line
เมนู
รู้แล้วยัง

โรคไอกรนในผู้ใหญ่ ลดเสี่ยงได้ด้วยวัคซีน

สร้างภูมิคุ้มกัน คลายกังวลทั้งครอบครัว
แชร์บทความนี้
line
line
line

เมื่อพูดถึงโรคในระบบทางเดินหายใจ หลายคนมักเข้าใจว่ามีเพียงโรคหวัด, โรคไข้หวัดใหญ่, โควิด-19 และโรค RSV แต่ยังมี ‘โรคไอกรน’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพไม่แพ้กัน และหลายต่อหลายครั้งที่เราเคยได้ยินมาว่า โรคไอกรน เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่มักพบในเด็กเล็กเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ ผู้ใหญ่ก็สามารถป่วยได้เช่นกัน หากดูแลสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร

ชวนเหล่า Gen ยัง Active มาศึกษาข้อมูลของโรคไอกรน ว่ามีสาเหตุเกิดจากอะไร อาการที่สังเกตเห็นได้ชัดมีอะไรบ้าง และมีวิธีรักษา วิธีป้องกันอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคไอกรน เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวมีสุขภาพดีไปด้วยกัน

รู้จัก ‘โรคไอกรน’ ให้มากขึ้น

‘โรคไอกรน’ เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Bordetella pertussis เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม หรือมีน้ำมูก ก็จะสามารถเเพร่เชื้อต่อไปยังคนอื่น ๆ ได้ ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ และเกิดอาการไอที่มีลักษณะพิเศษคือ ไอซ้อน ๆ ติด ๆ กัน 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น

โรคไอกรน มักระบาดในกลุ่มของเด็กทารกและเด็กเล็ก หากอายุต่ำกว่า 1 ขวบและยังไม่ได้รับวัคซีน หากเป็นโรคนี้ จะมีอาการหายใจไม่ทัน และมีอาการหายใจเข้าลึก ๆ เป็นเสียงวู๊ป (Whooping cough) สลับกันไปกับการไอเป็นชุด ๆ จึงมีชื่อเรียกว่า ‘โรคไอกรน’ บางครั้งอาการอาจจะเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน หากเป็นในวัยผู้ใหญ่จึงเรียกว่า ‘โรคไอร้อยวัน’

ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคไอกรน?

โรคไอกรนพบได้บ่อยในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัว ซึ่งมีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่มาก โรคไอกรนเป็นได้กับทารกตั้งแต่เดือนแรก ทั้งนี้ ภูมิคุ้มกันธรรมชาติจากแม่จะผ่านมาที่เด็กแรกเกิดน้อย เว้นเเต่มีการฉีดวัคซีนไอกรนในแม่ตั้งครรภ์ ดังนั้น ในเด็กเล็กมีโอกาสที่อาการจะรุนแรงมากและมีอัตราตายสูง

โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้เป็นได้ทุกช่วงวัยถ้าไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ในวัยหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่อาจไม่มีอาการ หรือไม่มีอาการแบบไอกรน ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน

ในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ หากได้รับวัคซีนครบและได้รับวัคซีนกระตุ้นแล้ว อาการมักจะเบาลงมาก หรืออาจจะไม่มีอาการเลยก็ได้

แม้ว่าโรคไอกรนในผู้ใหญ่จะไม่รุนแรงเท่าเด็กเล็ก แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่างโดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว เช่น อาการไอกระทบต่อชีวิตประจำวัน รบกวนการนอนหลับ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า อีกทั้งในผู้ใหญ่บางคนที่ติดเชื้อแล้วแต่ไม่แสดงอาการ ก็อาจเป็นพาหะนำโรคไปสู่ผู้อื่นได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กในครอบครัว

แนวทางการรักษาโรคไอกรน

โรคไอกรนเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา เพื่อฆ่าเชื้อและลดการแพร่กระจายของโรค ร่วมกับการรักษาตามอาการ

โรคไอกรน ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

ในประเทศไทย อุบัติการณ์ของโรคไอกรนลดลงมาก ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มระดับความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก

การป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับโรคไอกรน คือการฉีดวัคซีน ในเด็กเล็ก ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนเมื่อตอนอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และได้รับการกระตุ้นที่ 18 เดือน และ 4-5 ปี

ซึ่งจะเห็นได้ว่า กว่าเด็กจะได้รับวัคซีน 3 เข็ม ต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน และดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า ในเด็กเล็ก มักมีอาการรุนแรงกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันเด็กเล็กไม่ให้ป่วยหนัก จึงมีคำแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ ฉีดวัคซีนไอกรนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และส่งต่อภูมิคุ้มกันไปยังทารกในครรภ์ได้ และในผู้ใหญ่ที่อยู่ในบ้านที่มีเด็กทารกอยู่ ก็ควรรับวัคซีนด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นพาหะนำโรคมาสู่ลูกหลาน

ความสำคัญของการฉีดวัคซีนไอกรนในผู้ใหญ่

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนอีก เพราะตอนเป็นเด็กฉีดวัคซีนครบแล้ว ร่างกายก็คงมีภูมิคุ้มกันโรคอยู่แล้ว แต่อันที่จริง วัยผู้ใหญ่ยังคงต้องรับวัคซีนบางชนิดอยู่ เช่นเดียวกันกับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน สำหรับวัย Gen ยัง Active ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไอกรนแล้ว แนะนำให้รับวัคซีนรวมที่ป้องกันได้ทั้งโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก ควรฉีดซ้ำเพื่อกระตุ้นทุก 10 ปี เพื่อให้คงประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้อย่างครอบคลุม

วัคซีนป้องกันโรคไอกรนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ในหญิงตั้งครรภ์ และในวัยผู้ใหญ่ การฉีดวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณเองและคนที่คุณรักและห่วงใย

เรียบเรียงโดย : พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล
รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

เอกสารอ้างอิง
1. กรมควบคุมโรค. (n.d.). ไอกรน (Whooping Cough). กรมควบคุมโรค. Retrieved December 2, 2024, from https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=29

NP-TH-NA-WCNT-240047-12/24

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว