line
เมนู
ไลฟ์สไตล์

อย่าปล่อยให้ภูมิคุ้มกันลด จนป้องกันโรคไม่ได้!

รู้จักธรรมชาติของการสร้างภูมิคุ้มกัน และวิธีการทำให้มีภูมิคุ้มกันโรคได้อย่างต่อเนื่อง!
แชร์บทความนี้
line
line
line

ภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ภูมิคุ้มกันโรคเกิดจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของเม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ และเซลล์หลายชนิด เพื่อกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม ไม่ให้ทำอันตรายต่อร่างกายได้ โดยภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอาจเกิดขึ้นจากการสร้างขึ้นเองในร่างกาย (Active immunity) หรือภูมิคุ้มกันที่ร่างกายไม่ได้สร้างเองแต่รับมาแล้วสามารถป้องกันโรคได้ทันที (Passive immunity)

สำหรับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น อาจเกิดขึ้นจากการสร้างขึ้นเองในร่างกาย (Active immunity) เกิดขึ้นได้หลังจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ หรือจากการฉีดวัคซีน ซึ่งหากเป็นการติดเชื้อตามธรรมชาติ ความรุนแรงของโรคจะแตกต่างในแต่ละคน ทำให้การป่วยด้วยโรคเดียวกันอาจมีอาการป่วยไม่เท่ากันได้ บางคนอาจไม่มีอาการเลย ในขณะที่บางคนอาจมีอาการหนักมาก หรือร้ายแรงที่สุดอาจถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งตัวอย่างของโรคที่แสดงให้เห็นเหตุการณ์นี้ได้ชัด คือ โรคโควิด 19

ส่วนการเกิดภูมิคุ้มกันภายหลังการให้วัคซีน ซึ่งเป็นการเลียนแบบการติดเชื้อในธรรมชาติ เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันได้รู้จักบางส่วนของเชื้อโรค หรือเชื้อโรคจริงที่ไม่สามารถก่อโรคได้แล้ว ให้ร่างกายได้สร้างภูมิคุ้มกันก่อนการติดเชื้อจริง ซึ่งหากต่อมามีการติดเชื้อ การกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันจะทำได้เร็ว กำจัดเชื้อก่อโรคได้ไวขึ้น ทำให้ช่วยลดความรุนแรงของการเจ็บป่วย หรือที่ดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อได้

สำหรับภูมิคุ้มกันที่รับมาแล้วสามารถป้องกันโรคได้ทันที ได้แก่ ภูมิคุ้มกันที่ส่งผ่านทางรก หรือน้ำนมจากแม่สู่ลูก หรือการรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เช่นในกรณีของการฉีดเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าร่วมกับการฉีดวัคซีนหลังถูกสุนัขกัด และการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปสำหรับโรคโควิด 19 ในผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้น้อยกว่าคนปกติ

ภูมิคุ้มกันโรคสามารถป้องกันโรคได้นานแค่ไหน?

ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อบางชนิด หรือภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนบางโรคสามารถป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนโดยมากเมื่อระยะเวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันจะลดลง ทำให้มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันโรคให้มากขึ้นจนสามารถป้องกันโรคได้ เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน ที่ต้องฉีดกระตุ้นหนึ่งครั้งสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสโรคจากการทำงาน การฉีดวัคซีนโรคคอตีบ-บาดทะยักที่ทุกคนต้องฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี เมื่อมีอายุ 20 ปีขึ้นไป การฉีดวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดกระตุ้นทุกปีเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัสที่ระบาด เช่นเดียวกันกับวัคซีนโควิด 19 ซึ่งเป็นวัคซีนอีกชนิดหนึ่งที่จำเป็นต้องมีการฉีดกระตุ้นทุกปีเนื่องจากสาเหตุการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไวรัสด้วยเช่นกัน

สำหรับภูมิคุ้มกันแบบสำเร็จรูปจะมีระยะเวลาในการป้องกันโรคที่สั้นกว่าภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างเอง ออกฤทธิ์ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และมีใช้เฉพาะบางกรณีเท่านั้น โดยภูมิคุ้มกันชนิดนี้ จะไม่ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้เอง เช่น ภูมิคุ้มกันจากแม่สู่ลูก จะมีระยะเวลาที่จำกัดประมาณ 6 เดือนหลังคลอดจะค่อย ๆ ลดต่ำลง ทำให้มีความจำเป็นอย่างมากที่เด็กเล็กต้องได้รับวัคซีนตามกำหนด เพื่อให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคเองได้ การใช้เซรุ่มที่ให้ทันทีหลังถูกสุนัขกัด เพื่อเร่งกำจัดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า เนื่องจากหากติดเชื้อจะเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือการให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปชนิดออกฤทธิ์ยาวสำหรับป้องกันโรคโควิด 19 ที่ฉีดให้กับผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้น้อยกว่าคนปกติ เพื่อให้สามารถป้องกันโรคได้ระยะเวลาหนึ่ง

ทำอย่างไรจึงจะมีภูมิคุ้มกันโรคได้อย่างต่อเนื่อง?

จากที่ได้กล่าวมาแล้ว ภูมิคุ้มกันโรคที่สร้างจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ไม่ว่าจะมาจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติ หรือการฉีดวัคซีน จะมีระดับสูงในร่างกายและป้องกันโรคได้ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลงลดตามธรรมชาติ ซึ่งหากมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนเข็มกระตุ้นในระยะเวลาที่เหมาะสม จะทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และสูงพอที่จะป้องกันโรคได้ โดยเฉพาะในผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้น้อยกว่าคนปกติ

เช่น ผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือการเข้ารับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีโรคระบาด ทั้งนี้ การดูแลตนเองด้วยการรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ล้างมือบ่อย ๆ ร่วมกับการเข้ารับวัคซีนตามกำหนด จะทำให้ผู้ปฏิบัติมีสุขภาพดีได้อย่างยั่งยืน

เรียบเรียงโดย : ดร.ทนพญ.มนัสนันท์ ขันใส
นักวิชาการวัคซีนชำนาญการ
สำนักงานผู้บริหาร สถาบันวัคซีนแห่งชาติ

NP-TH-NA-WCNT-230011

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว