ไม่ว่า Gen ไหน ๆ ก็ต้องใช้ชีวิตทั้งกายใจให้ยัง Active เช่นเดียวกับ ‘ครูมล-พิมลรัตน์ ทิศาภาคย์’ ครูสอนไทเก๊กที่มีลูกศิษย์ลูกหาวัย Gen ยัง Active มานับไม่ถ้วน
แม้ไทเก๊กอาจดูเป็นการร่ายรำอย่างเชื่องช้า แต่จริง ๆ แล้ว ถือเป็นกิจกรรมออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ด้วยรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ไม่ต้องใช้แรงเยอะ เน้นการฝึกลมหายใจ สามารถฝึกได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ มาดูกันว่าทำไม ไทเก๊ก จึงเป็นแพสชันอันแรงกล้าที่ทำให้ครูมลหลงใหลในศาสตร์ความสมดุลแห่งชีวิตเช่นนี้
“กำลังจะมี ก็ต่อเมื่อเราออกกำลัง”
หมวกใบแรกของครูมล คือพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งที่ทำงานตามระบบออฟฟิศทั่วไป หากแต่หมวกอีกใบ คือการรับหน้าที่ครูผู้สอนไทเก๊กในวันธรรมดาช่วงเย็นและเสาร์อาทิตย์ ควบคู่กับการทำเพจ Tai Chi by Guru Mon ที่ตัวเธอเองนั้น เป็นแอดมินผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์การออกกำลังกายวิถีจีนมาโดยตลอด
จุดเริ่มต้นของการเป็นครูสอนไทเก๊กของครูมล คือความชื่นชอบในการออกกำลังกาย แม้ร่างกายจะไม่แข็งแรงตั้งแต่เด็กก็ตาม
“เป็นคนจริงจัง และเป็นเพอร์เฟ็คต์ชันนิสต์มาแต่ไหนแต่ไร สมัยก่อน ตอนเด็ก ๆ ป่วยบ่อย เคยเครียดลงกระเพาะถึงขนาดเข้าโรงพยาบาลมาแล้ว ก็ป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ มาโดยตลอด แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เมนเทนได้คือเราชอบออกกำลังกาย แม้จะป่วยออด ๆ แอด ๆ แต่เราก็เป็นคนแอคทีฟ ตีแบด เข้าฟิตเนส เข้าคลาส คาร์ดิโอ เล่นกีฬานู่นนี่นั่น เล่นโยคะก็ทำได้ดีถึงขนาดที่ครูโยคะจะชวนให้เป็นครูสอนโยคะด้วย (หัวเราะ)
“แต่ในขณะที่ออกกำลังกาย แต่ก็ยังก็ป่วยอยู่ ก็มาสังเกตตัวเองว่า มันก็แปลกนะ ตอนออกกำลังกาย มันเหนื่อย แต่มันสนุก แต่สิ่งที่สังเกตได้คือ ออกกำลังกายแล้วเหงื่อไม่ค่อยออก คนอื่นแอโรบิกเหงื่อท่วม แต่เราใส่เสื้อผ้าซ้ำได้ 2 วัน คือเสื้อผ้าไม่เหม็น ไม่มีเหงื่อ (หัวเราะ) อีกอย่าง ความเครียดยังไม่หาย คือตอนเล่นมันสนุก แต่พอเล่นเสร็จปุ๊บ มันเครียดเหมือนเดิม หัวที่ตื้อ มันก็ตื้อเหมือนเดิม ทีนี้ก็มีอาการป่วยมาเรื่อย ๆ ตอนหลัง ๆ พีคสุดคือเป็นหนักถึงขนาดมีอาการหูดับ ช่วงนั้นต้องกินยา 14 เม็ดต่อวัน ก็คิดว่ามันเยอะไปแล้วสำหรับคนวัย 30 ก็เลยมองหาทางออก มองหากีฬาที่น่าจะเข้ากับเรา จนมาเจอไทเก๊กนี่ล่ะ
“ที่ทำงานมีชมรมชี่กง ไทเก๊ก ซึ่งเราก็เห็นแล้วล่ะว่ามีชมรมนี้ แต่ยังไม่เคยลองเล่นซะที ก็ตัดสินใจไปลอง ครั้งแรกที่ไปลอง พอฝึกจบ สมองเบา จากที่มาแล้วหน้าอึน ๆ หัวตื้อ ๆ รู้สึกว่าสมองมันเปิด ความเครียดมันหายไป ก็เลยคิดว่า นี่ล่ะ คือกีฬาที่ใช่ ฝึกชั่วโมงเดียวนี่เหงื่อท่วม” (หัวเราะ)
‘ไทชิ’ คือ ‘ไทเก๊ก’ และ ‘ไทเก๊ก’ ก็คือ ‘ไทชิ’
หลายคนอาจเคยสงสัยว่าการออกกำลังกาย 2 อย่างนี้ต่างกันอย่างไร? คำตอบ คือ ไม่ต่างกัน เป็นเพียงคำเรียกชื่อที่ต่างกันเพราะภาษาเท่านั้นเอง
‘ไทเก๊ก’ มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว คนไทยจึงคุ้นกับคำนี้มากที่สุด เพราะคนจีนส่วนใหญ่ในบ้านเราเป็นแต้จิ๋ว ขณะเดียวกันถ้าเป็นภาษาจีนกลาง จะออกเสียงเป็น ‘ไท่จี๋’ แล้วเมื่อการออกกำลังกายชนิดนี้โด่งดังไปถึงยุโรปและอเมริกา จึงถูกเรียกขานว่า ‘ไทชิ’
ดังนั้น จะเรียกว่า ‘ไทชิ’ ‘ไทเก๊ก’ หรือ ‘ไท่จี๋’ ก็คือการออกกำลังกายที่ใช้พละกำลังภายในขับเคลื่อนให้ร่างกายเคลื่อนไหวอย่างมีสติรู้ตัว ผนวกกับการกำหนดลมหายใจเข้าลึก ออกยาว เพื่อให้เลือดลมไหลเวียนไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกายได้อย่างสมดุลนั่นเอง
ใจผสานกาย กายผสานใจ
ครูมลบอกว่าการฝึกไทเก๊กต้องทำ 3 อย่างควบคู่กัน ซึ่งจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้
“สิ่งแรกคือร่างกาย ถ้าเราออกกำลังกายแค่เคลื่อนไหวร่างกายอย่างเดียว มันจะเป็นแค่กายบริหาร ไทเก๊กนี่ดูเหมือนง่าย แต่มีหลักการค่อนข้างเยอะ แม้เราจะยืนนิ่ง หรือเคลื่อนไหว ต้องคงหลักการพื้นฐาน คือต้องรักษาแนวกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง และกระดูกก้นกบ ให้ตรงเป็นแนวเดียวกัน ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวท่าไหน ต้องรักษาแนวกระดูกให้ได้ รวมถึงการส่งแรง ดูเหมือนเคลื่อนที่น้อย แต่จริง ๆ มีการส่งแรงตั้งแต่เท้า มาขา มาสะโพก ไปตัว ไปแขน ไปมือ อันนี้ยากนะ บางท่า เราเองก็ยังส่งแรงได้ไม่เท่าที่หวังไว้ มันต้องฝึกอยู่เรื่อย ๆ เป็นรายละเอียดที่ต้องฝึกเยอะ ๆ ถึงจะทำได้
“ไทเก๊ก ไม่เหมือนกีฬาอื่น อย่างโยคะ สมมติวันนี้เราปวดคอ ครูก็จะให้เล่นท่าคอ แล้วเล่นท่านู่นนี่สลับไปมา แต่ไทเก๊กน่ะไม่ ถ้าเริ่มท่าที่ 1 ต้องไล่ 2, 3, 4 ไปจนจบ แต่ละท่าต้องเคลื่อนให้ถูกต้อง นี่คือหลักของร่างกาย
“ลมหายใจ หลัก ๆ คือหายใจให้ลึกและยาว หายใจให้นุ่มนวลที่สุด คนปัจจุบันหายใจเข้าออก 2-3 วิ แต่ไทเก๊ก จะเน้นไปที่ 6-8 วิ มันถึงต้องเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ ไปด้วยกัน
“จิตใจ จิตใจเบาสบายก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่เน้น ๆ คือจิตใจต้องติดตามการเคลื่อนไหว เหมือนมีสมาธิอยู่กับการฝึก ตัวเราเคลื่อนไป ใจก็ต้องกำหนดรู้ว่าทำท่าถูกไหม เอาจิตใจไปจับ ทั้งนี้ ลมหายใจยังต้องลึกและยาวอยู่นะ จิตใจต้องจินตนาการตามท่าด้วย อย่างมีท่านึงชื่อ กรงเล็บสยายปีก เราต้องจินตนาการว่านี่คือกรงเล็บนะ การสยายปีกคือต้องเปิดแขนเปิดอก ต้องจินตนาการแบบนั้น ไทเก๊กมันถึงเหนื่อยกว่าที่คิดมาก”
เชื่องช้าสไตล์ไทเก๊ก แต่บูสต์เอเนอร์จี้ให้ Active แบบสุดพลัง
วัย Gen ยัง Active คือลูกศิษย์กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของครูมล โดยครูมลมีคลาสสอนผู้สูงวัยอยู่หลายคลาส แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือทุกคลาสต่างมีจุดเริ่มต้นจากคุณลูกที่ศึกษาข้อมูลมาแล้วว่าไทเก๊กนั้นดี เลยติดต่อให้ครูมลไปสอน
บางครอบครัวต้องการใช้ไทเก๊กช่วยเพิ่มความแข็งแรงภายนอก บางครอบครัวต้องการไทเก๊กช่วยเพิ่มพลังภายใน และบางครอบครัวก็ต้องการใช้ไทเก๊กเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคที่เป็นอยู่ ซึ่งทางครูมลก็ยินดีอย่างมากที่จะช่วยให้ทุกครอบครัวสมบูรณ์พร้อมทั้งภายในและภายนอก แต่เธอบอกว่าติดอยู่นิดเดียวคือเสียดายที่คุณลูกยังไม่ยอมมาฝึกด้วย เพราะจริง ๆ แล้ว การรีบฝึกก่อนสูงวัย นับว่าได้เปรียบ แต่แค่เริ่มต้นที่อยากให้คนในครอบครัวมีสุขภาพที่แข็งแรง ก็ถือเป็นการเริ่มนับ 1 แล้ว
เมื่อถามครูมลว่ามีนักเรียนวัย Gen ยัง Active เคสไหนที่ค่อนข้างท้าทายในการสอนบ้างไหม เธอตอบอย่างไม่รีรอว่า มี และเป็น ผู้ป่วยพาร์กินสันเสียด้วย
“หลายคนอาจจะสงสัยว่า ผู้ป่วยพาร์กินสันสามารถฝึกไทเก๊กได้หรือไม่? ตอบเลยว่าได้ เพราะมีงานวิจัยแล้วว่า การรำไทเก๊ก มีส่วนช่วยในเรื่องการทรงตัวและเรื่องความจำของผู้ป่วยพาร์กินสัน และผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคทางสมอง แต่ทั้งนี้ต้องเป็นผู้ป่วยในอาการระยะเริ่มแรกเท่านั้น อีกทั้งยังต้องอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย”
มือใหม่หัดเล่น ต้องเซฟเข่าให้เป็น
หลายคนกังวลว่าการเล่นไทเก๊กที่มีท่าร่ายรำซึ่งอาศัยการย่อ จะทำให้บาดเจ็บบริเวณหัวเข่า ครูมลอธิบายว่าไม่ต้องกังวลว่าการเคลื่อนไหวช้า ๆ จะไม่ได้อะไร เพราะจริง ๆ แล้วเราใช้พลังภายในในการขับเคลื่อน ยิ่งช้า ยิ่งได้ประโยชน์ และลดอาการบาดเจ็บได้มาก
“อันที่จริง การย่อ เป็นข้อควรระวังของวัยผู้สูงอายุ เพราะใน 1 ชุดที่เราเล่นมีการย่อเยอะมาก ถ้าย่อไม่ถูกนี่คือวิบัติเลยนะ (หัวเราะ) ต้องเชฟเข่าให้เป็น ส่วนความเชื่อที่ว่า อย่าไปเล่นไทเก๊กนะเพราะทำให้เข่าเจ็บ จริง ๆ แล้วถ้าเล่นไม่ถูก ลงแรงไม่เป็นก็คือเจ็บ เหมือนกีฬาทั่วไปแหล่ะ พื้นฐานการฝึกต้องทำให้ถูกต้อง”
เพราะรู้ว่าการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอนั้นส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจอย่างไร ตลอดเวลาเกือบ 10 ปีที่ครูมลได้ร่ำเรียนไทเก๊กมา ครูมลจึงตื่นแต่เช้า มาฝึกอย่างสม่ำเสมอ ผนวกกับความเป็นครูที่ต้องจดจำรายละเอียดให้ได้มากที่สุด เพื่อถ่ายทอดต่อให้ลูกศิษย์ได้รับเกิดประโยชน์สูงสุด ยิ่งทำให้การฝึกซ้อมยิ่งสำคัญ และยิ่งมีพลังไปสอนลูกศิษย์ได้ตลอดทั้งวันแบบเอเนอร์จี้ไม่ดร็อป
ไม่ใช่แค่สอนแล้วจบ การพูดคุยก็ช่วยฮีลใจ
“ด้วยความที่เราสอนผู้สูงอายุก็จะมีทริคในการสอนนิดนึง ไม่ใช่แค่สักแต่ว่าสอน แต่เราจะเน้นการพูดคุย อย่างวัยผู้สูงอายุ ยกตัวอย่างพ่อแม่ครูมลเอง ระหว่างวันแทบไม่ได้คุยกับใครเลย พอเราออกไปสอน ท่านก็จะดูเนือย ๆ ดังนั้น สิ่งที่เราเพิ่มเข้าไปในการสอนคือเรื่องการสื่อสาร เราในฐานะครูก็จะต้องพูดคุยกันก่อน ชวนคุยกันก่อน วันนี้ทำอะไรมา กินอะไรมา จนเค้ากระตือรือร้น กระปรี้กระเปร่าขึ้น หรือแม้กระทั่งตอนวอร์มอัพ ก็มีการชวนคุยว่าพูดภาษาจีนได้ใช่ไหม ให้นับ 1-20 เป็นภาษาจีนกลาง พอทำอีกท่านึง ให้นับถอยหลังเป็นภาษาจีน ก็ช่วยให้บรรยากาศดูผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการเรียนในคลาสมาก”
ครูผู้ให้ แต่ศิษย์ก็เป็นผู้ให้เช่นกัน
ย้อนกลับไปในช่วงที่ครูมลฝึกไทเก๊กเมื่อ 10 ปีก่อน เธอบอกว่า ตอนฝึกนั้นจะได้รับพลังมาก ทั้งพลังที่ส่งให้จิตใจสงบ และพลังที่ส่งให้กายมีแรงขับเคลื่อนและทำงานไปได้ดีตลอดทั้งวัน แต่กลับตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมช่วงหลัง ๆ พลังเหล่านี้น้อยลง หรือจะเป็นเพราะชีวิตมีเรื่องเครียดมากขึ้น รับผิดชอบภาระงานหลายอย่างมากขึ้น เวลาพักผ่อนน้อยลง เลยทำให้ฝึกจบแล้วไม่ได้พลังอย่างเคย
จนมาวันหนึ่ง ครูมลได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนกับลูกศิษย์เบอร์ต้น แล้วก็ทำให้รู้ว่าตัวเองมุ่งหวังจะเดินไปให้ถึงปลายทาง โดยลืมมองความสวยงามของสองข้างทางไป จึงเริ่มปรับโฟกัสใหม่ ให้ทุกการเคลื่อนไหวระหว่างการฝึกนั้นผ่อนคลาย โดยเฉพาะจิตใจที่ต้องผ่อนคลายให้มาก สุขให้เยอะ และไม่คาดหวังผลใด ๆ
นอกจากครูมลจะรักการเรียนรู้เรื่องไทเก๊กจากตำราและครูบาอาจารย์แล้ว ยังรักการเรียนรู้ที่ได้มาจากลูกศิษย์ลูกหาของตัวเธอเองอีกด้วย
“ลูกศิษย์แต่ละคนมีความต้องการมาฝึกไทเก๊กด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน บางคนอยากมีสุขภาพแข็งแรง บางคนอยากให้โรคหรืออาการที่เป็นอยู่ดีขึ้น เป็นโจทย์ที่ทำให้เราต้องทำการบ้านเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด
“ลูกศิษย์หลายคน ประกอบหน้าที่การงานดี เป็นที่น่าเชื่อถือในสังคม ทั้งคุณหมอ คุณครู คุณตำรวจ เจ้าของธุรกิจ ฯลฯ ระหว่างการสอน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่น่าสนใจ เราเองก็ได้แรงบันดาลใจดี ๆ จากลูกศิษย์ตำรวจ ได้เทคนิคการหายใจจากลูกศิษย์ที่เป็นหมอ และลูกศิษย์อีกหลายที่เป็นคนปกติ คนตัวเล็ก ๆ ในสังคมที่มีจิตใจบริสุทธิ์ และมีพลังบวก เรียกว่าไม่ใช่ปล่อยให้ครูเสริมแรงบวกทางเดียว แต่เราก็ได้รับพลังบวกด้วยเช่นกัน”
เพราะเชื่อว่าร่างกายภายนอกและจิตใจภายใน มีความสำคัญเท่าเทียมกัน การใส่ใจสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ควบคู่กับการสร้างสมาธิ และพลังภายในให้สมบูรณ์ จึงเป็นหนทางเพื่อความสุขทั้งกายและใจที่ยั่งยืน ที่ไม่ว่าวัยไหน ก็ Active ได้ไม่ต่างกัน