line
เมนู
ไลฟ์สไตล์

สูงวัยรู้ทันภัยไซเบอร์ 7 รูปแบบภัยออนไลน์ที่วัย Gen ยัง Active ต้องระวัง

รู้เท่าทันกลโกงแก๊งคอลเซนเตอร์ วัยเก๋าอย่างเรารู้ก่อน รอดชัวร์!
แชร์บทความนี้
line
line
line

เปิดใจ ‘อาม่า’ โดนแก๊งคอลเซนเตอร์ หลอกซ้ำซ้อน
มิจฉาชีพหลอกผู้สูงอายุลงทุน สกุลเงินดิจิทัล เสียหายกว่า 20 ล้าน
ชายสูงวัยถูกตำรวจปลอมหลอกโอนเงิน สูญเงินกว่า 3 ล้าน
สุดช้ำ! ยายอายุ 75 ปี ถูกหลอกให้รัก สูญเงินกว่า 18 ล้านบาท

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข่าวสารในโลกออนไลน์ว่าด้วยวัยเก๋าอย่างเรา ๆ ที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซนเตอร์กันมากขึ้น สะท้อนความเสี่ยงในโลกออนไลน์ที่หลายคนกำลังเผชิญกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ว่า ปัจจุบันกลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์หรือ สแกมเมอร์ (Scammer) มักนิยมมุ่งเป้าหมายมาที่กลุ่มผู้สูงอายุเป็นหลัก เพราะช่วงวัยอย่างเรา ๆ เป็นกลุ่มที่มีความคุ้นเคยทางโลกออนไลน์น้อยกว่าวัยอื่นๆ อีกทั้งยังมีความอ่อนไหว วิตกกังวล ทำให้หลงกลเป็นเหยื่อได้ง่าย มาดูกันว่า 7 รูปแบบภัยออนไลน์ที่วัย Gen ยัง Active ต้องระวัง มีอะไรบ้าง

1. การหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยหลอกให้ซื้อขายสินค้าแต่ไม่มีเจตนาที่จะส่งสินค้าให้จริง
2. การหลอกลงทุน โดยหลอกชักชวนให้ลงทุนที่มีผลตอบแทนสูง ในเวลาอันสั้น ที่ไม่มีอยู่จริง
3. การหลอกให้รัก โดยหลอกเข้ามาตีสนิท สร้างความสัมพันธ์ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อหวังเอาทรัพย์สิน
4. การหลอกให้กลัว หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แจ้งว่าเราเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด หลอกให้โอนเงินให้ตรวจสอบ
5. การหลอกขายยาและอาหารเสริม โดยหลอกขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือยา อ้างว่าสามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ ซึ่งอาจไม่ได้ผลจริงและเป็นอันตราย
6. การหลอกขายประกันสุขภาพ โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนจากบริษัทประกันสุขภาพ เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวหรือขายประกันที่ไม่เป็นความจริง
7. การหลอกรับสวัสดิการผู้สูงอายุ โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการที่ดูแลเรื่องบำนาญหรือสวัสดิการผู้สูงอายุ และขอข้อมูลส่วนตัวหรือขอให้โอนเงินเพื่อดำเนินการ

เรื่องข้อมูล เรื่องสำคัญ

ข้อมูล เป็นหนึ่งเรื่องสำคัญ และเป็นเป้าหมายหลักสำหรับพวกโจรไซเบอร์เหล่านี้ ซึ่งไม่เพียงแต่ข้อมูลของเหยื่อ แต่ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังคนในครอบครัวได้ทั้งสิ้น เพราะอุปกรณ์ส่วนใหญ่ในบ้าน จะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และกระจายข้อมูลไปในวงกว้าง ทำให้การถูกมิจฉาชีพในโลกไซเบอร์ฉ้อโกงนั้นจึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว หรือไกลตัวอีกต่อไป

สำหรับวัยเกษียณสุขอย่างพวกเราบางคนนั้น จำเป็นต้องมีความรู้เบื้องต้นในเรื่องของการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล รหัสผ่าน และความปลอดภัยในโลกออนไลน์ เพราะจะช่วยลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อทางไซเบอร์ได้มากขึ้น

แก๊งคอลเซนเตอร์...ยุคเปลี่ยน มุกเปลี่ยน ต้องรู้ให้เท่าทัน

แก๊งคอลเซนเตอร์มีมาอย่างยาวนาน พัฒนารูปแบบกลโกงไปตามยุคสมัย วัยเราต้องรู้เท่าทัน และนี่คือ 5 วิธีป้องกันมิจฉาชีพออนไลน์ที่รู้ไว้ อุ่นใจกว่า

5 วิธีป้องกันมิจฉาชีพในโลกออนไลน์

1. มีสติทุกครั้งเมื่อรับสายโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย หรือหากมีการอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานใด ไม่แน่ใจ ให้รีบวางสาย แล้วติดต่อไปยังหน่วยงานที่อ้างถึง อ้างถึงใครให้สอบถามคนนั้น (ควรค้นหาเบอร์โทรติดต่อกลับเอง)
2. ไม่โลภ หากมีคนบอกว่าเราได้รับรางวัล หรือได้ส่วนลดพิเศษเกินจริง ควรเอะใจไว้ก่อนว่าเป็นไปได้หรือไม่
3. ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ แม้ผู้ติดต่อจะอ้างว่าเป็นหน่วยงานราชการหรือสถาบันการเงิน
4. ติดตามข่าวสารกลโกงเป็นประจำ เพื่อรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกง
5. หากมีคนโอนเงินผิดบัญชีมาที่บัญชีเรา ไม่ควรโอนเงินคืนเอง ควรสอบถาม call center หรือสาขาของธนาคารที่เรามีบัญชีอยู่ให้ดําเนินการตรวจสอบรายละเอียด หากตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ธนาคารแล้วเป็นเงินที่โอนผิดบัญชีมาจริง ให้เรายินยอมให้ธนาคารดําเนินการโอนกลับไปยังบัญชีต้นทางต่อไป

การหลอกลวงทางไซเบอร์เป็นภัยคุกคามที่วัยเก๋าอย่างเราต้องระวัง การให้ความรู้และการฝึกฝนการใช้งานเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย รวมถึงการใช้เทคนิคป้องกันต่าง ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันการถูกหลอกลวงได้อย่างแน่นอน

เอกสารอ้างอิง:
ไทยรัฐออนไลน์. (2566, สิงหาคม, 7). เตือนผู้สูงอายุ รู้ทัน 10 ข้อ ไม่ตกเป็นเหยื่อโกงออนไลน์ (2567, สิงหาคม, 21) https://www.thairath.co.th/lifestyle/lifestyle45plus/2715383
infoquest. (2566, ธันวาคม, 27). ภัยออนไลน์ทำสูญเสียกว่า 5 หมื่นล้าน “ผู้สูงวัย” เหยื่อเบอร์ต้นโจรไซเบอร์ (2567, สิงหาคม, 21) https://www.infoquest.co.th/2023/362415

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว