ปรัชญาแห่งวิถี GEN ยัง ACTIVE ที่อยากฝากถึงผู้คน และสังคม
รอยยิ้มบนใบหน้าของ คุณพริ้ม-ดาริกา ศรีสุข เจ้าของธุรกิจกล่องไม้ใส่เครื่องประดับและนาฬิกาชั้นสูง ขณะวาดลวดลายอยู่บนฟลอร์ระหว่างการซ้อมเต้นรำกับเพื่อน ๆ คือสิ่งยืนยันว่าเธอเอนจอยกับกิจกรรมที่ชวนให้ขยับแข้งขยับขาเพียงไหน ซึ่งการซ้อมเต้นนั้นเป็นหนึ่งในกิจกรรมออกกำลังกายสุดโปรดที่เธอกับเพื่อน ๆ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยนัดกันมาขยับร่างกายกันเป็นประจำทุกวันพฤหัสบดี และเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยชุบชูจิตใจเป็นอย่างดี
“ตอนนี้อายุ 69 อยู่บ้านอย่างมีความสุข สนุกกับการออกกำลังกาย วันอังคารและวันพุธ พิลาทีส ไลน์แดนซ์ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดีค่ะ” คุณพริ้มอัพเดทโปรแกรมออกกำลังกายให้เราฟังอย่างคล่องแคล่ว
หากจะเล่าประวัติแบบรวบรัด หลังจากจบเคมีอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ เธอกลับมาเมืองไทยเพื่อทำงานในสายงานธนาคารได้สักพัก แล้วออกมาทำธุรกิจกับสามี เปิดบริษัททำแบรนด์กล่องไม้ใส่เครื่องประดับและนาฬิกาชั้นสูงจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พร้อมกันนั้นก็ประกอบธุรกิจส่วนตัวเล็ก ๆ ของตัวเองเกี่ยวกับความสวยความงามไปด้วย มีลูกที่น่ารัก 3 คน ยามว่างก็ฝึกทำอาหาร ทั้งอาหารจีนและอาหารฝรั่งตามความชอบ เรียกว่ารับบทบาทการเป็นแม่บ้านแบบเต็มตัวก็คงไม่ผิดนัก
“เคยทำงานที่เป็นรูทีนมาแล้ว คราวนี้ออกมาทำธุรกิจส่วนตัวก็เลยหาสิ่งจรรโลงใจเป็นฮอบบี้ไม่ให้ตัวเองเหงา ตอนลูกเล็ก ๆ ก็พาลูกไปออกกำลังกาย ตอนนี้แต่ละคนก็โตกันหมดแล้ว เราก็ออกกำลังกายเอง ทำอาหารเอง ไม่เหงานะ มีอะไรสนุก ๆ ให้ทำตลอด”
คุณพริ้มกับอิริยาบถสบาย ๆ เวลาอยู่บ้านพร้อมน้องหมาคู่ใจ
สเต็ปชีวิตในแต่ละช่วง จากช่วงวัย 30, 40, 50 จนมาถึง 60 ตอนปลาย ความคิดเราเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างในแต่ละช่วง?
“พอเราโตขึ้น ประสบการณ์ในชีวิตมันสอนเราเยอะ เราทำอะไรผิด เราทำอะไรถูก มันสอนหมดเลยนะ ความคิดก็เปลี่ยนไปตามวันเวลา อายุ 30-40 หน้าที่คือเลี้ยงลูก ก็พยายามเลี้ยงให้พวกเขามีการศึกษาที่ดี ให้ดูแลตัวเอง ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ตอนนี้พอใกล้จะ 70 ก็มีความรู้สึกว่าเราต้องหาความสุขให้ตัวเองด้วย ซึ่งเราก็เล่นกีฬามาตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็เล่นกีฬาให้น้อยลงหน่อยเพราะบาดเจ็บที่ข้อเข่าบ้างก็ต้องระวัง แต่ก็ออกกำลังกายประจำ เล่นพิลาทีส ว่ายน้ำ เต้นรำ เล่นดนตรี เล่นเปียโนมาตั้งแต่เด็ก ๆ ชอบดนตรี ถึงได้เอนจอยการเต้นรำ ได้ฟังเพลงเพราะ ๆ ก็มีความสุข”
ดูเป็นคนที่เอนจอยไลฟ์ทุกช่วงชีวิต เคยมีวันไหนเหนื่อย ๆ ดาวน์ ๆ มีวิธีจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกกับตัวเองอย่างไร?
