line
เมนู
Gen ยัง Active ทอล์ค

วิธีคิด ‘ศุภจี สุธรรมพันธุ์’ เพื่อชีวิตสุขเสรีในวัย Gen ยัง Active

ชวนคุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ Group CEO แห่งดุสิตธานี พูดคุยถึงแนวคิดการใช้ชีวิต พร้อมเผยเคล็ดลับดูแลตัวเองให้ยัง Active อยู่เสมอ
แชร์บทความนี้
line
line
line

เมื่อได้ยินชื่อของ ‘ศุภจี สุธรรมพันธุ์’ หรือคุณแต๋ม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ทุกคนจะเห็นภาพของผู้หญิงเก่งที่ไม่เคยหยุดนิ่งแม้จะเข้าสู่วัย 59 ปีแล้วก็ตาม ซึ่งประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของเธอนั้นนับว่าเหลือล้น ตั้งแต่ก้าวขึ้นมาเป็น Managing Director ของ IBM (Thailand) บริษัทไอทีระดับโลกตั้งแต่อายุยังน้อย ต่อด้วยการพลิกฟื้นไทยคมซึ่งเป็นธุรกิจดาวเทียม ก่อนจะพิสูจน์ความเก่งกาจที่ไร้กรอบจำกัดด้วยการมาบริหารเครือดุสิต โดยสามารถพาพนักงานทุกคนผ่านพ้นวิกฤติโควิดไปด้วยกัน และเดินหน้าสู่มิชชันต่อไปในการเปลี่ยนโฉมโรงแรมดุสิตธานี ให้หวนคืนสู่การเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ

  • 4 วิธีเติมเต็ม ‘แพซชัน’ ในชีวิตให้สดใหม่อยู่เสมอ

    การเติมเต็มแพซชันในแบบของคุณแต๋ม ไม่เพียงแต่จะใช้ได้กับเป้าหมายภายนอก อย่างหน้าที่การงานหรือความมั่นคงในชีวิตเท่านั้น แต่ยังนำไปใช้ได้กับเป้าหมายภายในจิตใจ ซึ่งจะทำให้อยากตื่นมาใช้ชีวิตให้ดีที่สุดในทุก ๆ วัน

    “ในทุก ๆ อย่างที่ทำแต๋มจะเริ่มต้นจาก 1. ‘เป้าหมาย’ เพราะถ้าเราไม่มีเป้าหมายปัญหาที่อาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่เราก็อาจจะมองมันเป็นอุปสรรค แต่ถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า เราทำเรื่องนี้ไปเพื่ออะไร เราจะมีพลังและกำลังใจในการทำ เวลาที่เจอความท้าทายต่าง ๆ เราก็จะมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะผ่านอุปสรรคไปให้ได้

    “ขั้นต่อไปคือ 2. ‘หยุดสำรวจ’ ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ และเรามีข้อดีข้อด้อยอะไร ทุกคนไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ และไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างในสิ่งที่เราจะทำ แต่หากเรามีดีในเรื่องไหนก็มุ่งทำสิ่งนั้นให้เต็มที่ แล้วสำรวจว่าทีมงานของเรา ครอบครัวเรา หรือคนรอบข้างเรา แต่ละคนสามารถทำอะไรได้ดีบ้าง เรามีหน้าที่ผลักดันให้เขาทำในสิ่งที่เขามีดีเพื่อตอบโจทย์กับเป้าหมาย

    “ตามด้วย 3. ‘โฟกัส’ ชีวิตคนเรามีหลายสิ่งที่เป็นความเร่งด่วน โดยเฉพาะโลกตอนนี้ที่หมุนเร็วมาก และมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย เพราะฉะนั้นเราต้องจัดลำดับความสำคัญในชีวิตให้ถูกต้อง โดยเลือกโฟกัสในเรื่องที่จำเป็นก่อนอย่างเรื่องสุขภาพ ถ้าเรามัวโฟกัสเรื่องงานแล้วไม่พักผ่อน ไม่ออกกำลังกาย ไม่ทานอาหารที่ดี พอสุขภาพกายและใจไม่ดีอย่างอื่นย่อมมีปัญหา แบบนี้คือเราโฟกัสผิดจุด

    “อีกสิ่งที่จะทำให้เราสดใสอยู่เสมอ คือ 4. ‘มองหาเรื่องใหม่ ๆ’ แต๋มโชคดีตรงที่มีโอกาสได้เห็นโลกใน 50 กว่าปีที่ผ่านมา และเห็นสิ่งใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นเราต้องเปิดใจที่จะยอมรับและเรียนรู้ เพื่อที่เราจะได้พัฒนาเหมือนกับน้ำที่ไม่เต็มแก้ว หากเรายึดติดกับความสำเร็จในอดีต ยึดติดกับแพทเทิร์นที่มันเคยเกิดขึ้น หรือยึดติดกับกระบวนการเดิม ๆ แล้วเราไม่มองหาโอกาสหรือการเติบโตใหม่ ๆ เราก็จะหยุดนิ่งอยู่กับที่”

  • ทัศนคติสำคัญเพื่อก้าวข้ามอุปสรรค ที่นำไปใช้ได้กับทุกช่วงของชีวิต

    ในฐานะตัวแทนของ Gen ยัง Active ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว คุณแต๋มฝากข้อคิดไว้ว่า หากมองอุปสรรคให้เป็นความท้าทายในชีวิต และใช้สติผ่านเรื่องราวนั้นไปให้ได้

    “ทัศนคติแรกเมื่อเราเจออุปสรรคหรือปัญหา เราต้องไม่เอาตัวไปอยู่ใกล้มันเกินไป เพราะเราจะเห็นว่าปัญหามันใหญ่โตมโหฬารแล้วเราจะแก้มันไม่ได้ สิ่งที่แต๋มทำเลยก็คือ ‘ตั้งสติ’ มองปัญหาจากคนนอกมองเข้าไป แล้วพยายามที่จะคิดหาทางออก

    “ถ้าเราพยายามจะแก้ปัญหาที่มันใหญ่มากแล้วแก้ไม่ได้ ก็แยกมันออกเป็นชิ้นเล็กๆ ‘ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ แก้’ โดยอย่าไปยึดติดหรือทำเองคนเดียวแต่ต้องให้ทีมช่วยกัน เมื่อเรามีประสบการณ์มากพอ รู้ว่าคนไหนในทีมเก่งอะไรก็ให้เขาทำในส่วนนั้น แล้วเราค่อยรวบกลับมาแก้ปัญหาในองค์รวม เราก็จะสามารถจับมือกันก้าวข้ามอุปสรรคไปได้

    “เรื่องบางอย่างถ้าเราทำไปสัก 2-3 ครั้งแล้วยังแก้ไม่หลุดหยุดก่อนก็ได้ เพราะ ‘ทางออกไม่ได้มีแค่ทางเดียว’ ลองเดินออกมา เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา หรือถอยหลังก่อนก็ยังได้ แล้วค่อยกลับไปดูมันใหม่ แต่หากถึงจุดหนึ่งที่มันทำไม่ได้ก็ต้องเข้าใจและหาแผนเพื่อรองรับ

    “ที่สำคัญที่สุดต้องกลับมาที่ทัศนคติของตัวเองว่าเราต้อง ‘ไม่ยอมแพ้’ มีคนถามแต๋มเยอะว่าแต๋มเคยล้มเหลวหรือเปล่า แต๋มยังนึกไม่ออกว่าแต๋มเคยล้มเหลวไหม ไม่ใช่ว่าแต๋มไม่เคยพลาด แต่เราแค่ไม่ยอมแพ้เท่านั้นเอง พอเราไม่ยอมแพ้เราก็เลยนึกไม่ออกว่าเคยล้มเหลวตรงไหน คนเราล้มได้ก็ลุกได้ แต่คนที่พิเศษคือคนที่ล้มและลุกได้ทุกครั้ง เพราะมันต้องใช้พลังในการดึงตัวเองให้กลับมาลุกขึ้นได้”

  • สมดุลระหว่าง ‘งาน’ VS ‘ครอบครัว’ ที่ผสานเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

    คุณแต๋มมีหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งผู้บริหาร หรือบทบาทคุณแม่ ภรรยา และลูก ที่ต้องดูแลเอาใจใส่คนในครอบครัว ซึ่งหลักการที่คุณแต๋มใช้ในการสร้างสมดุลก็คือการวางแผน เพื่อให้ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวดำเนินควบคู่กันได้อย่างลงตัว

    “แต๋มไม่เคยใช้คอนเซปต์ Work-Life Balance เพราะพอเราพูดว่าต้องแบ่งเวลา มันมีความรู้สึกว่าเราจะเสียอะไรไปสักอย่าง เนื่องจากแต๋มมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่หลากหลาย แต๋มจึงใช้วิธี ‘Work-Life Integration’ ในที่นี้คือการที่เราสามารถทำได้หลายบทบาทหน้าที่ในเวลาเดียวกัน โดยที่ไม่ต้องมาแบ่งว่า 8:00 น. - 17:00 น. คือเวลาทำงาน แล้ว 18:00 น. - 20:00 น. เป็นเวลาอยู่กับครอบครัว จากนั้น 3 ทุ่มถึงจะเป็นเวลาอยู่กับตัวเอง

    “แต๋มพยายามจะวางแผนชีวิต เพราะนอกจากแต๋มจะเป็นมนุษย์ทำงานคนหนึ่ง แต๋มยังเป็นคุณแม่ เป็นภรรยา และเป็นลูก เพราะแต๋มอยู่กับคุณแม่ที่อายุค่อนข้างมากและต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งการที่เราจะสามารถดูแลครอบครัวได้ก็ต้องวางแผนให้ดี

    “เมื่อปลายปีที่แล้วคุณแม่แต๋มเส้นเลือดในสมองตีบกะทันหัน แต๋มกำลังจะต้องทำ Analyst briefing โดยมีนักวิเคราะห์และนักลงทุนรอฟังแต๋มในวันนั้น แต๋มรู้แล้วว่าคุณแม่มีอาการไม่ปกติ สิ่งที่แต๋มทำได้เตรียมการเอาไว้คือวางระบบไว้ว่า ในเหตุการณ์ฉุกเฉินภายในครอบครัวแต๋มพอมีใครทำอะไรได้บ้างเช่นเรียกรถพยาบาลและนำคุณแม่ส่งโรงพยาบาล เราก็ทำหน้าที่ที่อยู่ตรงหน้าไปให้เต็มที่ พอถึงเวลา คุณแม่ต้องพบแพทย์ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่แพทย์จะต้องวินิจฉัย ช่วงนั้นแต๋มก็ไปอยู่กับคุณแม่เพื่อตัดสินใจกับคุณหมอว่าจะรักษาแบบไหน พอคุณแม่อยู่ในมือคุณหมอและมีน้องที่สามารถดูแลคุณแม่ต่อได้ แต๋มก็กลับมาทำหน้าที่เป็น CEO ให้ดีที่สุด พอเสร็จจากหน้าที่นี้ถึงจะกลับไปอยู่กับคุณแม่

    “สิ่งสำคัญคือเราต้อง ‘รู้บทบาท’ ของเราในตอนนั้น ‘ใช้สติ สมาธิ และการวางแผน’ รวมไปถึง ‘การวางระบบ’ เพื่อให้เราสามารถทำหน้าที่ในแต่ละวัน และตอบโจทย์ในหลาย ๆ เรื่องได้ ดังนั้นมันจึงไม่ได้เป็นเรื่องของ Work-Life Balance แต่แต๋มพยายามทำให้ทุกอย่างมันไปด้วยกันได้ อาจไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่อยู่ในบริบทที่ทุกคนในครอบครัวยอมรับได้ และมีการตกลงร่วมกัน ซึ่งเมื่อมีการตกลงร่วมกันแล้วเราก็ต้องรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับครอบครัวอย่างเคร่งครัด”

