line
เมนู
รู้แล้วยัง

เข้าใจ ‘อัลไซเมอร์’ ก่อนเสื่อมรุนแรง

เรียนรู้และเข้าใจผู้ป่วยอัลไซเมอร์ พร้อมทริคป้องกันที่คุณเองก็ทำได้!
แชร์บทความนี้
line
line
line

หากวันหนึ่งคุณ หรือคนที่คุณรักเริ่มถามคำถามเดิมซ้ำ ๆ ในช่วงเวลาสั้น ๆ เริ่มหลงลืมเรื่องสำคัญในชีวิต หรือเปลี่ยนไปเป็นคนที่เริ่มหงุดหงิดง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเล็ก ๆ ที่บ่งบอกว่าคนใกล้ตัวอาจมีอาการของ ‘อัลไซเมอร์’ ซึ่งโรคนี้ถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่พบบ่อยใน Gen ยัง Active วัย 50+

โดยอัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในโรคที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต มีผลให้เกิดภาวะสมองเสื่อมซึ่งยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากสังเกตอาการ และดูแลอย่างใกล้ชิด จะสามารถชะลอและป้องกันอาการของโรค การเข้าใจอาการของโรคจึงเป็นเรื่องสำคัญที่นำไปใช้ในการดูแลและสังเกตอาการเบื้องต้น

ระยะของโรค ‘อัลไซเมอร์’¹

ระยะก่อนสมองเสื่อม : ผู้ป่วยมีความบกพร่องทางการเรียนรู้เล็กน้อย มีปัญหาในการจดจำข้อมูลใหม่ ลืมง่ายขึ้น อาจคิดตัดสินใจได้ช้าลง แต่ยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ปกติ

สมองเสื่อมระยะที่ 1 : มีอาการหลงลืม โดยจะเริ่มลืมสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น ลืมปิดไฟ ลืมว่ากินข้าวแล้ว และมักจะถามซ้ำ ๆ อย่างถามว่ากินข้าวหรือยัง อีกไม่นานก็ถามใหม่ ไปจนถึงพูดถึงแต่เรื่องเดิม แต่ยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันในเรื่องที่ไม่ซับซ้อนได้ตามปกติ เช่น อาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว

ส่วนกิจวัตรประจำวันที่ต้องการความซับซ้อนอย่างการจัดยา อาจเริ่มมีอาการบกพร่องทางความคิด จัดยาผิด ใช้อุปกรณ์ที่คุ้นเคยไม่ถูก หรือบางคนอาจเริ่มสูญเสียทักษะในการขับรถ โดยระยะนี้ทางญาติหรือคนในครอบครัวอาจจะยังไม่แน่ใจว่านี่คืออาการของโรคอัลไซเมอร์ จึงต้องเริ่มสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

สมองเสื่อมระยะที่ 2 : อาการหลงลืมเป็นมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บางครั้งถึงกับจำบ้านตัวเองไม่ได้ เดินออกจากบ้านโดยไม่มีจุดหมาย พฤติกรรมเริ่มเปลี่ยน เช่น ขี้หงุดหงิด ก้าวร้าว พูดจาหยาบคาย หวาดระแวง ไม่นอน อาจมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม

นอกจากนี้ จะเริ่มมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น อย่างการอาบน้ำก็เริ่มสับสนในขั้นตอนว่าต้องทำอะไรก่อน - หลัง อาจใส่เสื้อผ้ากลับหน้ากลับหลัง หรือเลือกใส่เสื้อหนา ๆ หลาย ๆ ชั้นในวันที่อากาศร้อน ซึ่งทำให้การดูแลเป็นไปด้วยความยากลำบากขึ้น

สมองเสื่อมระยะที่ 3 : มีอาการรุนแรงขึ้น ไม่สามารถดูแลทำกิจวัตรประจำวันได้ โดยระยะนี้ ผู้ป่วยมีอาการถดถอยในทุกด้าน ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง เคี้ยวและกลืนอาหารได้น้อยลง แทบจะไม่พูดจา การเคลื่อนไหวน้อยลงหรือไม่เคลื่อนไหวเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จนเกิดภาวะติดเตียง เพราะสมองเสื่อมเป็นวงกว้าง

จะเห็นได้ว่าอาการหรือพฤติกรรมเหล่านี้ ไม่ใช่แค่การขี้ลืมเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงการคิดอ่านและพฤติกรรมหลายด้าน คือ 1. ด้านความจำ 2. ด้านการรับรู้มิติหรือทิศทาง 3. ด้านการใช้ภาษา 4. ด้านการคิดวางแผน ตัดสินใจ 5. ด้านการรับรู้อารมณ์ 6. ด้านพฤติกรรมหรือการกระทำที่เปลี่ยนไป ดังนั้น หากหมั่นสังเกตอาการตัวเอง หรือคนใกล้ตัว เมื่อเห็นพฤติกรรมหรืออาการตั้งแต่ในระยะแรกก็ควรพาไปพบแพทย์ เพื่อชะลอการลุกลามของโรค เพราะจริง ๆ แล้วโรคอัลไซเมอร์ไม่ใช่โรคที่จะเป็นแบบฉับพลันทันใด ดังนั้นการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีไปอีกยาวนาน

อยู่อย่างเข้าใจ ‘อัลไซเมอร์’

เมื่อเป็นโรคอัลไซเมอร์ การดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดอย่างถูกวิธี เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากผู้ป่วยจะมีความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันได้น้อยลง ผู้ดูแล จึงมีบทบาทมากที่สุด ดังนั้น การเข้าใจโรคจะช่วยประคับประคองให้ผู้ป่วยอยู่ได้อย่างมีความสุข และผู้ดูแลเองก็จะไม่เกิดความวิตกกังวลและรู้สึกเหนื่อยมาก

คำแนะนำสำหรับผู้ดูแล

การทำความเข้าใจกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่ดีที่สุด คือ การสอบถามจากแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโดยตรง ทั้งเรื่องลักษณะอาการ ระยะเวลา วิธีการรักษา การคาดเดาโรค ตลอดจนวิธีการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยแล้ว ก็จะสามารถรับมือและแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

ยอมรับผู้ป่วย และยอมรับว่าโรคนี้รักษาไม่หาย บางครั้งผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์อาจแสดงอารมณ์ที่ทำให้ผู้ดูแลรู้สึกผิดหวัง อยากให้เข้าใจว่าเป็นผลมาจากอาการของโรค ไม่ใช่ความไม่พึงพอใจ โกรธ หรือตั้งใจจะต่อว่าผู้ดูแล

11 ข้อรู้ก่อน..ชะลอการเกิด

เราไม่สามารถหยุดอายุและหยุดการเสื่อมของเซลล์สมองได้ แต่ในส่วนที่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรม ก็สามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรค โดยปฏิบัติตาม ดังนี้

1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนพอเหมาะ เน้นรับประทานผัก ผลไม้ และไขมันดี

2. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

3. ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

4. หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ

5. ตรวจและควบคุมระดับความดันโลหิต

6. หากป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควรควบคุมการรับประทานอาหาร และการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ

7. พบปะพูดคุยเข้าสังคม ทำกิจกรรมการกระตุ้นความคิดอยู่เสมอ

8. ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางสมอง เช่น อุบัติเหตุจากการขับขี่ อุบัติเหตุจากการลื่นล้ม

9. ไม่เครียด หรือซึมเศร้านาน หากอาการเป็นมาก ให้รีบปรึกษาแพทย์

10. หมั่นเรียนรู้ การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทั้งการเรียนในชั้นเรียนตั้งแต่วัยเด็ก หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในภายหลัง เมื่อพ้นวัยเรียน

11. หลีกเลี่ยงยาที่ส่งผลกระทบต่อสมอง โดนเฉพาะยาที่กินแล้วง่วง อาจรบกวนความจำ หรือทำให้เกิดอาการซึมสับสนเฉียบพลัน²

แม้ทุกวันนี้ยังไม่พบวิธีรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด แต่มีวิธีการรักษาตามอาการของผู้ป่วยในแต่ละราย รวมถึงการดูแลพฤติกรรมจากโรค การป้องกันจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยชะลอความเสื่อมของโรคอัลไซเมอร์ได้³

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับความจำ ควรรีบพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาให้สามารถป้องกันอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนของโรคอัลไซเมอร์...

..เพราะ ‘อัลไซเมอร์’ รู้ก่อน ชะลอได้

เรียบเรียงโดย: ศ. นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล
หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

NP-TH-NA-WCNT-240024

เอกสารอ้างอิง :
1. Stages of Alzheimer’s disease. (2024, February 29). Hopkinsmedicine.org. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/alzheimers-disease/stages-of-alzheimer-disease
2. Lee, J. (2018). Use of sedative-hypnotics and the risk of Alzheimer's dementia: A retrospective cohort study. PloS one, 13(9), e0204413. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0204413
3. How is Alzheimer’s disease treated? (n.d.). National Institute on Aging. Retrieved July 9, 2024, from https://www.nia.nih.gov/health/alzheimers-treatment/how-alzheimers-disease-treated

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว