ชวน Gen ยัง Active เริ่มต้นใส่ใจดูแลสุขภาพด้วย 4 วัคซีนผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่หลายคนมองข้าม เพราะประโยชน์ของวัคซีนไม่ได้จำกัดอยู่แค่วัยเด็กเท่านั้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เมื่ออายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันลด วัคซีนผู้สูงอายุจึงเป็นตัวช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรคติดเชื้อต่าง ๆ ในผู้สูงอายุ ซึ่งการป้องกันโรคย่อมดีกว่าการเกิดโรคแล้วค่อยมารักษา
วัคซีนผู้สูงอายุคืออะไร “ทำไมควรฉีด?”
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ‘วัคซีน’ คือ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ทำจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ที่ถูกทำให้อ่อนกำลังลงอย่างมาก หรือทำให้ตายหรือสกัดบางส่วนของเชื้อ แล้วนำมาฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้ร่างกายสามารถกำจัดเชื้อได้รวดเร็วหลังจากมีภูมิคุ้มกันแล้ว
ส่วนเหตุผลที่ควรฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ เพราะเมื่อเราอายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันจะลดลง เนื่องจากการทำงานของภูมิคุ้มกันเสื่อมถอย ผู้สูงอายุจึงเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อมากขึ้น หากเกิดโรคติดเชื้อก็มักหายช้าหรือต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน การเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนผู้สูงอายุจึงช่วยลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยที่อาจยาวนานและรุนแรงได้อย่างมาก
4 วัคซีนผู้สูงอายุจำเป็น “ฉีดก่อน ลดเสี่ยง”
1. วัคซีนไข้หวัดใหญ่
‘โรคไข้หวัดใหญ่’ เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่พบบ่อยและมักจะมีการระบาดช่วงฤดูฝน อาการโดยทั่วไปอาจจะทำให้เป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามตัว ในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงอาการจะหายเองในเวลา 3-5 วัน แต่ในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน มักมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
วัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงเป็นหนึ่งในวัคซีนผู้สูงอายุที่จำเป็น โดยในแต่ละปีจะมีการคัดเลือกสายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ที่มีแนวโน้มจะระบาดมาผลิตเป็นวัคซีนประจำฤดูกาล เนื่องจากในแต่ละปีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อาจจะมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ และในทุกปีร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันได้ลดลงด้วย การรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลทุกปี จึงช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
2. วัคซีนปอดอักเสบ และโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส
‘โรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส’ (Pneumococcal disease) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง โดยเชื้อจะติดต่อเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัสเชื้อเข้าสู่เยื่อบุจมูกหรือลำคอ หากเกิดการติดเชื้อจะก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบเฉียบพลัน ทำให้ไอมีเสมหะ หอบเหนื่อย มีไข้ และหากเชื้อรุกรานมากขึ้นจะกลายเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสแบบรุกราน (Invasive pneumococcal disease) หมายถึง เกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิตหรือโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสแบบรุกรานได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาว การรับวัคซีนผู้สูงอายุดังกล่าวจึงช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
3. วัคซีนงูสวัด
อีกหนึ่งวัคซีนผู้สูงอายุที่สำคัญคือ ‘วัคซีนงูสวัด’ โดยโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส ซึ่งมักแฝงตัวโดยไม่ก่ออาการในปมประสาทบริเวณใกล้ไขสันหลัง เมื่ออายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันลด จะทำให้เชื้อเหล่านี้ออกมาจากปมประสาทและเกิดการอักเสบตามแนวเส้นประสาท ทำให้เกิดตุ่มน้ำที่ผิวหนังและมีอาการแสบร้อน แม้ตุ่มน้ำจะหายแล้ว อาการแสบร้อนยังคงอยู่ได้เป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ดังนั้นจึงมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนงูสวัดในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันโรคดังกล่าว
4. วัคซีนโรคคอตีบ-บาดทะยัก
วัคซีนนี้ได้รวมวัคซีนสำหรับโรครุนแรง 2 โรค ประกอบด้วย
1) ‘โรคคอตีบ’ เป็นโรคคออักเสบรุนแรงจากแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อนี้จะสร้างแผ่นเยื่อขาวเกาะอยู่ที่คอหอย ทำให้เสียชีวิตจากทางเดินหายใจอุดกั้นหรือเสียชีวิตจากสารพิษที่เชื้อสร้างขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและปลายประสาทอักเสบ
2) ‘โรคบาดทะยัก’ เกิดจากสารพิษของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อนี้จะเจริญเติบโตได้ในบาดแผลลึกหรือแผลเน่าเปื่อย และสร้างสารพิษปล่อยเข้ากระแสโลหิต ทำให้เกิดภาวะชักเกร็ง กล้ามเนื้อไม่ทำงานและหยุดหายใจได้
“ตอบข้อสงสัย คลายกังวล” ก่อนฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ
หลายคนอาจมีความกังวลในการฉีดวัคซีน แต่อันที่จริงแล้วผลข้างเคียงจากวัคซีนมักเป็นผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงและไม่ได้เกิดกับทุกคน โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น อาการปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน หรือมีไข้ต่ำ ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะหายได้เองในเวลา 1-2 วัน อย่างไรก็ตาม หากกำลังมีไข้หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน แนะนำว่าควรให้หายดีแล้วจึงมารับวัคซีนในภายหลังเพื่อความปลอดภัย
ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวก็สามารถรับวัคซีนได้และได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน แต่หากมีโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือรับประทานยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันควรขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อพิจารณารับเฉพาะวัคซีนชนิดไม่มีเชื้อหรือวัคซีนเชื้อตาย และหลีกเลี่ยงวัคซีนที่มีเชื้ออ่อนกำลัง เพราะผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำอาจติดเชื้อจากวัคซีนที่มีเชื้ออ่อนกำลังได้ หากไม่มั่นใจว่าโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ทำให้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือไม่ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่ดูแลประจำก่อนรับวัคซีนเพื่อความมั่นใจ
เป้าหมายสำคัญในการดูแลตัวเองคือการส่งเสริมสุขภาพให้ยังคงแข็งแรง สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการได้รับวัคซีนผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรค และช่วยลดความรุนแรงของอาการเจ็บป่วยได้นั่นเอง
เรียบเรียงโดย : อ.นพ.เอกภพ หมอกพรม สาขาวิชาอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เอกสารอ้างอิง หมอกพรม, อ. (2563, ตุลาคม 26). วัคซีนกับผู้สูงอายุ. SiMahidol. www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/sirirajonline2021/Article_files/1440_1.pdf
NP-TH-NA-WCNT-230014