line
เมนู
ไลฟ์สไตล์

‘วีลแชร์ควบคุมด้วยสายตา’ เพื่อชีวิตสุขเสรีของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

แค่มองก็เคลื่อนที่ได้! ให้ชีวิตเป็นเรื่องง่าย ด้วยนวัตกรรมสุดเจ๋งฝีมือคนไทย
แชร์บทความนี้
line
line
line

เมื่อหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน และหลอดเลือดสมองแตก กลายเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของโลก และยังเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการระดับรุนแรง จึงไม่น่าแปลกใจที่ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเกิดใหม่ราว 15 ล้านราย ในจำนวนนี้ เสียชีวิตประมาณ 5 ล้านราย และอีก 2 ใน 3 กลายเป็นคนพิการถาวร

ศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะมาผ่อนหนักเป็นเบา นั่นคือ วิศวกรรมชีวการแพทย์เพื่อสุขภาพ หรือ Bio-Medical Engineering ซึ่งมีวิวัฒนาการก้าวไกลไม่หยุดยั้ง เพราะก่อนหน้านี้มีผู้สร้างวีลแชร์ไฟฟ้าบังคับด้วยสมอง วีลแชร์ไฟฟ้าบังคับด้วยใบหน้า และวีลแชร์บังคับด้วยเสียงเกิดขึ้นแล้ว มาในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นที่สุด เมื่อผลงานคนไทยได้มีโอกาสไปสร้างความฮือฮาถึงเวทีประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติที่ประเทศจีน กับนวัตกรรมวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะควบคุมด้วยสายตา (Smart Wheelchair Based on Eye Tracking) โดยทีมนักศึกษาและอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งสามารถคว้ารางวัล Silver Award มาครองจากเวทีแข่งขันนวัตกรรมระดับโลก International Contest of Innovation 2017 หรือ iCAN ที่เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน

จากข้อจำกัดสู่ความเป็นไปได้ไม่รู้จบ

เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย และมีผู้พิการเพิ่มมากขึ้น เฉพาะที่ลงทะเบียนมีจำนวนรวม 2.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 3 – 5% ต้องทุกข์ทรมานจากอัมพฤกษ์อัมพาต โดยคาดว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยใหม่ที่เป็นอัมพาตปีละกว่า 150,000 ราย วีลแชร์จึงเป็นอุปกรณ์สำคัญในการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเหล่านี้ รวมทั้งผู้สูงวัยและผู้พิการอื่น ๆ ด้วย ซึ่งจากการสำรวจพบว่าวีลแชร์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่มีในท้องตลาดมักจะควบคุมการใช้งานด้วยจอยสติ๊ก

โดยวีลแชร์ที่ใช้กันอยู่นั้น ผู้ป่วยอัมพาตชนิด ALS หรือ พาร์กินสัน จะควบคุมการเคลื่อนที่ของวีลแชร์ได้ยาก เป็นเหตุให้ก่อนหน้านี้มีทีมนักวิจัยที่ได้ออกแบบสร้างวีลแชร์ไฟฟ้าที่บังคับด้วยเสียง (Voiced-control system), วีลแชร์ที่บังคับด้วยสมอง (Brain-control system) และวีลแชร์ที่บังคับด้วยใบหน้า Face Control System)

แต่วีลแชร์ 2 ชนิดนี้ก็ยังพบว่าประสบปัญหาด้านประสิทธิภาพใช้งาน เมื่อมีสภาพแวดล้อมเสียงดังรบกวนอยู่ดี

ด้วยเหตุนี้ทีมคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. จึงได้วิจัยพัฒนาวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะควบคุมด้วยสายตา (Smart Wheelchair based on Eye Tracking) ที่ปฎิบัติการควบคุมการเคลื่อนไหวของวีลแชร์ด้วยเทคโนโลยี Eye tracking เพียงสายตาจ้องไปยังทิศทางที่ต้องการจะไป วีลแชร์นี้ก็จะเคลื่อนตัวมุ่งไปยังทิศทางนั้นทันที นอกจากนั้นวีลแชร์นี้ยังมีจุดเด่นน้ำหนักเบาและมีวิธีการใช้งานที่เข้าใจง่าย

และระบบการควบคุมของวีลแชร์นี้ยังสามารถบังคับอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระยะไกล และสื่อสารติดต่อกับแพทย์ผู้ดูแลสุขภาพผ่านการแจ้งข้อความในสมาร์ทโฟนได้ด้วย

รูปภาพจาก : MGR Online

แค่มองก็เคลื่อนที่ได้! หลักการทำงานของวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ

วีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะบังคับด้วยสายตานี้ มีความโดดเด่นตรงที่ตัววีลแชร์จะมีเครื่องมือตรวจจับความเคลื่อนไหวของดวงตา ที่จะคอยตรวจจับการเคลื่อนไหวของดวงตาผู้ที่ใช้งาน ซึ่งติดตั้งอยู่กับจอแสดงผลโดยจะมีคำสั่งต่าง ๆ ที่สามารถมองได้อย่างชัดเจน โดยบนจอแสดงผลของวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะนี้จะมีสัญลักษณ์คำสั่งต่างๆ ที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้ เพียงแค่มองไปยังสัญลักษณ์นั้น เพื่อสั่งงานตามความต้องการ โดยมีคำสั่งพื้นฐานของวีลแชร์นี้ก็จะประกอบไปด้วยการสั่งให้วีลแชร์เลี้ยวซ้าย – เลี้ยวขวา หรือเคลื่อนไปข้างหน้า ด้วยการมองไปยังสัญลักษณ์นั้น ระบบก็จะมีการประมวลผล พร้อมสั่งงาน เหมือนกับการคลิกเมาส์ในระบบคอมพิวเตอร์ทั่วไป ซึ่งสะดวกและใช้งานง่ายมากสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้

สุดท้ายแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถลิงค์ระบบอัจฉริยะนี้เข้ากับระบบบ้านอยู่อาศัยแบบ Smart Home ได้ด้วยคำสั่งบนหน้าจอที่เป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นมา ทั้งการควบคุมระบบไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ภายในบ้าน เช่น เปิด-ปิดประตูบ้าน โคมไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ หรือแม้แต่โทรทัศน์ก็ยังได้ นอกจากนี้ยังสามารถสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับผู้ดูแล ผ่านการส่งข้อความไปยังสมาร์ทโฟนของผู้ดูแลว่าผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือ หรือเกิดเหตุฉุกเฉินอะไรขึ้นด้วย

ที่สุดแล้ว ได้แต่คาดหวังว่า หากวีลแชร์นี้สามารถนำมาผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ หรือต่อยอดเพิ่มเติมเพื่อผลิตและจำหน่ายในราคาประหยัดให้กับผู้ป่วยหรือผู้พิการรายได้น้อย คงจะช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยให้ดีขึ้นอย่างน่าชื่นใจ

เอกสารอ้างอิง:
MGR Online. (2561, มีนาคม, 26). วีลแชร์อัจฉริยะควบคุมด้วยสายตาเพื่อผู้สูงวัย-ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต. (2567, สิงหาคม, 28) https://mgronline.com/science/detail/9610000029991
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. สถานการณ์ปัจจุบันของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง. (2567, สิงหาคม, 28) https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/sirirajonline2021/Article_files/1256_1.pdf

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว