คงไม่มีใครที่ติดตามวงการบันเทิงไทยแล้วไม่เคยได้ยินชื่อเสียงของ ‘ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน’ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ผู้สร้างสรรค์ผลงานมาแล้วมากมาย และฝากฝีมือการแสดงชั้นยอดไว้ในละครหลายเรื่อง
ปัจจุบันครูเล็กกับวัยหลังเกษียณ สวมบทบาทใหม่ด้วยการรับบทครู โดยสานฝันตัวเองในการเป็นเจ้าของโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน และสานฝันเด็ก ๆ อีกหลายชีวิตให้ค้นพบและได้ทำในสิ่งที่รัก
ชวนชาว Gen ยัง Active มาเปิดแง่มุมการมองโลกที่สวยงาม เพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเอง พร้อมแบ่งปันความดีงามแก่ผู้อื่น รวมถึงเทคนิคการดูแลตัวเองให้สุขกายสบายใจในเวอร์ชันครูเล็ก เพื่อที่จะใช้ชีวิตในแต่ละวันให้สนุกและมีคุณค่าตราบเท่าที่ยังมีแรงไหว
เปิดโรงเรียน ‘ภัทราวดี หัวหิน’ สานฝันวัยเด็กตอนอายุ 60
“ดิฉันไม่ได้ตั้งใจจะเปิดโรงเรียนนะคะ ดิฉันแค่พาคนที่เขาจะเช่าที่ทำโรงลิเกมาดูที่ตรงนั้น (หัวเราะ) แต่พอดีดิฉันมาถึงก่อนก็จอดรถลง แล้วปรากฏว่าลมมันเย็นสบายจังเลย นึกถึงตอน 8 ขวบ คุณแม่เคยพามาที่นี่บอกว่าวันหนึ่งหนูจะชอบตรงนี้ ดิฉันก็เถียงท่านว่าไม่มีทางเพราะแดดก็ร้อนแล้วไม่มีอะไรเลย วันนั้นเลยแว็บขึ้นมาว่า ใช้เวลาถึงอายุ 60 เชียวหรือ กว่าจะเลิกเถียงพ่อแม่และเห็นด้วยกับท่าน สุดท้ายดิฉันก็ไม่ได้ให้เขาเช่า เพราะดิฉันอยากจะอยู่ที่นี่ ไม่อยากกลับกรุงเทพฯ แล้ว
ตอนแรกตั้งใจจะมาปลูกบ้านและเกษียณที่นี่ แต่พอคิดว่า อยู่บ้านแล้วจะทำอะไร นั่งเฉย ๆ ก็ทำไม่เป็นเพราะเป็นคนขยัน ทำงานมาทั้งชีวิต จะทำเธียเตอร์ใครจะมาดู หรือสอนการแสดงใครจะมาเรียน ครั้งหนึ่งดิฉันเคยไปถวายงานที่ดอยตุงก็เอาศิลปะการละครไปสอนเด็กชาวเขาให้เรียนภาษาไทย เรียนเลข เรียนภาษาอังกฤษ ดิฉันก็คิดว่าถ้าสอนทุกคนให้รักการเรียน สนุกที่จะเรียนผ่านศิลปะการแสดงได้มันน่าจะดี
แล้วดิฉันไม่ได้อยากจะกลับไปเล่นหนังเล่นละครแล้ว เลยคิดว่าทำโรงเรียนดีกว่า เลยเป็นที่มาของ ‘โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน’ สมัยเด็ก ๆ ดิฉันจะวาดรูปโรงเรียนประจำเลย มีเสาธง มีตึกเรียน แต่ทุกคนก็หมิ่นประมาทว่าเธอไม่มีความรู้เรื่องนี้ จะทำได้ยังไง ก็จะบอกเขาว่าคนเราเรียนรู้กันได้ มันจะเก่งมาตั้งแต่เกิดได้ยังไง ก็ค่อย ๆ ทำ แต่กว่าจะสำเร็จ อุปสรรคก็เยอะพอสมควร เพราะทุกคนมองว่ามันเหลวไหล แต่ดิฉันคิดว่าศิลปศาสตร์จะช่วยปลูกฝังให้เด็กรู้จักทักษะชีวิต และนำมาใช้ประโยชน์ในการทำมาหากินได้ มันเป็นความฝันที่อยากทำ แล้วก็ทำได้จริง ๆ
คนจะคิดว่าศิลปศาสตร์ คือ การวาดเขียนหรือร้องรำทำเพลง แต่จริง ๆ แล้ว ศิลปศาสตร์ คือ ปรัชญาชีวิต วิธีคิด วิธีแก้ปัญหา เป็นวิชาที่อยู่ในทุกเรื่องเลยนะ ศิลปศาสตร์คือการชื่นชมความดีความงามที่อยู่รอบกาย แม้แต่เล่นละครเป็นตัวร้ายก็มีความงาม ศิลปศาสตร์สอนให้คนคิด สอนให้คนอ่าน และสอนให้รู้จักความเป็นมนุษย์ เด็กต้องเห็นความงามในการดำรงชีวิต ถึงจะคิดบวกเป็นและมีความสุข”
การเรียนการสอนแบบ Active-Learning ที่ครูต้องแอคทีฟไปกับเด็ก
“คนจะคิดว่าโรงเรียนภัทราวดีสอนรำละคร แต่ไม่ใช่ ไม่ได้สอนแอคติ้งอะไรเลยนะ เราอยากอ่านวรรณคดี เราก็อ่านวรรณคดีแล้วก็ทำละครกัน บางทีอ่านวรรณคดีไทยอย่างรามเกียรติ์ แต่เอามาแปลเป็นบทพูดภาษาอังกฤษ บางทีเอาวิทยาศาสตร์มาทำละครให้เด็ก ๆ ช่วยกันคิด ครูเองก็ต้องฝึกทำงานกับเด็ก แล้วครูต้องมีความเป็นศิลปิน ซึ่งพวกเราก็ช่วย ๆ กัน ศิลปะมันเลยเชื่อมโยงได้ทุกวิชา แล้วทำให้การเรียนมันสนุกและเกิดประโยชน์
ดิฉันเองก็สอนนะ สอนภาษาอังกฤษ วรรณคดีไทย แล้วก็สอนกิจกรรม เด็ก ๆ ชอบทำอะไรก็มาจับกลุ่มทำโปรเจกต์กัน เวลาครูเขาสอนอะไรดิฉันก็ไปนั่งดู มีความรู้อะไรก็แทรกเข้าไป อย่างเวลาเขาเรียนเรื่อง Music Appreciation เรียนประวัติศาสตร์ปี ‘50 ก็บอกเด็กว่า Rock & Roll เขาเต้นกันแบบนี้เธอ เดี๋ยวสอนให้ ดิฉันก็ลุกไปเต้นกับเด็ก ๆ เต้นได้ไม่นานหรอก สมัยก่อนดิฉันเต้นได้เป็นชั่วโมง เดี๋ยวนี้แป๊บเดียวก็เหนื่อยนะ อยากสนุกไงแต่มันได้เท่านี้ เด็ก ๆ เขาก็เต้นกันไป ดิฉันก็นั่งหอบดูเขาเต้น ไม่ถูกใจครูก็ทำให้ดูใหม่สนุกดี
พอดิฉันได้สอนอยู่เรื่อย ๆ ก็เลยแอคทีฟและได้ออกกำลังกับเด็ก ๆ เพราะดิฉันเป็นคนไม่ชอบไปยิม แต่พวกนักแสดงจะได้ออกกำลังตอนที่เราแสดง เต้นรำ หรือร้องเพลง มันใช้แรงเยอะมากนะคะ ก็บอกเด็กว่าครูยังทำได้ แล้วหนูอายุเท่าไหร่ ทำไมจะทำไม่ได้ ให้กำลังใจเด็ก อย่างวิดพื้นดิฉันก็ทำให้ดู ไหนมาแข่งกันสิ เด็กก็จะชนะเพราะเขายังแรงเยอะอยู่ แต่ทำได้ 10 ทีก็หมดแรงแล้ว (หัวเราะ)
โจทย์ของครูที่นี่ คือ สอนยังไงให้เด็กอยากเรียน และทำให้เด็กเห็นว่าเรียนแล้วเอาไปทำมาหากินได้ ช่วยชีวิตหรือแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง อันนี้เป็นเรื่องที่ครูจะต้องมีศิลปะในการสอน ที่สำคัญคือเรียนแล้วต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำเสร็จได้คะแนนแล้วจบ เพราะคนที่ทำด้านศิลปศาสตร์ เขาทำงานต่อเนื่องกันทั้งชีวิต”
ก้าวข้ามอุปสรรคเรื่องความต่างวัย พร้อมปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่
“สมัยก่อนที่ดิฉันเขียนบทละครหรือเล่นละครเป็นผู้ใหญ่ อย่างบท ‘คุณนายปานรุ้ง’ ในบัลลังก์เมฆ ตอนสุดท้ายเธออายุ 70 ก็เล่นเป็นคนแก่ หลังโกงเดินโขยกเขยก กลับไปนั่งดูตัวเองก็ขำนะ เพราะตอนนี้ดิฉันอายุ 75 ยังวิ่งกระเจิงปีนต้นไม้อยู่เลย (หัวเราะ) เห็นไหมว่าเด็กเขาจะมองคนแก่ว่าแก่ เพราะเด็กไม่เคยแก่ไม่รู้หรอกว่าเป็นยังไง แต่คนแก่เคยเป็นเด็กมาก่อน ฉะนั้นเวลาเด็กทำผิด ดิฉันจะนึกถึงตอนอายุขนาดนั้นก็จะเข้าใจว่า อ๋อ เพราะเขายังเด็กจะให้มาคิดเหมือนคนอายุ 70+ ได้ไง
ถ้าเราเข้าใจเด็กก็จะอยู่กับเขาได้ด้วยความเมตตา เขาทำอะไรผิดก็จะหาวิธีแก้ไข เพราะดิฉันผ่านโลกมาเยอะ มีสติปัญญาก็ต้องช่วยเขาแก้ปัญหา ไม่ใช่ช่วยเขาสร้างปัญหา และไม่ใช่การทำโทษหรือดุด่านะคะ เพราะตอนเด็กยังไม่ชอบให้ใครมาว่าเลย ดังนั้นก็ต้องลดทิฐิ ให้อภัย และเป็นตัวอย่างของการเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ไม่เอาอารมณ์มาฟาดฟันกัน อาจจะมีอารมณ์อยู่แป๊บนึงก็เดินหนี อารมณ์ดีแล้วค่อยมาคุยกันใหม่
เด็กมีปัญหาไม่ใช่เขาไม่ดีนะ ไม่มีเด็กคนไหนที่ไม่ดีในโลกนี้ มีแต่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ เลี้ยงเขาไม่ถูกทางแล้วไปผลักไส คิดว่าที่ฉันทำมันถูก ฉันอาบน้ำมาก่อน เธอต้องเป็นอย่างนี้สิ แต่เขาไม่ได้เกิดมาเป็นแบบนั้นไง เหมือนเขาเป็นเป็ดแต่เราไปบอกว่าทำไมเธอไม่บินเหมือนนก ก็มันเป็นเป็ดบินได้แค่นั้น แต่มันจะว่ายน้ำเราก็ปล่อยเขาว่ายน้ำ ปล่อยให้เขาทำในสิ่งที่เขาทำได้ดี ผลักดันในสิ่งที่เขาเก่ง ให้เขาได้ค้นพบตัวเอง แล้วต้องช่วยเขาค้นพบตัวเองด้วย เขาถึงจะเติบโตมาเป็นอะไรที่ดีงาม
แล้วก็ต้องเข้าใจโลกที่มันเปลี่ยนไปด้วย ไม่ใช่ว่าเขาจะมาอยู่ในโลกของเราได้ยังไง แต่เราจะอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ได้ยังไง คนที่ต้องเปลี่ยนมากที่สุดคือผู้ใหญ่ ต้องเรียนรู้ เปลี่ยนวิธีคิด ลดอัตตา และฉลาดคิด ก็จะอยู่กับทุกอย่างในโลกนี้ได้ ดิฉันได้ความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นเยอะเลยจากการอยู่กับเด็ก ๆ เขาสอนเรานะว่า ควรจะคิดแบบไหนในโลกที่ไม่เหมือนแต่ก่อน เดี๋ยวนี้สังคมมีเพศหลากหลาย ไม่ได้มีแค่ผู้หญิงผู้ชาย ยังมีโรคภัยต่าง ๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เช่น โรคซึมเศร้า โรคแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม บนโลกนี้มันมีมนุษย์มากมายหลายรูปแบบ เราก็ไปเรียนรู้เพื่อที่จะได้เข้าใจเขา
ดิฉันได้เรียนรู้เยอะมากนะคะตั้งแต่มาทำโรงเรียนนี้ เพราะเด็ก ๆ จะสอนว่า ปัญหามีอะไรบ้าง แล้วจะเข้าใจหรือช่วยเขาได้ยังไง เพราะการที่พยายามจะไปช่วยเขาต้องหาความรู้เพิ่มเติม เลยทำให้ดิฉันได้เรียนรู้มากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงต้องเชี่ยวชาญขึ้น แข็งแรงขึ้น ต้องทำตัวเองให้พร้อมช่วยเหลือ ซึ่งก็ดีกับตัวเอง เพราะดิฉันจะเริ่มมีความคิดที่ดีขึ้น อารมณ์ดีขึ้น และมองโลกสวยงามขึ้นค่ะ”
ดูแลตัวเองให้สุขกายสบายใจ ในเวอร์ชันของเราเอง
“ร่างกายเปลี่ยน ต้องมีเหี่ยวย่น แต่มันมีเครื่องสำอาง มีครีม ก็ดูแลเท่าที่จะทำได้ รักษาสภาพไว้ให้มันเสื่อมน้อยที่สุด แต่มันจะเสื่อมโทรมไปบ้างหรือมีตีนกาก็ไม่ต้องตกใจ เหมือนต้นไม้ที่ยิ่งแก่ ผิวมันยิ่งขรุขระ แต่มันยังสวยนะ เมื่อก่อนดิฉันผอมสูงชะลูด เดี๋ยวนี้อ้วนขึ้นก็ดูสมบูรณ์พูนสุข อยากกินอะไรก็กิน แต่ต้องกินอะไรที่มีประโยชน์กับร่างกาย อะไรที่เป็นพิษก็พยายามไม่กิน เปลี่ยนมากินอาหารที่บ้านหรือร้านที่ไว้ใจได้ ผักสมุนไพรก็ปลูกไว้เต็มบ้าน อร่อยด้วยไม่ต้องไปซื้อ แล้วก็ดื่มน้ำเยอะ ๆ
กระดูกมันก็ไม่เหมือนเดิม แต่ก็อยู่อย่างเข้าใจ ทะนุถนอมเท่าที่จะทำได้ กินวิตามินหรือยืดร่างกายช้า ๆ ยกเวทบ้างแบบ 1-2 กิโล เพื่อที่จะให้กำลังแขนดี เพราะอยู่โรงเรียนนี้เดินเยอะกำลังขาดีอยู่แล้ว แต่กำลังแขนบางทีหยิบอะไรก็ร่วง ถ้ามีสติอยู่ตลอดเวลาก็จะไม่เกิดอันตราย เลยเป็นคนที่สุขุมขึ้น มีสติมากขึ้น เพราะความแก่นี่แหละ
