line
เมนู
รู้แล้วยัง

วันผู้สูงอายุสากล เสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงวัยให้แอคทีฟ ห่างไกลโรค

แชร์บทความนี้
line
line
line

เนื่องในวันผู้สูงอายุสากล (International Day of Older Persons) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดขึ้นเพื่อยกย่องและเชิดชูผู้สูงอายุที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม ด้วยประสบการณ์และความรู้ความเชี่ยวชาญในแวดวงสาขาต่าง ๆ¹ โครงการ Gen ยัง Active 50+ สนับสนุนให้ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปเตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสมในด้านสุขภาพ รวมถึงส่งเสริมการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และลดโอกาสในการเกิดโรค เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ มีอิสระและมีความสุขเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ภาคีเครือข่ายโครงการ Gen ยัง Active 50+ กล่าวว่า เมื่อเราก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ร่างกายมีความแข็งแรงน้อยลง และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ทำให้มีโอกาสเสี่ยงสูงขึ้นในการติดเชื้อและเป็นโรคต่าง ๆ ได้มากขึ้น² ไม่ว่าจะเป็นโรคทางกายที่เกิดจากภาวะทางกายและการบาดเจ็บจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น หกล้มจากการที่กล้ามเนื้อแข็งแรงน้อยลง โรคไม่ติดต่อที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น นอกจากนี้ โรคติดเชื้อสามารถพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุมากขึ้น เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด หากยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวหรือร่างกายยังแข็งแรงดี อาจจะยังไม่เคยเป็นโรคเหล่านี้ เช่น โรคงูสวัด และโรคติดเชื้อ RSV ดังนั้นการดูแลสุขภาพจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงคือด่านหน้าสำคัญ ที่ช่วยให้ร่างกายสามารถป้องกันโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“สำหรับโรคงูสวัด และโรคติดเชื้อ RSV ทั้ง 2 โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยโรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสตัวเดิมที่เราเคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน เมื่ออายุมากขึ้นระบบภูมิคุ้มกันลดลง³ หรือวัยทำงานที่มีความเครียด⁴ พักผ่อนน้อย⁵ ซึ่งอาจจะทำให้เป็นโรคงูสวัดได้ ขณะที่โรคติดเชื้อ RSV เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่มีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา คือ มีไข้สูง ไอ น้ำมูก แต่ในผู้สูงอายุอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดโรคปอดบวมร่วมด้วย⁶” นพ.นคร กล่าว

หากอยากมีสุขภาพที่ดีห่างไกลจากโรคต่าง ๆ ต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และมีกากใยสูงเพื่อเสริมการขับถ่าย ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำลายสุขภาพ เช่น อาหารที่มีไขมันสูง มีเกลือและน้ำตาลมากเกินไป ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายเสื่อมสภาพเร็วยิ่งขึ้น ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง จะช่วยให้ห่างไกลโรคไม่ติดต่อ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด เพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคที่ติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจได้ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการรับวัคซีน ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งในการป้องกันโรคต่าง ๆ สำหรับผู้สูงอายุ

นอกจากสุขภาพกายแล้วสุขภาพจิตก็มีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกัน ดังสุภาษิต ‘ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว’ ผู้สูงอายุที่มีความเครียดสะสมจากชีวิตประจำวันหรือภาระหน้าที่ต่าง ๆ อาจทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงและเกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น จึงควรจัดการกับความเครียดด้วยวิธีการทำสมาธิ หรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เพื่อดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงและมีความสุข

“ผู้สูงวัยยังสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ต่อเนื่อง เป็นหลักให้กับบ้านเมืองในแต่ละสาขาได้ เพราะฉะนั้นการดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงจะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถสูงวัยได้อย่างมีความสุข เพราะว่าสุดท้ายแล้ว สุขภาพคือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เงินทองก็ไม่สามารถซื้อสุขภาพที่ดีให้แก่เราได้ แต่ถ้าเราดำรงชีวิตอยู่ในหลักที่ถูกต้อง การดูแลร่างกายให้แข็งแรง ก็จะทำให้สุขภาพดีได้ ทั้งหมดนี้ก็จะช่วยให้เราสูงอายุอย่างสมวัยและสุขเสรีได้ สามารถเดินทางได้แบบมีความสุข” นพ.นคร กล่าวทิ้งท้าย

โครงการ Gen ยัง Active 50+ นำองค์ความรู้ความชำนาญจากองค์กรภาคีเครือข่าย นำโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สถาบันวัคซีนแห่งชาติ มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน กรมอนามัย GSK เอสซีจี และทรู ดิจิทัล กรุ๊ป มาเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์ม เว็บไซต์ www.genyoungactive.com และ LINE OA: @GenYoungActive เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ลดโอกาสการเกิดโรคหรือปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขเสรี

เรียบเรียงโดย : จีเอสเค

เอกสารอ้างอิง:
1. United Nations. (n.d.). International Day of Older Persons | united nations. Retrieved September 29, 2024, from https://www.un.org/en/observances/older-persons-day
2. Xu, W. (2020). Seminars in immunopathology, 42(5), 559–572.
3. Harpaz, R.(2008). MMWR. Recommendations and reports : Morbidity and mortality weekly report. Recommendations and reports, 57(RR-5), 1–CE4.
4. Schmidt, SA. (2021). The British journal of dermatology, 185(1), 130–138.
5. Chung, WS. (2016). Medicine, 95(11), e2195.
6. Kaler, J. et al. (2023). Cureus, 15(3), e36342.

NP-TH-NA-WCNT-240044-11/24

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว