ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ แน่นอนว่าเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโรคต่าง ๆ ก็มักจะตามมา ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ โรคอัลไซเมอร์ หรือแม้กระทั่งโรคกระดูกพรุน ซึ่งมักจะไม่ค่อยจะมีสัญญาณเตือน แต่สิ่งที่ทำได้คือการตรวจคัดกรองมวลกระดูกเพื่อตรวจเช็กความหนาแน่น ล่าสุดนักวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และมหาวิทยาลัยคานาซาวา (Kanazawa University) ประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องวัดมวลกระดูกให้สามารถเป็นแบบพกพา มีความสะดวกรวดเร็วในการตรวจวัด ที่สำคัญ ยังเป็นนวัตกรรมเครื่องคัดกรองมวลกระดูกแบบพกพาเครื่องแรกของโลก!
โรคกระดูกพรุน ภัยเงียบที่มองไม่เห็น สู่ ‘เครื่องคัดกรองมวลกระดูกแบบพกพา’ เครื่องแรกของโลก
ด้วยปัจจุบันคนไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 25 เป็นโรคกระดูกพรุนโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว และการคัดกรองโรคกระดูกพรุน สามารถทำได้โดยเครื่องวัดมวลกระดูกใช้รังสีเอกซ์ มีขนาดใหญ่ ราคาแพง มีเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทำให้ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่มีฐานะยากจนหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ จากปัญหาดังกล่าว ทางทีมนักวิจัย นำโดย รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. และหัวหน้าห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด (SMART LAB) จึงได้ร่วมคิดค้นเครื่องคัดกรองโรคกระดูกพรุน ด้วยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกแบบพกพาด้วยการเรียนรู้ผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็น “เครื่องตรวจคัดกรองเครื่องแรกของโลก” มีระดับความน่าเชื่อถือที่ยอมรับได้สำหรับการคัดกรองเบื้องต้น โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องเอกซเรย์ขนาดใหญ่ แต่มีราคาถูก น้ำหนักเบา เคลื่อนที่สะดวก ง่ายต่อการใช้งาน ทุกคนสามารถใช้ได้ไม่อันตราย ระบบแสงพลังงานต่ำที่ปลอดภัย ไม่ต้องมีนักรังสีเทคนิค และใช้เวลาเพียง 1 นาทีเท่านั้น
รูปภาพจาก : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ระบบการทำงานสุดอัจฉริยะ
สำหรับวิธีการใช้งานของเครื่องเป็นการแสดงผลออกมาเป็นแถบสี โดยนำเข้าข้อมูลผู้รับการรักษา คือ อายุ เพศ น้ำหนัก และส่วนสูง จากนั้นฉายแสงเข้าบริเวณข้อแขน ใช้เวลาเพียง 1 นาที ก็จะได้ผลตรวจออกมาแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่
- แถบสีเขียว หมายถึง มวลกระดูกอยู่ในภาวะปกติ - แถบสีเหลือง หมายถึง กระดูกบาง มีความเสี่ยงต้องระวัง - แถบสีแดง หมายถึง มวลกระดูกมีความหนาแน่นในระดับที่เสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน
รูปภาพจาก : กรุงเทพธุรกิจ
อีกหนึ่งความภาคภูมิใจนักวิจัยไทย คว้ารางวัลระดับชาติและระดับโลก!
แต่ทั้งนี้เนื่องจากเครื่องที่พัฒนาขึ้นยังอยู่ในระดับงานวิจัย โดยปัจจุบันได้ผลิตเครื่องต้นแบบ 5 เครื่อง หากผลิตจำนวนมากต้นทุนจะถูกลง คาดว่าจะมีราคาเครื่องละ 7-8 หมื่นบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดให้มีระบบการใช้งานที่ง่าย สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้มาใช้งานหรือส่งต่อข้อมูลได้
ล่าสุด เครื่องคัดกรองโรคกระดูกพรุน ด้วยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกแบบพกพาด้วยการเรียนรู้ผ่านปัญญาประดิษฐ์ (AI) นี้ ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2565 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลเหรียญทอง เวที International Trade Fair Ideas Innovation New Products (iENA) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และได้รับความสนใจอย่างมากในหลายประเทศ
เป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนานวัตกรรมนี้ สามารถใช้งานเป็นการแพทย์ทางไกล ที่จะถูกนำไปใช้ในโรงพยาบาลตามต่างจังหวัดที่ห่างไกล หรือ รพ.สต. ในพื้นที่ที่มีอินเทอร์เน็ต สามารถใช้งานได้ง่าย ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่ไม่เคยรู้ตัวเองว่า มีความเสี่ยงเรื่องกระดูกพรุนหรือไม่นั้น จะมีโอกาสเข้าถึงการตรวจวัดมวลกระดูกได้มากยิ่งขึ้น และเตรียมพร้อมที่จะรักษาได้รวดเร็ว ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้โดยแท้จริง
เอกสารอ้างอิง: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (2566, กุมภาพันธ์, 20). นวัตกรรม “เครื่องคัดกรองมวลกระดูก” แบบพกพา เครื่องแรกของโลก ฝีมือนักวิจัย มจธ. และ ม.คานาซาวา. (2567, ตุลาคม, 14) https://www.kmutt.ac.th/news/20/02/2023/33507/