แล้วการพบหมอจะไม่ใช่เครื่องน่ากังวลอีกต่อไป สำหรับเทรนด์การดูแลกายใจยั่งยืนที่เรียกว่า ‘Prescribing Nature’ เมื่อคุณหมอเขียนใบสั่งยาให้ออกไปสัมผัสธรรมชาติ เป็นแนวทางการรักษาโรคทางเลือก ที่ได้รับความสนใจในหลายประเทศ โดยแพทย์สามารถเขียนใบสั่งยาให้ผู้ป่วยออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งในสวน พื้นที่สีเขียว หรืออุทยานธรรมชาติ แทนการกินยารักษาโรค ซึ่งได้ผลลัพธ์ตอบรับที่ดีเกินคาด
‘Prescribing Nature’ ทำไมต้องสั่งจ่ายยาด้วยธรรมชาติ
‘Prescribing Nature’ หรือ การสั่งจ่ายยาด้วยการให้ออกไปพบธรรมชาติ อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กำลังได้รับความสนใจในวงการแพทย์กันมากขึ้น ทั้งยังเคยได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 8 เทรนด์ด้านสุขภาพและสุขภาวะประจำปี 2019
มีหลายงานวิจัยพบว่า ผู้ที่ใช้เวลาอย่างน้อย 120 นาที/สัปดาห์ ในสภาพแวดล้อมที่มีธรรมชาติมีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับคนที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติน้อยกว่า ทั้งยังช่วยลดความดันโลหิต ความวิตกกังวล และเพิ่มความสุขให้มากขึ้นในแต่ละวันได้
ที่เห็นชัดจากหลายงานวิจัยคือ ระดับของคอร์ติซอลลดลงอย่างเห็นได้ชัด คอร์ติซอลคือตัวชี้วัดระดับความเครียด นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดได้อีกด้วย
โดยการออกใบสั่งยานี้ ไม่ใช่แค่ออกไปเดินเที่ยว ไปพักผ่อนกับธรรมชาติเท่านั้น แต่จะมีลิสต์ให้ว่าเราต้องทำอะไรบ้าง โดยมีไกด์พิเศษที่จะพาไปสัมผัสกับธรรมชาติจริง ๆ พร้อมมีกิจกรรมให้ทำ เช่น งานอนุรักษ์ธรรมชาติ การปลูกพืช ทำสวน ดูแลสัตว์ในฟาร์ม การชื่นชมธรรมชาติ การพูดคุยในป่า
ประเทศต่าง ๆ ที่ใช้ ‘Prescribing Nature’
- ญี่ปุ่น ในปี 1982 ได้มีนักวิจัยคิดค้นศาสตร์ที่ชื่อว่าการอาบป่า หรือ Shinrin Yoku เป็นการซึมซับธรรมชาติทุกประสาทสัมผัสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยมีการประกาศอย่างเป็นทางการในโครงการสาธารณสุขแห่งชาติของประเทศ - สหรัฐอเมริกา ริเริ่มมีโปรแกรม Park Prescription (ParkRx) ในปี 2013 เป็นการสั่งจ่ายยาให้คนไข้ใช้เวลาในสวนสาธารณะและอุทยานแห่งชาติ ที่มาสามารถเช็กจากฐานข้อมูลเครือข่ายการจ่ายยาให้คนไข้ออกเดินป่ารวบรวมทั้งหมดไว้ที่เว็บไซต์ - แคนาดา ประกาศใช้โปรแกรม PaRx การสั่งจ่ายยาเป็นการเข้าไปทำกิจกรรมสำหรับในอุทยานแห่งชาติ ถือเป็นโครงการระดับประเทศเป็นที่แรกที่ใช้รูปแบบการสั่งจ่ายยาด้วย Prescribing Nature แพทย์ในแคนาดาสามารถออกบัตรผ่านให้คนไข้เข้าอุทยานแห่งชาติฟรี เพื่อใช้เวลากับธรรมชาติ
ธรรมชาติบำบัดอย่าง ‘Prescribing Nature’ นั้นออกจะถูกใจวัย Gen ยัง Active ที่ชื่นชอบท่องเที่ยวเสียด้วยซ้ำ แต่ไหน ๆ จะออกไปสัมผัสธรรมชาติทั้งที ก็ต้องไปอย่างยั่งยืนด้วย เรามีทริคท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มาฝาก ที่ใคร ๆ ก็สามารถทำตามได้
1. จัดกระเป๋าเท่าที่จำเป็น เพื่อลดน้ำหนักกระเป๋าให้เบาลง ซึ่งจะช่วยประหยัดน้ำมันยานพาหนะได้มาก 2. พกอุปกรณ์อาบน้ำไปเอง ช่วยลดการเกิดขยะพลาสติกได้อย่างดี 3. ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าเช็ดตัว หรือผ้าปูที่นอนทุกวัน เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำที่เกิดจากการซักล้าง 4. วางแผนการเดินทางทุกครั้ง เพื่อลดปริมาณน้ำมันในการขับรถตระเวนหาสถานที่ และประหยัดเวลาได้มาก 5. นำแก้วน้ำดื่มและกล่องข้าวไปเอง พร้อมปฏิเสธการรับหลอด ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ 6. นำขยะไปทิ้งข้างนอกอุทยานฯ ควรนำถุงสำหรับใส่ขยะไปด้วย ที่สำคัญอย่าลืมแยกขยะเพื่อช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่หลงเหลือในแหล่งธรรมชาติ 7. ห้ามขีดเขียนทำหลายแหล่งธรรมชาติ ควรเก็บมาแค่เพียงรูปถ่ายและความทรงจำดี ๆ เท่านั้น 8. ไม่นำของจากธรรมชาติกลับบ้านเด็ดขาด เพราะสิ่งเหล่านี้สวยงามที่สุดเมื่ออยู่กับแหล่งธรรมชาติต้นกำเนิดเท่านั้น 9. สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนแก่คนในพื้นที่และเป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
ยิ่งในช่วงเวลาที่โควิด-19 นี้ยังมา ๆ ไป ๆ ไม่หายไปอย่างถาวรสักที การอยู่ติดกับบ้านเป็นเวลานาน ๆ ก็ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม และอ่อนเพลียอ่อนล้า การได้ออกเดินทางไปสัมผัสธรรมชาติ ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ท่ามกลางความเขียวขจี จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจของชาว Gen ยัง Active กลับมาสดใสมีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันที่หมอต้องสั่งใบจ่ายยาให้กับเรา
เอกสารอ้างอิง: Sanook!. (2565, มกราคม, 30). Prescribing Nature ใบสั่งยาให้ออกไปหาธรรมชาติ (2567, ตุลาคม, 15) https://www.sanook.com/men/77121/ ไทยรัฐออนไลน์. (2565, มิถุนายน, 5). 11 วิธีท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบยั่งยืน ไม่ทำร้ายโลก รักษ์สิ่งแวดล้อม (2567, ตุลาคม, 15) https://www.thairath.co.th/lifestyle/travel/2411300