีสุกอีใส ป้องกันได้!

ทั้งโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัดสามารถป้องกันได้จากการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ทานอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังและพักผ่อนอย่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด หรือการรับวัคซีน ซึ่งวัคซีนอีสุกอีใสเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 12-18 เดือน อาจพิจารณาให้ฉีดเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 18 เดือนถึง 4 ปี ถ้าอายุมากกว่า 13 ปี ให้ฉีดสองเข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน³

สำหรับวัคซีนงูสวัด ปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนโรคงูสวัด อยู่ 2 ชนิด ได้แก่

  • ชนิดที่ 1 ชนิดไม่ใช่เชื้อเป็น สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรือในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงต่อโรคงูสวัดมากกว่าปกติ
  • ชนิดที่ 2 ชนิดเชื้อเป็น สำหรับผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป⁴

แม้ทั้งโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด จะมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกัน และมีอาการคล้ายคลึงกัน แต่ก็แตกต่างกันที่ระยะเวลาการเกิดโรคและอาการ การป้องกันที่ดีคือการหมั่นดูแลสุขภาพเพื่อให้ตัวคุณและคนในครอบครัวไม่ต้องทรมานกับโรคนี้ และสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรค การป้องกันโรค และวัคซีน

เรียบเรียงโดย : จีเอสเค

เอกสารอ้างอิง:
1. Harpaz R. et al. (2008). MMWR. Recommendations and reports, 57(RR-5), 1–CE4.
2. Migasena, S. (1997). IJID, 2, 26-30.
3. ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย แนะนำโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2567
4. IDAT. (2023). Recommended Adult and Elderly Immunization Schedule

NP-TH-NA-WCNT-250003 | March 2025

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว