ปัจจุบันโรคภูมิแพ้กลายเป็นโรคยอดฮิต ซึ่งชาว Gen ยัง Active บางคนคงเคยมีอาการ หรือมีคนรู้จักเป็นโรคภูมิแพ้กันมาบ้าง เพราะโรคภูมิแพ้สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยในแต่ละปีคนไทยในทุกช่วงวัยมากกว่า 30 - 40% จะต้องเผชิญกับโรคภูมิแพ้ ที่กำลังมีอัตราการเกิดสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด¹
โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งมีแนวโน้มเป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อคนเรามีอายุยืนยาวมากขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันจะเสียสมดุลไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการขาดแร่ธาตุและสารอาหารบางตัว เช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามินดี ทั้งหมดนี้คือปัจจัยโดยรวมที่ทำให้แนวโน้มการเกิดโรคภูมิแพ้ในกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย²
โรคภูมิแพ้ (Allergies) คืออะไร³
โรคภูมิแพ้ (Allergies) เกิดจากภาวะผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยที่ร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างเฉียบพลันต่อสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคือง ที่พบได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ผ่านการรับประทาน หายใจ หรือสัมผัส โดยระบบภูมิคุ้มกันจะเร่งผลิตสารเคมีที่มีฮิสตามีนเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อไปต่อสู้กับสารก่อภูมิแพ้ที่ร่างกายคิดว่าเป็นอันตราย ทำให้เราเกิดอาการแพ้ต่าง ๆ
ทั้งนี้อาการแพ้อาจเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ และสามารถเกิดขึ้นได้ถึงไม่เคยแสดงอาการมาก่อน สำหรับผู้สูงอายุ อาการภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ผิวหนัง และภูมิแพ้อาหาร⁴
โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
เมื่อก้าวเข้าสู่วัย Gen ยัง Active การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้เป็นระยะเวลานาน มิได้ช่วยให้ร่างกายปรับตัวได้มากขึ้น แต่กลับทำให้ไวต่อการแพ้มากกว่าเดิม² อีกทั้งระบบภูมิคุ้มกันจะเสียสมดุลไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุบางรายเกิดอาการแพ้อากาศเมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลง สารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยในอากาศ ได้แก่ ละอองเกสร ไรฝุ่น อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากการระคายเคืองจากมลพิษต่าง ๆ
อาการแพ้อากาศ ได้แก่ คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล หายใจลําบาก อาจมีอาการคันตา เคืองตา น้ำตาไหล ร่วมด้วย และในฤดูหนาว ผู้สูงอายุที่แพ้อากาศอาจมีอาการคันผิวหนัง ทำให้เป็นผื่น และผิวหนังอักเสบ²
สำหรับผู้สูงอายุ การรับประทานยาแก้แพ้อากาศ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ที่ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะต่อผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือภาวะทางการแพทย์อื่นๆ⁵
แนวทางป้องกันภูมิแพ้ทางเดินหายใจสำหรับผู้สูงอายุ⁶
- รักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัยไม่ให้มีฝุ่น ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ - หลีกเลี่ยงการอยู่ข้างนอกอาคาร เพราะมีโอกาสสัมผัสกับละอองเกสร และมลภาวะอย่างฝุ่นพิษ PM2.5 - ในช่วงที่มีอาการกำเริบ งดทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการแพ้อากาศ เช่น การตัดหญ้า ตัดต้นไม้ กำจัดวัชพืช - หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด และอากาศถ่ายเทไม่สะดวก - ใช้ยาต้านภูมิแพ้ตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี
โรคภูมิแพ้ผิวหนัง
เกิดจากการสัมผัสตัวกระตุ้นหรือสารก่อภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นไรฝุ่นหรือสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ และนำไปสู่อาการแพ้ทางผิวหนัง เช่น ผื่นแดง คัน บริเวณที่ไปสัมผัสสิ่งกระตุ้น ซึ่งโดยปกติผิวหนังของผู้สูงอายุจะแห้งกว่าวัยเด็กหรือวัยหนุ่มสาวอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อเริ่มมีอาการภูมิแพ้ทางผิวหนัง อาจจะทำให้ลุกลามรุนแรงได้ง่ายกว่า²
แนวทางป้องกันภูมิแพ้ผิวหนังในผู้สูงอายุ⁷
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้เกิดโรค เช่น ดูแลความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ ห้อง และบ้านอยู่สม่ำเสมอ เพื่อเลี่ยงการสะสมของไรฝุ่น หากสัมผัสกับสิ่งกระตุ้น ควรรีบทำความสะอาดร่างกายทันที - ดูแลผิวให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ หมั่นทาโลชั่นเป็นประจำหลังอาบน้ำ
โรคภูมิแพ้อาหาร²
Gen ยัง Active หลายคนมักเข้าใจผิดว่า การแพ้อาหารเป็นอาการแพ้ที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก แต่แท้จริงแล้ว การแพ้อาหารสามารถเกิดขึ้นได้ในวัยผู้ใหญ่และวัยสูงอายุได้เช่นกัน โดยอาหารทะเลเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุด ในบางครั้งผู้ที่แพ้อาหารอาจรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
แนวทางป้องกันภูมิแพ้อาหารในผู้สูงอายุ
เพราะภูมิแพ้อาหารในผู้สูงอายุเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่ละคนสามารถแพ้อาหารได้แตกต่างกันไป ดังนั้น สิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการแพ้อาหาร คือต้องทราบสาเหตุของการแพ้ให้ชัดเจน และใส่ใจส่วนประกอบของอาหารที่รับประทานอยู่เสมอ
ทริคห่างไกลโรคภูมิแพ้ฉบับ Gen ยัง Active
ถึงแม้ว่าโรคภูมิแพ้โดยทั่วไป จะเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่การทราบสาเหตุของการแพ้ รวมถึงการทดสอบอาการแพ้ตามความเหมาะสม ก็จะทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้⁸
โดยหากชาว Gen ยัง Active คนไหนจะจัดทริปเที่ยวให้สุขใจ หากรู้ตัวว่ามีประวัติแพ้อาหารชนิดใดก็ต้องหลีกเลี่ยง เพราะการทดลองชิมเพียงเล็กน้อยอาจเกิดปัญหาตามมาได้ หรือหากเป็นไปได้ พยายามเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่กระตุ้นภูมิแพ้ เช่น หากระบบทางเดินหายใจไม่เอื้ออำนวย ควรหลีกเลี่ยงเที่ยวบนภูเขา ดอยสูงที่มีออกซิเจนต่ำ เพราะอาจส่งผลต่อสภาพร่างกายจนทำให้ภูมิแพ้กำเริบได้เช่นกัน
นอกจากนี้การหมั่นดูแลร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะสามารถช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เมื่อผู้สูงอายุเดินทางท่องเที่ยว อย่าลืมพกยาประจำตัวไปด้วย เพียงเท่านี้ก็จะเที่ยวได้อย่างมีความสุข ไม่เสี่ยงโรคภูมิแพ้ให้รำคาญใจแล้ว
เรียบเรียงโดย : รศ. ดร. นพ.พงศกร ตันติลีปิกร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์หู คอ จมูก และศูนย์โรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
เอกสารอ้างอิง 1. Davies, D. (2023, May 30). Why our allergies are getting worse —and what to do about it. NPR. https://www.npr.org/sections/health-shots/2023/05/30/1178433166/theresa-macphail-allergic-allergies 2. De Martinis, M., Sirufo, M. M., & Ginaldi, L. (2017). Allergy and Aging: An Old/New Emerging Health Issue. Aging and disease, 8(2), 162–175. https://doi.org/10.14336/AD.2016.0831 3. Allergies. (n.d.). Cleveland Clinic. Retrieved May 7, 2024, from https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/8610-allergies 4. Sadick, B. (2023, April 10). 5 types of allergies that can become more common with age. AARP. https://www.aarp.org/health/conditions-treatments/info-2022/allergies-as-you-age.html 5. Medications and older adults. (n.d.). Aaaai.org. Retrieved April 25, 2024, from https://www.aaaai.org/tools-for-the-public/conditions-library/allergies/medications-and-older-adults 6. Hossenbaccus, L., Linton, S., Garvey, S. et al. Towards definitive management of allergic rhinitis: best use of new and established therapies. Allergy Asthma Clin Immunol 16, 39 (2020). https://doi.org/10.1186/s13223-020-00436-y 7. Tanei R. (2020). Atopic Dermatitis in Older Adults: A Review of Treatment Options. Drugs & aging, 37(3), 149–160. https://doi.org/10.1007/s40266-020-00750-5 8. Nichols, H. (2021, March 30). How to get rid of allergies: Treatment, prevention, and causes. Medicalnewstoday.com. https://www.medicalnewstoday.com/articles/how-to-get-rid-of-allergies
NP-TH-NA-WCNT-240016