“ลุกขึ้นมาเปิดเพลงที่ชอบ ทำให้จิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่าน หรือออกกำลังกาย นัดเจอกับเพื่อน ๆ นัดทานข้าว ได้แย่งกันพูด ได้หัวเราะ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว” คุณพริ้มตอบอย่างอารมณ์ดีพลางเพิ่มเติมว่า “เราต้องดูแลตัวเองให้มีความสุข ไม่มีใครมาทำให้เรามีความสุขได้ ตัวเราเองต้องเป็นคนสร้างความสุขขึ้นมาเอง พอรู้แล้วว่าอะไรที่ทำให้เรามีความสุข ลุกขึ้นมาทำเลย”
เคยคิดเล่น ๆ ถึงตัวเราตอนอายุ 70, 80 ไหมว่าจะเป็นอย่างไร หรือมีสิ่งที่กังวลใจในตอนนี้บ้างไหม?
“ไม่ค่ะ พี่ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ทำตัวเองให้มีความสุข แต่แน่นอนเราก็ต้องมองชีวิตในอนาคตด้วยว่าเราต้องไม่เป็นภาระของใคร พยายามดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด ไม่เครียด ยังไม่รู้สึกแก่ ยังไม่อยากแก่ (หัวเราะ)”
รู้สึกอย่างไรกับการที่คนรุ่นเด็กกว่าเรา มีคำเรียกอย่างผู้สูงอายุบ้าง คนแก่บ้าง คนชราบ้าง มีคำไหนที่จี๊ดใจว่าอย่ามาเรียกแบบนี้?
“เท่าที่ผ่านมาไม่เคยถูกเรียกไม่ดีนะคะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่ดีที่สุดคืออะไรรู้ไหม ผมขาว ๆ แบบนี้ ขับรถเข้าห้าง เปิดกระจกลงมาเพื่อจะขอที่จอด เด็กรับรถบอก ‘ป้า ๆ มาทางนี้เลย’ (หัวเราะ) หาที่จอดรถให้เสร็จสรรพ หลังจากนั้นก็ได้ที่จอดรถดี ที่จอดรถใกล้ประตูทางเข้าตลอด ก็เป็นสิ่งที่ดีเหมือนกันนะ” คุณพริ้มทิ้งท้ายแบบติดตลก
เป็นคนที่ใส่ใจตัวเองทั้งเรื่องร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น คิดอย่างไรกับเรื่องความตาย แม้จะเป็นสิ่งธรรมดา บางคนถือว่าไม่ควรคุยเรื่องนี้ มีการวางแผนอะไรไหม?
“คุยกับเพื่อน ๆ ตลอดค่ะ เราบอกกันไว้เลยว่าจะต้องทำพินัยกรรมให้เรียบร้อย แบ่งให้เรียบร้อย ไม่ต้องกลัวลูกคนไหนโกรธ ต้องการจะแบ่งยังไงต้องแบ่งให้เสร็จ เพราะพอเราจากไปแล้วพวกเขาจะได้ไม่ทะเลาะกันเพราะนี่คือความประสงค์ของเรา สำหรับเรื่องความตายน่ะเหรอ ไม่กลัวตายนะคะ แต่ก็มีคิดถึงบ้าง เพราะเราก็มีเพื่อน ๆ ที่จากไปแล้วบ้าง เราก็คิดถึงเค้า แต่มันเป็นชีวิตน่ะ ไม่ซีเรียส ไม่หมกมุ่น ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ อีกอย่างเราก็อายุมากแล้วด้วย ก็ต้องยอมรับสภาพร่างกายของเรา ดูแลตัวเองให้ดีที่สุด สิ่งหนึ่งเราคอนโทรลไม่ได้เพราะมาจากกรรมพันธุ์ ส่วนอีกสิ่งหนึ่งที่คอนโทรลได้ก็มาจากการกินอาหาร การออกกำลังกาย การทำตัวเองให้ไม่เครียด พวกเพื่อนพี่เก่งค่ะ แย่งกันคุย มีความสุข หัวเราะ เป็นการคลายเครียด เวลาใครเครียด ๆ ต้องโทรหากัน ช่วยกันรีแลกซ์”
มีเพื่อนๆ หรือคนรู้จักบางคนที่ยึดติดกับอดีตอันรุ่งโรจน์รุ่งเรืองบ้างไหม มีคำแนะนำให้พวกเขาก้าวข้ามผ่านไปได้อย่างไร?
“บางคนแนะนำไม่ได้นะ ต้องปล่อย เพราะชีวิตเขาเป็นอย่างนั้น เราทำอะไรไม่ได้ แต่คนที่พอคุยได้เราก็คุย มีเพื่อนคนหนึ่งเป็นอาจารย์ทางด้านจิตวิทยา ก็จะเหมือนเป็นที่ปรึกษาของรุ่น เวลามีปัญหาเรื่องลูกหรือปัญหาอะไรก็จะแชร์กันคุยกัน เพราะเราเป็นนักเรียนวัฒนา เป็นนักเรียนประจำ เราสนิทกัน เราอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ ใครเขาคิดอะไรได้แค่ไหน พอเราพูดแล้วหนนึงถ้าเขาคิดไม่ได้เราก็ไม่มีประโยชน์ที่จะพูดไป”
ทุกวันนี้ความสุขของคุณพริ้มคืออะไรคะ?
“ออกกำลังกาย ทำอาหารให้ลูกทาน เล่นกับหมา เล่นเปียโน เราหาความสุขของเราเองนะคะ เราไม่ต้องให้คนอื่นมาให้เรา เราทำของเราเอง” (ยิ้ม)
ด้วยคาแรกเตอร์ที่เป็นคนมองโลกในแง่ดี อยากฝากอะไรให้กับคน GEN ยัง ACTIVE ที่เซ็ง ๆ เบื่อ ๆ กับชีวิตให้กลับมา ACTIVE กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง?
“จริง ๆ อยากฝากรัฐบาลหรือหน่วยงานหรือองค์กรใด ๆ ที่มีพลังพอ จัดเป็นสถานที่สำหรับ GEN เราโดยเฉพาะ ให้มีกิจกรรมให้ทำสนุก ๆ จะเต้นรำ ทำขนม งานฝีมือ อะไรก็ว่ากันไป ให้พวกเราได้มาทำกิจกรรม ได้มาเจอเพื่อน ได้เดินเล่น ได้พูดคุยกัน หรือจะจัดเป็นเวิร์คช้อปก็ยังได้ ให้คนรุ่นเราถ่ายทอดประสบการณ์หรือทักษะ ไม่ต้องเป็นดอกเตอร์หรือนักวิชาการ แต่เป็นคนที่มีสกิลอย่างแม่บ้านที่ทำกับข้าวเก่ง ๆ มาสอนสาว ๆ ทำกับข้าว ทำอาหารไทยซึ่งอาจจะทำกันไม่เป็นแล้วตอนนี้ หรือคนที่มีความรู้ด้านการปลูกผักชนิดนี้ชนิดนั้น มาสอนเทคนิคการปลูกผักสวนครัว แบบนี้ก็สนุกดี”
“หากเป็นไปได้ อยากให้ทั้งภาครัฐหรือเอกชนสนับสนุนไอเดียนี้อยู่เหมือนกัน ลองคิดภาพคนแก่นั่งอยู่บ้านคนเดียวเหงา ๆ สิ เข้าใจว่าบางครอบครัวอาจไม่มีเวลาดูแลมากนัก เป็นไปได้ไหม ขอแค่วันเดียวเท่านั้น วันเดียวที่จะพาเขาไปส่งไว้ที่นี่ให้ทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ แล้วรับกลับบ้านตอนเย็น แค่วันเดียวนี่ล่ะที่จะทำให้เขารู้สึกกลับมาสดชื่น มีชีวิตชีวา รู้สึกมีค่า และไม่รู้สึกว่าโดนสังคมทอดทิ้ง”