ในด้านจิตใจดิฉันเคยไปเรียนสมาธิเมื่ออายุ 40 กับท่านอาจารย์ วสิษฐ เดชกุญชร ก็ยังนั่งสมาธิอยู่เรื่อย ๆ แต่ไม่ได้นั่งทุกวันเป็นเรื่องเป็นราว เพราะดิฉันเคยทำแล้วมันสงบแบบไม่อยากทำอะไรเลย อยากจะนั่ง นิ่ง ๆ เพื่อไปนิพพาน แต่ดิฉันรู้สึกว่ายังมีประโยชน์ ยังทำอะไรดี ๆ ให้คนอื่นได้ วันหนึ่งถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็อาจไปทำอะไรเพื่อตนเอง แต่ตอนนี้ยังทำอะไรเพื่อคนอื่นได้ก็ทำไปก่อน แล้วก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไร เพราะเข้าใจเรื่องการควบคุมอารมณ์ การมองทุกอย่างในแง่บวก มันก็เลยมีเรื่องหัวเราะได้ทั้งวัน”
ปล่อยอิสระไปตามจังหวะชีวิตอย่างมีขอบเขต
“คุณรู้ไหมดิฉัน 70+ แต่คิดว่าตัวเองอายุ 17 อยู่ตลอดเวลา คนแก่เขาไม่ได้คิดว่าตัวเขาแก่นะ เขายังอยากทำนั่นทำนี่ เพียงแต่บางคนเขายอมแพ้เพราะสังขารมันทำไม่ได้ แต่สำหรับดิฉัน สังขารไปได้แค่ไหนก็แค่นั้น อะไรที่ยังทำอยู่เรื่อย ๆ ก็เหมือนรถเก่า ๆ ที่ยังวิ่งอยู่มันจะวิ่งได้ แต่ถ้าจอดไว้มันก็จะม่องเท่ง ก็เลยไม่หยุดวิ่ง ไปแบบรถแก่ๆ มันจะวิ่งช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร
แฮปปี้เบิร์ทเดย์ไม่ต้องจัดหรอก ถ้าจัดก็ไม่ต้องไปนับอายุ อยากทำอะไรก็ทำ ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น เหนื่อยก็พัก วัย 50+ ก็ทำมาหากินเก็บเงินมาแล้ว ชีวิตเริ่มสุขสบาย ลูกเต้าก็โตหมดแล้ว เป็นวัยที่ทำตามใจตัวเองได้จริง ๆ แต่ต้องรู้ว่าอะไรควรไม่ควร ถ้าทำตัวเหลวไหล แก่แล้วมันจะดูไม่งาม แก่แล้วก็ต้องมีศักดิ์ศรี แล้วไม่ควรเป็นตัวอย่างแย่ ๆ ให้แก่เด็ก สนุกได้แต่ต้องอยู่ในขอบเขต เหมือนกับคำขวัญของโรงเรียนนี้ ‘อิสรภาพที่มีขอบเขต’
ถ้าดิฉันต้องตายทุกคนต้องดีใจนะ ไม่ต้องไปใส่สายระโยงระยาง เพราะถ้าต้องตายดิฉันจะได้ไปเกิดใหม่ เหมือน Ferrari คันใหม่ ตอนนี้รถบุโรทั่งมันวิ่งบ้างไม่วิ่งบ้าง แล้วจะไปยึดติดกับมันทำไม ถ้ายังต้องใช้มันอยู่ ดิฉันก็จะใช้มันให้ดีที่สุด แต่ถ้ามันหมดอายุขัยแล้ว ไปเกิดใหม่ก็จะได้หน้าตาสดใส แก้มแดง ตีลังกาได้ ก็ทำอะไรดี ๆ ไว้ เผื่อจะได้ไปเกิดเป็น Ferrari ไม่ใช่จักรยาน (หัวเราะ)”