line
เมนู
รู้แล้วยัง

เจาะลึก 6 วัคซีนจำเป็นวัย Gen ยัง Active

สร้างเกราะป้องกันภูมิคุ้มกันไว้ อุ่นใจชัวร์
แชร์บทความนี้
line
line
line

สำหรับวัย 50+ นอกจากโรคภัยตามฤดูกาลและโรคประจำตัวจากความเสื่อมของร่างกายที่ต้องใส่ใจดูแลกันเป็นพิเศษแล้ว การดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีเพื่อกันการเกิดโรค และอีกทางเลือกหนึ่งคือการรับวัคซีนตามรอบกำหนดที่ควรฉีดตามอายุ หรือสภาวะบางอย่างที่มีข้อบ่งชี้ให้รับวัคซีนก็สำคัญสำหรับวัย Gen ยัง Active ไม่แพ้กัน

ทำไมผู้สูงอายุถึงยังต้องฉีดวัคซีน ?

เพราะวัคซีนที่ฉีดเมื่อตอนเด็กบางชนิดนั้นไม่สามารถป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นจะทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดน้อยลง¹ ผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นด้วยเช่นกัน การฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรค อย่างไรก็ตาม ควรพบแพทย์ก่อนเข้ารับฉีดวัคซีนเพื่อตรวจสุขภาพเบื้องต้น พร้อมรับคำแนะนำเกี่ยวกับรายละเอียดของวัคซีนแต่ละชนิด

เช็คลิสต์ 6 วัคซีนสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ²

วัคซีนที่ผู้สูงอายุควรฉีดมีอะไรบ้าง แต่ละชนิดควรฉีดกี่ครั้ง กี่เข็ม มีข้อดีและผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง ดังนี้

1. วัคซีนไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ไม่ใช่แค่ไข้หวัดธรรมดา สามารถทำให้ปอดบวม อาการไอรุนแรง เหนื่อยและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ ในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว อัตราการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ก็สูงตามไปด้วย³

คำแนะนำ : ผู้สูงอายุควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

อาการข้างเคียง : อาจปวดบริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยตัว²

2. วัคซีนปอดอักเสบ นิวโมค็อกคัส

โรคปอดอักเสบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง ไปจนถึงทำให้พิการและเสียชีวิตได้⁴ ผู้ที่ควรได้รับคือ ผู้ที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี

คำแนะนำ : ฉีดวัคซีนนิวโมค็อกคัสชนิด 13 สายพันธุ์ 1 เข็มก่อน หลังจากนั้นอีก 1 ปี ฉีดชนิด 23 สายพันธุ์ อีก 1 เข็ม 

อาการข้างเคียง:  ปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด, มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว² 

3. วัคซีนบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน

โรคบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีอาการ ดังนี้⁵⁻⁷

  • โรคบาดทะยัก ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งทั่วตัว กลืนลำบากและเสียชีวิตได้
  • โรคคอตีบ อาการคือ มีปื้นสีขาวบริเวณภายในช่องคอและเพดานปาก ทำให้หายใจลำบาก เป็นอัมพาตและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • โรคไอกรน อาการคือ ไอมีเสียงก้อง สามารถติดเชื้อทางเดินหายใจแบบรุนแรง 

คำแนะนำ : ผู้สูงอายุควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน 1 เข็ม จากนั้นกระตุ้นด้วยวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก-คอตีบ ทุก 10 ปี

อาการข้างเคียง : ส่วนใหญ่มักไม่มีปัญหาใด แต่อาจปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด ให้ประคบเย็น โดยอาการมักหายเองภายใน 1-2 วัน นอกจากนี้อาจพบว่ามีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย รู้สึกอ่อนเพลีย²

4. วัคซีนโรคงูสวัด

เกิดจากมาจากไวรัส Varicella Zoster ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส หลังจากเป็นโรคอีสุกอีใสไวรัสจะยังหลบอยู่ภายในร่างกาย เมื่ออายุมากขึ้น และมีภาวะเครียด ร่างกายอ่อนแอ อาจทำให้เกิดโรคงูสวัดได้ โดยมักมีอาการเป็นตุ่มน้ำพุพองที่ผิวหนัง ปวดแสบปวดร้อนตามแนวเส้นประสาท และแม้ตุ่มน้ำจะหายไปแล้ว แต่อาการแสบร้อนจะยังคงอยู่เป็นเวลาหลายเดือน รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก⁸

นอกจากนี้โรคงูสวัดสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งถึงแม้ว่าวัคซีนไม่สามารถป้องกันงูสวัดได้ 100% แต่วัคซีนสามารถลดอาการปวดแสบร้อนปลายประสาท และลดความรุนแรงของโรคได้

คำแนะนำ : ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนจำนวน 2 เข็มห่างกัน 2-6 เดือน

อาการข้างเคียง : แดง บวม คัน บริเวณที่ฉีดวัคซีน บางรายปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ไข้ คลื่นไส้²

5. วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอและบี

ไวรัสตับอักเสบเอ สามารถติดต่อได้จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส โดยสามารถทำให้เกิดโรคตับอักเสบรุนแรงและตับวาย⁹

ไวรัสตับอักเสบบี สามารถติดผ่านทางสารคัดหลั่งจากร่างกาย ผู้ที่ติดเชื้ออาจไม่มีอาการ ไปจนถึงตับอักเสบแบบรุนแรง ผู้ที่เคยติดเชื้อบางรายร่างกายสามารถกำจัดไวรัสและสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้เอง หากร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ อาจเกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว คือ ตับถูกทำลายกลายเป็นตับแข็ง และพบว่าการติดเชื้อเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในการเกิดมะเร็งตับ¹⁰

คำแนะนำ: ตรวจเลือดหาภูมิก่อนการรับวัคซีน หากไม่มีภูมิควรรับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี จำนวน 3 เข็ม โดยเข็มที่ 2 และ 3 ให้ฉีดห่างจากเข็มแรกที่ 1 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ

อาการข้างเคียง : อาจเจ็บบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ซึ่งจะหายภายใน 1-2 วัน²

6. วัคซีนโควิด-19

ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเปราะบาง และมีโรคประจำตัวกลุ่มเสี่ยง ดังนั้นผู้สูงอายุจึงจำเป็นที่ต้องได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19¹¹

คำแนะนำ :  แนะนำให้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ปีละ 1 เข็ม

อาการข้างเคียง : ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย มีไข้ต่ำ ๆ เป็นต้น อาการเหล่านี้มักจะหายไปเองภายใน 1-2 วัน²

การป้องกันโรคโดยทั่วไปสามารถทำได้ด้วยโดยการดูแลสุขภาพ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายและพักผ่อนอย่างเหมาะสม

เพราะเรื่องสุขภาพ รอไม่ได้ วัคซีน จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย เป็นการดูแลเชิงป้องกันและยังสามารถช่วยลดระดับความรุนแรงของบางโรคได้อีกด้วย ดีที่สุดคือไม่ควรรีรอกับเรื่องสุขภาพของตัวเราเองและคนที่เรารัก ผู้ที่มีความสนใจในการดูแลตนเองสามารถปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติมได้

เรียบเรียงโดย : จีเอสเค

เอกสารอ้างอิง:
1. Weiskopf D. et al. (2009). Transpl Int. 22, 1041–1050.
2. CDC. Adult immunization schedule by age [Internet]. CDC. 2024 [cited 2025 Mar 7]. Available from: https://www.cdc.gov/vaccines/hcp/imz-schedules/adult-age.html
3. CDC. Signs and symptoms of flu [Internet]. CDC. 2025 [cited 2025 Mar 7]. Available from: https://www.cdc.gov/flu/signs-symptoms/index.html
4. CDC. Pneumococcal disease symptoms and complications [Internet]. CDC. 2024 [cited 2025 Mar 7]. Available from: https://www.cdc.gov/pneumococcal/signs-symptoms/index.html
5. CDC. Diphtheria [Internet]. CDC. 2025 [cited 2025 Mar 7]. Available from: https://www.cdc.gov/diphtheria/about/index.html
6. CDC. Tetanus [Internet]. CDC. 2025 [cited 2025 Mar 7]. Available from: https://www.cdc.gov/tetanus/about/index.html
7. CDC. Whooping Cough (Pertussis) [Internet]. CDC. 2025 [cited 2025 Mar 7]. Available from: https://www.cdc.gov/pertussis/about/index.html
8. CDC. Clinical overview of shingles (herpes zoster) [Internet]. CDC. 2024 [cited 2025 Mar 7]. Available from: https://www.cdc.gov/shingles/hcp/clinical-overview/index.html
9. CDC. Hepatitis A [Internet]. CDC. 2024 [cited 2025 Mar 7]. Available from: https://www.cdc.gov/hepatitis-a/hcp/clinical-overview/index.html
10. CDC. Hepatitis B [Internet]. CDC. 2025 [cited 2025 Mar 7]. Available from: https://www.cdc.gov/hepatitis-b/hcp/clinical-overview/index.html
11. CDC. COVID-19 [Internet]. CDC. 2024 [cited 2025 Mar 7]. Available from: https://www.cdc.gov/covid/hcp/clinical-care/management-and-treatment.html

NP-TH-NA-WCNT-250001 | March 2025

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว