ฝนมา ยุงก็มามากเป็นพิเศษ คือสิ่งที่เห็นได้ชัด ซึ่งนำพาโรคติดต่อที่เกิดจาก ‘ยุง’ มาด้วย สำหรับในประเทศไทย พบว่ายุงที่เป็นพาหะนำโรคหลัก ๆ อยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ยุงก้นปล่อง ยุงลาย ยุงรำคาญ และยุงลายเสือ¹
ยุงมาชีวิตยุ่ง ด้วย 6 โรคอันตราย²
1. โรคไข้เลือดออก (Dengue Fever)
เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกีโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อย มีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ขึ้นตามแขน ขา ลำตัว หากรุนแรงอาจมีเลือดออกในอวัยวะต่าง ๆ ได้ ควรหลีกเลี่ยงการกินยาแอสไพริน หรือยาแก้อักเสบชนิด NSAIDS³
2. โรคไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis)
มีหมูเป็นรังโรคที่สำคัญ เมื่อยุงรำคาญที่เป็นพาหะ ดูดเลือดและแพร่ไปให้คน โดยมีระยะฟักตัว 5 – 15 วัน⁴ ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่ในคนที่มีอาการ จะมีไข้ อาเจียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย จากนั้นจะเริ่มมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท และเสียชีวิตได้⁵
3. โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya)
หรือโรคไข้ปวดข้อ เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค อาการคล้ายโรคไข้เลือดออก นอกจากอาการไข้สูงแล้ว ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดบวมตามข้อและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณข้อนิ้วมือและข้อมือ ซึ่งอาจอยู่ได้เป็นเดือนแม้อาการไข้หายไปแล้วก็ตาม⁶
4. โรคไข้มาลาเรีย (Malaria)
เกิดจากเชื้อปรสิตพลาสโมเดียมโดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค พบได้มากบริเวณป่าและชายแดน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ระยะฟักตัวได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือน⁴ เป็นโรคที่ติดต่อโดยยุงที่มียารักษาจำเพาะ แต่ต้องได้รับการวินิจฉัยโดยเร็ว⁷
5. โรคไข้ซิกา (Zika)
เกิดจากเชื้อไวรัสซิกา โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นตามตัว ปวดหัว ปวดข้อ ปวดตา ตาแดง และปวดกล้ามเนื้อ ในหญิงตั้งครรภ์หากเป็นโรคนี้อาจทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้⁸
6. โรคเท้าช้าง (Filariasis)
เกิดจากหนอนพยาธิฟิลาเรีย มียุงลาย หรือยุงลายเสือเป็นพาหะนำโรค ในบางพื้นที่อาจมียุงก้นปล่อง หรือยุงรำคาญนำโรคได้เช่นกัน การติดเชื้อทำให้เกิดการอุดกั้นและการอักเสบซ้ำ ๆ ของท่อน้ำเหลือง จนเกิดอาการบวมบริเวณขา ทำให้มีขนาดใหญ่และผิดรูปคล้ายเท้าช้าง⁹
รู้จักโรคติดต่อที่เกิดจากยุงในเบื้องต้นกันแล้ว เชื่อว่าหลายคนเคยตั้งข้อสังเกตว่าทำไมถึงถูกยุงกัดบ่อย ในขณะที่คนรอบข้างมักไม่โดนยุงกัด มาไขข้อข้องใจไปพร้อมกันว่ายุงชอบกัดคนประเภทไหนบ้าง
ลักษณะคนที่เป็นเป้าหมายของ ‘ยุง’
ยุงที่กัดคนจะเป็นยุงตัวเมียเท่านั้น ตัวผู้จะกินน้ำหวานเป็นหลัก สาเหตุที่ยุงตัวเมียชอบกินเลือด เพราะต้องการโปรตีนในเลือดของเราในการสร้างไข่และสืบพันธุ์¹ ยุงจะมีอวัยวะบางอย่างบริเวณส่วนหัวในการระบุตำแหน่งของเป้าหมาย โดยการตรวจจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ ความร้อนจากร่างกาย และกลิ่น ดังนั้น ใครก็ตามที่มีการเผาผลาญของร่างกายเยอะ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ออกมามากกว่า หรือมีกลิ่นแรง ๆ ก็มักจะถูกยุงกัดบ่อยกว่าคนอื่น ๆ เช่น คนท้อง คนที่เพิ่งออกกำลังกาย ตัวอุ่น เหงื่อออก หรือดื่มแอลกอฮอล์ หรือเสื้อผ้าสีเข้ม ๆ ก็ดึงดูดยุงได้ง่ายขึ้นเช่นกัน¹⁰
ป้องกันโรคจากยุงได้อย่างไร¹
‘ยุง’ ไมใช่แค่เรื่องของความรำคาญ ยุงกัดอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่แมลงตัวเล็ก ๆ นี้อาจทำให้เสียชีวิตได้จากการนำเชื้อโรคมากมายมาสู่คน ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงการเกิดโรคติดต่อที่เกิดจากยุง คือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงให้สิ้นซาก รวมถึงอีกหลากหลายวิธีที่คุณเองก็ทำได้
กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ควรหมั่นสำรวจแหล่งน้ำในบ้าน และรอบ ๆ บ้าน ที่อาจมีน้ำขัง เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
ฉีดพ่นกำจัดยุง โดยเฉพาะในแหล่งชุมชนที่มีการระบาดของไข้เลือดออก ยุงที่อยู่ในบริเวณนั้นก็อาจมีเชื้ออยู่ได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการตัดวงจรการระบาดและแพร่พันธุ์ของยุง
สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อนและมิดชิด สามารถป้องกันยุงกัด และลดการติดโรคที่เกิดจากยุงได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าสีทึบ อย่างสีดำ และสีน้ำเงิน เพราะสีเข้มทึบ มีผลดึงดูดความสนใจยุงได้มากกว่าสีอ่อน¹
ติดอุปกรณ์ป้องกันยุง นอกจากช่วยกันยุงแล้วยังช่วยกันแมลงได้อีกด้วย หรือหากใครที่กังวลว่าในบ้านมียุงอยู่แน่นอน อาจจะหาซื้ออุปกรณ์ป้องกันยุงอย่างเครื่องดัก หรือเครื่องช็อตยุง มุ้งลวด เพียงเท่านี้ก็นอนได้อย่างปลอดภัย สบายใจ
แม้โดยส่วนใหญ่แล้ว เราอาจจะไม่ได้พบเจอกับยุงทุกสายพันธุ์ในชีวิตประจำวัน แต่การหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัด หลีกเลี่ยงจากการเดินทางไปในพื้นที่ที่มียุงอยู่ชุกชุม หมั่นทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ และรู้จักป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากยุงโดยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติ เพราะหากได้รับเชื้อจากยุงจนต้องได้เข้ารับการรักษาแล้ว นอกจากจะต้องเสียทรัพย์ เสียเวลาในการรักษาตัว ในรายที่ร้ายแรงยังอาจมีโอกาสเสียชีวิตอีกด้วย แม้ต้นเหตุจะมาจากยุงเพียงตัวนิดเดียวก็ตาม
เรียบเรียงโดย : พญ.พิมพ์พรรณ พิสุทธิ์ศาล อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
เอกสารอ้างอิง: 1. ยุง (ยุงลาย,ยุงก้นปล่อง,ยุงรำคาญ,ยุงเสือ) ความสำคัญ และการป้องกัน. (2018, February 3). Retrieved October 8, 2024 from Thaihealthlife.com. https://thaihealthlife.com/ยุง/ 2. Faculty of Pharmacy, Mahidol University, & THAILAND. (n.d.). ฤดูฝนพรำ...ระวังโรคติดต่อที่นำโดยยุง. Mahidol.ac.th. Retrieved August 21, 2024, from https://pharmacy.mahidol.ac.th/th2/knowledge/article/526 3. โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายจากยุงลาย. (n.d.). Siphhospital.com. Retrieved October 8, 2024 from https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/dengue 4. Sikarin Hospital. (n.d.). โรคที่มาพร้อมกับฤดูฝน. Sikarin Hospital. Retrieved October 8, 2024 from https://www.sikarin.com/health/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AE%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A 5. Chu, S. (2020, July 9). โรคไข้สมองอักเสบ (Japanese encephalitis : JE). Hospital for Tropical Diseases. Retrieved October 8, 2024 from https://www.tropmedhospital.com/knowledge/japanese-encephalitis.html 6. Faculty of Medicine Siriraj Hospital. (2012). ชิคุนกุนยา (Chikungunya). Mahidol.ac.th. Retrieved October 8, 2024 from https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=955 7. มาลาเรีย ไข้จับสั่น หรือไข้ป่า (Malaria). (2020, January 9). Hospital for Tropical Diseases. Retrieved October 8, 2024 from https://www.tropmedhospital.com/knowledge/malaria.html 8. รู้จัก “โรคไข้ซิกา” (Zika Fever) อาการและรักษา. (n.d.). Bumrungrad.com. Retrieved October 8, 2024, from https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/september-2016/zika-fever-virus-symptoms-cause-treatment 9. Chu, S. (2020, July 17). โรคเท้าช้าง. Hospital for Tropical Diseases. Retrieved October 8, 2024 from https://www.tropmedhospital.com/knowledge/lymphatic-filariasis.html 10. ยุงชอบกัดคนประเภทไหน. (2023, June 16). Science and Technology Knowledge Centre : STKC. Retrieved October 8, 2024 from https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%97%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99
NP-TH-NA-WCNT-240020