  • การดูแลตัวเองให้ร่างกายและจิตใจยัง Active

    “แน่นอนค่ะว่าสังขารเราเปลี่ยนแน่นอน จากเดิมแต๋มเคยวิ่งได้ชั่วโมงละ 8-9 กม. เดี๋ยวนี้ก็ได้แค่ 7 กม. ซึ่งเราก็ไม่พยายามจะฝืนเพราะสมรรถภาพร่างกายของเราไปได้ไม่ถึงตรงนั้น เราก็ต้องเริ่มรับรู้ เมื่อก่อนแต๋มเดินทางไกลเยอะแต่เป็นการเดินทางในระยะเวลาสั้น ๆ อย่างแต๋มไปญี่ปุ่น แต๋มไปแค่วันเดียวไม่เคยนอนค้างโรงแรม เพราะบินตอนเที่ยงคืนไปถึงประชุมเสร็จเรียบร้อยก็บินกลับ เลยมักจะไม่ได้นอนแล้ววันรุ่งขึ้นต้องทำงานต่อ ซึ่งในอดีตแต๋มทำสิ่งนี้ได้ไม่มีปัญหา ร่างกายโอเคทุกอย่าง แล้วไม่มีอาการ Jet Lag ด้วยเพราะร่างกายยังไม่ทันตั้งตัว แต่พออายุขนาดนี้ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว

    “ไม่นานมานี้แต๋มล้มวูบหมดสติไปเลย เพราะแต๋มทำแบบนี้ตอนไปเยอรมัน กลับมาก็ประชุมหนักมากแล้วแต๋มมีไปบรรยายด้วย ซึ่งแต๋มเป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ด เวลาแต๋มต้องไปพูดกับคนเยอะ ๆ แต๋มต้องทำสมาธิแล้วสะกดจิตตัวเองว่าแต๋มทำได้ เพราะฉะนั้นจะใช้พลังมากกว่าคนปกติทำให้สมองเราล้า พอแต๋มไม่ได้พักผ่อนเพราะต้องเดินทาง ร่างกายมันเลยรับไม่ไหว โชคดีที่พอไปตรวจร่างกายแล้วไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เกิดจากเราพักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้นเมื่อร่างกายเราไม่เหมือนเดิมก็ต้องปรับ เดี๋ยวนี้ถ้าวันไหนนอนไม่พอแต๋มจะไม่ทำกิจกรรมอะไรหนัก ๆ หรือถ้ารู้ว่าวันรุ่งขึ้นต้องไปบรรยายก็จะนอนเร็ว และที่สำคัญมากๆ เลยคือต้องหาเวลาไปตรวจร่างกายตรวจสุขภาพ เพราะบางทีกว่าร่างกายจะส่งสัญญาณ SOS ออกมาว่าดูแลฉันหน่อยพักหน่อย เราก็อาจตั้งตัวไม่ทัน ตรวจเพื่อให้รู้ว่าเราควรระวังอะไรและต้องดูแลตัวเองอย่างไร”

    “สิ่งที่แต๋มทำอยู่ตอนนี้คือการทาน IF แบบ 16/8 คือหยุดทานตอน 20:00 น และทานอีกทีตอนเที่ยง โดยเราไม่ได้ทำเพราะอยากผอม แต่ทำเพราะอยากมีสุขภาพแข็งแรง ควบคู่ไปกับการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารออร์แกนิก หรืออาหารคลีนต่าง ๆ แล้วก็เริ่มทานพวกอาหารเสริมหรือวิตามินที่ช่วยในเรื่องสุขภาพของผู้หญิงวัย 50+ อย่างอาหารเสริมที่บำรุงเลือด เพราะเลือดแต๋มค่อนข้างจาง แต๋มจึงต้องทานพวกโฟลิกตอนเช้า และทานแคลเซียมเพื่อดูแลเรื่องกระดูก โดยแต๋มจะเลือกทานอาหารเสริมที่ไม่ได้เป็นเคมีมากจนเกินไป

    “ที่สำคัญคือการออกกำลังกายแบบง่าย ๆ อย่างการวิ่งหรือเดินยืดเส้นยืดสาย แล้วเดี๋ยวนี้แต๋มโฟกัสในการออกกำลังกายที่เน้นกล้ามเนื้อมากขึ้น เพราะคนอายุ 50+ มวลกล้ามเนื้อจะเริ่มน้อยลง แต่เรื่องที่แต๋มยังทำได้ไม่ดีคือการพักผ่อน เพราะแต๋มเป็นคนนอนน้อย แต่ก่อนแต๋มนอนแค่ 3-4 ชั่วโมง แต่เดี๋ยวนี้แต๋มดีขึ้นหน่อยจะนอนได้สัก 4-5 ชั่วโมง แต่ก็คิดว่ายังน้อยเกินไปอยู่นะ

    “ส่วนในเรื่องของความต้องการภายใน แต๋มจะสวดมนต์ทุกคืน แล้วแต๋มไม่ได้สวดไปเรื่อย ๆ แต่ต้องรู้ความหมายของบทสวดนั้นด้วย ช่วงแรก ๆ แต๋มจะสวดมนต์ตอนเช้า เพราะต้องการให้ตัวเองมีสติในการทำงานหรือการใช้ชีวิตในวันนั้น แต่สุดท้ายแล้วบางทีงานเร่งมาก แต๋มเลยเลือกสวดมนต์ตอนกลางคืนแล้วต่อด้วยนั่งสมาธิในบางครั้ง ทำให้แต๋มมีโอกาสได้นิ่งและสำรวจตัวเองบ้าง ซึ่งเราพยายามจะทำให้มากขึ้นเรื่อย ๆ”

  • ให้เวลาตัวเองได้พักผ่อน เพื่อสร้างความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ในทุกวัน

    “พอเราอายุเท่านี้แล้วเราไม่อยากรอว่าเดี๋ยววันเสาร์ค่อยพัก หรือทำงานชิ้นนี้เสร็จค่อยพัก แต๋มเคยคุยกับแฟนนะคะว่าพอเราเกษียณแล้ว เราจะขับรถเที่ยวรอบอเมริกา แล้วจะไปถ่ายรูปกับสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของรัฐนั้น ๆ ให้ครบ 50 กว่ารัฐ แต่พอเวลามันผ่านไป ถึงจุดนี้แต๋มมีความรู้สึกว่าแต๋มไม่อยากรอให้ถึงวันนั้น เพราะแต๋มกลัวว่าเราจะทำไม่ได้แล้ว เราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้เราจะตื่นหรือเปล่า หรือเราจะยังมีร่างกายที่พร้อมจะทำมันได้ไหม จึงเลือกที่จะไปทำในสิ่งที่ตั้งใจในทุกโอกาสที่ทำได้ โดยไม่ต้องรอให้เกษียณก่อนแล้วค่อยทำ ไปทริปเล็กๆ ด้วยกันเมื่อมีโอกาสก็ได้เหมือนกัน

    “วิธีพักของแต๋มตอบไปแล้วจะเลิกเชื่อถือแต๋มแน่ ๆ เลย (หัวเราะ) แต๋มเป็นคนชอบเล่นเกม ก่อนนอนแต๋มจะเล่น ‘Candy Crush’ ให้เพลิน ๆ ปัญหาคือมันเป็นเกมที่ต้องเล่นคนเดียว แล้วสามีคงไม่สนุกด้วย แต๋มก็เลยเล่นเกมส์ที่เล่นด้วยกันได้เลยเลือก Hidden City เพราะช่วยกันหาสมบัติได้ นอกจากเล่นเกมแต๋มก็ชอบวิ่ง ซึ่งแต๋มจะไม่ชอบวิ่งบนลู่ แต่จะชอบวิ่งรอบทะเลสาบในหมู่บ้าน ช่วงนี้ไม่ค่อยได้วิ่งเนื่องด้วยโควิดและฝุ่น แต่แต๋มเป็นคนชอบออกกำลังกายและพยายามจะทำให้ได้เป็นประจำ

    “อีกอย่างคือแต๋มเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เดี๋ยวนี้ยิ่งดีใหญ่เลยเพราะมี Audible Book เวลาเราออกกำลังกายแล้วอยากอ่านหนังสือไปด้วยก็จะใช้วิธีฟัง โดยความเร็วที่แต๋มฟังจะอยู่ประมาณ 1.5 - 2 เท่า พอเราเจอบทที่ชอบหรือสนใจค่อยกลับมาอ่านจริงจัง แล้วเราก็ไฮไลท์เรื่องนั้นไว้ บางทีหนังสือเล่มใหญ่ ๆ มันก็ช่วยให้เราย่อยได้เร็วขึ้น เป็นวิธีเติมความรู้ใหม่ ๆ แต่ถ้าเป็นเวลาพักผ่อนจริง ๆ แต๋มจะอ่านหลากหลาย การ์ตูน ก็เช่น ‘ขายหัวเราะ’ บางทีก็ดูการ์ตูนด้วย เช่น โคนัน การ์ตูนนอกจากช่วยให้ผ่อนคลายแล้วยังมีสาระน่ารู้แฝงอยู่มากมายทีเดียว”

  • คุณค่าที่อยากส่งมอบให้คนรุ่นต่อไปและแบ่งปันให้คนวัยเดียวกัน

    เมื่อถามถึงความสุขในวัย Gen ยัง Active ของคุณแต๋ม คำตอบที่ได้ก็คือการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ด้วยการส่งต่อสิ่งที่ได้เรียนรู้มาตลอดชีวิต 50 กว่าปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นประสบการณ์ให้คนรุ่นต่อไปได้นำไปสร้างสรรค์อนาคตให้ดีขึ้นกว่าเดิม

    “ในแต่ละช่วงวัยเรามีความต้องการหรือสิ่งที่อยากทำไม่เหมือนกัน ถ้าในช่วงวัยรุ่นแต๋มขอนิยามว่า ‘Pleasant Life’ มองว่าเป็นช่วงชีวิตที่ควรจะสดใสร่าเริงให้สมวัย เน้นเรื่องการกินดี อยู่ดี นอนหลับฝันดี ได้ยิ้ม ได้หัวเราะ ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ออกไปใช้ชีวิตข้างนอกบ้างจะได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง พอวัยทำงานแต๋มขอให้คำนิยามว่า ‘Good Life’ เพราะเป็นช่วงวัยที่เราได้ทำสิ่งดี ๆ ได้ทำสิ่งที่เราอยากทุ่มเทไปกับมัน ใช้ความสามารถ ใช้ฝีมือ ใช้ประสบการณ์ ในการสร้างรากฐานของชีวิต

    “ส่วนคนในวัย Gen ยัง Active แต๋มให้นิยามว่า ‘Meaningful Life’ คือทำอย่างไรให้ชีวิตเรามีคุณค่า สามารถส่งมอบสิ่งที่เราทำมาให้กับคนรุ่นต่อไป อย่าคิดว่าเราตัวเล็กนิดเดียวจะไปสร้างคุณค่าอะไรให้ใครได้ เพราะแค่เราทำประโยชน์ให้คนแค่คนเดียวได้ก็ดีที่สุดแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศหรือระดับโลก แต่แน่นอนถ้าเราอยู่ในพื้นที่หรือบทบาทที่เราทำอะไรได้มากกว่านั้นก็จงทำ เพราะช่วงชีวิตนี้คือช่วงชีวิตในการมอบสิ่งดี ๆ แก่คนอื่น

    “ตอนที่ยังอายุไม่มาก เป้าหมายในชีวิตของแต๋มคือต้องการประสบความสำเร็จ เพื่อที่จะมีความมั่นคงและดูแลครอบครัวหรือคนรอบข้างของเราได้ แต่ตอนนี้เป้าหมายของแต๋มคือทำอย่างไรให้เราสามารถสร้างผลกระทบที่ดี และส่งต่อประสบการณ์ที่เรามีให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เพราะการเดินทางหรือชีวิตคนเราเป็นเหมือนแผนที่ เราอยากเป็น Google Maps ให้คนรุ่นหลังไม่ต้องเสียเวลาเดินทางที่คดเคี้ยวและอาจต้องใช้เวลานาน แต่สามารถลัดขั้นตอนโดยไม่ต้องล้มลุกคลุกคลานอย่างที่เราเคยผ่านมาในอดีต”

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว