‘อร่อยปาก ลำบากไต’ หลายคนอาจเคยได้ยินวลีขำ ๆ เช่นนี้เมื่อได้กินของอร่อยรสจัด แม้จะดูเป็นเรื่องขำขัน แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่หลายคนอาจจะขำไม่ออกหากตัวเองกลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเสียเอง
ด้วยปัญหาโรคไต นับเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทยที่มีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี และพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มักทราบว่าตนเป็นโรคไตเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3-4 หรือระยะที่มีอาการป่วยปรากฏให้เห็นแล้ว ทำให้ไม่สามารถบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการฟอกไตที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึงปีละ 200,000 บาทต่อคนต่อปี
ฉะนั้นการได้รู้ตัวก่อนป่วยจึงสำคัญมาก แต่เมื่อการเข้าถึงการตรวจโรคไตยังเป็นอุปสรรค จึงเกิดความพยายามของทีมนักวิจัย นาโนเทค สวทช. ที่ได้หาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหานี้ และให้คนไทยได้รู้เท่าทันโรคไต โดยให้เข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตด้วยตัวเองมากขึ้น ผ่านการคิดค้นผลิตภัณฑ์หรือ “นวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคไตด้วยตัวเอง” ขึ้นได้สำเร็จ
จากปัญหาสาธารณสุข สู่ 2 นวัตกรรม ชุดตรวจคัดกรองโรคไต ฝีมือนักวิจัยไทย
จากปัญหาข้างต้น ได้กลายเป็นโจทย์สำคัญให้ ทีมวิจัย นาโนเทค สวทช. พัฒนา ชุดตรวจคัดกรองโรคไต เพื่อเป็นตัวช่วยลด “ช่องโหว่” ให้ประชาชนที่เดิมไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตได้ตั้งแต่ระยะต้น จากค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ค่อนข้างสูง รวมถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่ให้บริการตรวจยังมีไม่เพียงพอ
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือนาโนเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยทีมวิจัยที่นำโดย ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน สามารถสร้างนวัตกรรมชุดตรวจโรคไตสำเร็จแล้ว 2 เทคโนโลยี ประกอบด้วย ‘AL-Strip’ และ ‘GO-Sensor Albumin Test’
รูปภาพจาก : MGR ONLINE
‘AL-Strip’ ชุดตรวจโรคไต รู้ผลได้ใน 5 นาที
‘AL-Strip’ เป็นชุดตรวจโรคไตด้วยตัวเอง หรือ Test Kit ที่ประชาชนสามารถทำได้เอง โดยจะเหมือนกับชุดตรวจโควิด-19 เพียงแต่เปลี่ยนของเหลวจากเมือกในโพรงจมูก หรือน้ำลาย มาเป็นปัสสาวะแทน
นวัตกรรมตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรัง AL-Strip นี้ใช้งานได้ไม่ยาก เพียงแค่หยดปัสสาวะลงไปในช่องที่กำหนด ปัสสาวะจะทำปฏิกิริยากับน้ำยาที่อยู่ในชุดตรวจ โดยเมื่อหยอดปัสสาวะลงไป 5 นาที ก็จะทราบผลเบื้องต้นว่ามีอาการเสี่ยงป่วยด้วยโรคไตหรือไม่ หากขึ้นแถบสีแดง 2 ขีดก็แปลได้ว่า Negative หรือไม่มีความเสี่ยง แต่ถ้าขึ้นแถบสีแดงแค่แถบเดียว ก็จะเป็นค่า Positive ที่มีความเสี่ยง ซึ่งต้องพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
รูปภาพจาก : MGR ONLINE
การทำงานของชุดตรวจ AL-Strip นั้น จะอาศัยหลักการจับคู่กันระหว่างแอนติเจนกับแอนติบอดีแบบแข่งขัน ซึ่งจะทำให้เกิดค่าความไวในการตรวจวัดอัลบูมินซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นสารประกอบหลักของเลือดเจือปนอยู่ในปัสสาวะได้ตั้งแต่ 20 ug/mL พร้อมรายงานผลการตรวจเชิงคุณภาพออกมา และให้อ่านค่าได้ด้วยตาเปล่าภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที
“จุดเด่นของ AL-Strip คือตรวจได้เร็ว มีความแม่นยำอยู่ที่ 95-98% มีราคาถูกกว่าตรวจแบบทั่วไป เข้าถึงได้ง่าย ที่สำคัญคือนวัตกรรมชิ้นนี้มีความสามารถสูงในการตรวจหาไมโครอัลบูนินในปัสสาวะอย่างจำเพาะ ซึ่งมันมีความละเอียดในการตรวจได้มากขึ้น” ดร.เดือนเพ็ญ สะท้อนจุดแข็งของนวัตกรรมชิ้นนี้
รูปภาพจาก : MGR ONLINE
‘Go-Senser Albumin Test’ ชุดตรวจโรคไตเชิงปริมาณ เพื่อใช้วิเคราะห์ผลทางการแพทย์
มากไปกว่านั้นทีมนักวิจัยของ ดร.เดือนเพ็ญ ยังได้สร้างนวัตกรรมอีกชิ้นที่มีชื่อว่า Go-Senser Albumin Test หรือชุดตรวจโรคไตเชิงปริมาณ เพื่อใช้วิเคราะห์ผลทางการแพทย์ นับเป็นอีกเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ทุกสถานพยาบาลเข้าถึงอุปกรณ์การตรวจเชิงปริมาณเพื่อการดูแลรักษาคนไข้ในพื้นที่ โดยไม่ต้องส่งตัวคนไข้หรือส่งปัสสาวะ ไปตรวจยังสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมสูง
แม้ดูแล้วนวัตกรรมชิ้นนี้จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์การป้องกันโรคไตเรื้อรังในกลุ่มประชาชนคนไทยได้ และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองก่อนเป็นโรคที่ง่ายและสะดวก แต่คำถามที่ตามมาคือ เราจะได้ใช้งานจริงหรือไม่ และหากได้ใช้จริงแล้ว จะต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไร
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในระดับประเทศ ปัจจุบันนาโนเทค สวทช. กำลังสรรหาบริษัทเอกชนที่สนใจเข้ารับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อดำเนินการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ รวมถึงมีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดการนำผลงานทั้ง 2 เข้าสู่บัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกส่งเสริมให้สถานพยาบาลจัดซื้อนวัตกรรมทางการแพทย์ที่คนไทยผลิตไปใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต
เรียงเรียงโดย : จีเอสเค
เอกสารอ้างอิง: สวทช. (2566, ธันวาคม, 26). นาโนเทค สวทช. พัฒนา ‘ชุดตรวจโรคไตรู้ผลได้ใน 5 นาที’ มุ่งเพิ่มโอกาสคนไทยรอดพ้นจากโรคไตเรื้อรัง. (2567, ตุลาคม, 7) https://www.nstda.or.th/home/news_post/bcg-implementation-kidney-disease-test-kit/
NP-TH-NA-WCNT-240045