line
เมนู
รู้แล้วยัง

‘Vaccine Heroes’ รวมเรื่องวัคซีนที่วัย 50+ ควรรู้ เพื่อสร้างชีวิตสุขเสรี

เสริมเกราะวัคซีน ป้องกันไว้ ชีวิตดีมีสุข
แชร์บทความนี้
line
line
line

ยกให้เป็นงานแฟร์ด้านสุขภาพที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์หลากหลายด้านของวัย Gen ยัง Active สำหรับ ‘Thailand Healthcare 2024’ เพราะนอกจากจะจัดเต็มทั้งความสนุกสนาน การสร้างความหวังพลังใจ และกิจกรรมมากมายแล้ว ยังได้ความรู้กลับไปแบบเต็ม ๆ หนึ่งในความรู้น่าสนใจที่หยิบยกมาฝากชาว Gen ยัง Active คือ เสวนาพิเศษ ‘Vaccine Heroes: เสริมเกราะวัคซีนทุกวัย ครอบครัวไทยแข็งแรง’ โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน ร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย ร่วมถ่ายทอด โรคและการป้องกันโรคที่วัย 50+ ควรรู้ เพื่อสร้างชีวิตสุขเสรี

ร่วมเสวนาโดย นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ อายุรแพทย์ทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ, รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, พญ.สุดา พันธุ์รินทร์ อายุรแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันคลินิก ผู้เชี่ยวชาญนายแพทย์ระดับ 9 สถานเสาวภา สภากาชาดไทย และ นพ.ทรงเกียรติ อุดมพรวัฒนะ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพุทธชินราช เจ้าของเพจ: infectious ง่ายนิดเดียว

มาร่วมหาคำตอบเรื่องโรคและการป้องกันโรคสำหรับวัย Gen ยัง Active 50+ ไปพร้อมกัน

โรคที่มาพร้อมกับหน้าฝน

เริ่มเข้าฤดูฝน อากาศเปลี่ยนแปลง หากวัย Gen ยัง Active คนไหนที่ไม่ดูแลสุขภาพให้ดี พักผ่อนให้เพียงพอ หรือรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย ก็อาจทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย ๆ ซึ่งโรคต่าง ๆ ที่มักเป็นกันบ่อยในช่วงนี้มีหลายกลุ่ม

โดยโรคยอดฮิตจากไวรัสบางตัวที่มักทำให้เกิดความรุนแรงได้คือ โรคไข้หวัดใหญ่ โรค RSV และโรคไข้เลือดออก

โรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อเด็กเล็กเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง แต่จะเป็นกันทีหลาย ๆ คน เด็กนักเรียนมักเป็นกันยกห้อง¹ แต่สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่บ้าน เมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้²

โรค RSV ไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง มักเกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก ซึ่งวัย Gen ยัง Active ก็สามารถเป็นได้เช่นกัน เมื่อเป็นแล้วอาจมีอาการเล็กน้อย แต่หากมีโรคประจําตัว เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคสามารถมีอาการรุนแรงได้เช่นเดียวกับเด็ก³

สำหรับการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และ RSV ที่ทุกคนสามารถทำได้ คือการกินร้อนช้อนกลางล้างมือ ใช้เจลแอลกอฮอล์ ใส่หน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน³

โรคไข้เลือดออก โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออก หรือไวรัสเดงกี โดยมียุงลายเป็นพาหะ มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 สายพันธุ์⁴

ซึ่งการป้องกันโรคไข้เลือดออกตามแคมเปญของทางกระทรวงสาธารณสุข คือสูตร 3 เก็บ
1) เก็บน้ำปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์
2) เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง
3) เก็บขยะและเศษภาชนะ
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และการป้องกันยุงกัด โดยการทายากันยุง หรืออยู่ในที่ที่มีมุ้งลวด⁵

โรคงูสวัด ภัยเงียบของผู้สูงวัย

นอกจากโรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานที่เรียกว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงวัยแล้ว⁶ “โรคงูสวัด” ก็นับเป็นอีกหนึ่งโรคที่สร้างปัญหาให้กับวัย Gen ยัง Active 50+ เช่นกัน มาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น รวมถึงเหตุผลว่าทำไม โรคนี้จึงเกิดกับผู้สูงวัยกันเป็นจำนวนมาก

โรคงูสวัด เกิดจากไวรัสตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อนี้จะหลบอยู่ในร่างกายเรา จนเมื่อร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันลดลง โรคงูสวัดจะเริ่มแสดงอาการออกมา⁷ โดยพบว่าคนไทยมากกว่า 90% มีความเสี่ยงที่จะเป็นงูสวัดเพราะเคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน⁸

อาการของโรคงูสวัดจะไม่ได้เป็นเฉพาะอาการทางผิวหนังเพียงอย่างเดียว แต่อาจทำให้ตาบอด หรือใบหน้าอาจเบี้ยวได้ บางรายมีอาการเสียงแหบเนื่องจากเส้นเสียงเป็นอัมพาต หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนบริเวณเยื่อหุ้มสมอง โรคงูสวัดจึงเป็นภัยเงียบของวัย Gen ยัง Active ก็คงไม่ผิดนัก⁷

มะเร็งปากมดลูก ภัยเงียบของผู้หญิง

ผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม แต่เป็นมะเร็งชนิดเดียว⁹ ที่ถ้ารู้ก่อนจะสามารถป้องกัน และรักษาให้หายได้

มะเร็งปากมดลูก ถือเป็นภัยเงียบสำหรับผู้หญิง เพราะในช่วงแรกของการเกิดมะเร็งปากมดลูกมักจะไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ หรืออาการที่เด่นชัดจนมะเร็งแพร่กระจาย ซึ่งกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวก็มักเข้าสู่ระดับรุนแรงแล้ว แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะหากตรวจกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาความผิดปกติของมดลูกและอวัยวะภายในตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ก็จะสามารถตรวจพบโรคหรือความเสี่ยงได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ¹⁰

สาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อเนื้อเยื่อบุผิว และก่อโรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนักทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ด้วยการสัมผัสเชื้อโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ผู้ที่มีเชื้อ HPV อยู่ในร่างกาย มักไม่มีอาการแสดงใด ๆ จึงอาจแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว¹¹

การป้องกันการติดเชื้อ HPV สามารถป้องกันได้โดยการตรวจคัดกรองเชื้อ HPV และการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์¹⁰

ทั้งหมดนี้คือ 3 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนของวัย Gen ยัง Active ทุกคน มากไปกว่านั้น การที่คนเราจะสุขภาพแข็งแรงกันทั้งครอบครัว ต้องมีหลัก 3 อ. ได้แก่ อากาศดี อาหารดี ออกกำลังกาย อีกทางเลือกหนึ่งของการป้องกันโรคที่กล่าวมาทั้งหมดคือการฉีดวัคซีน แม้จะไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สามารถลดระยะและความรุนแรงของโรคหากเป็นได้

เรียบเรียงโดย : จีเอสเค

เอกสารอ้างอิง
1. Nayak, J., Hoy, G., & Gordon, A. (2021). Influenza in Children. Cold Spring Harbor perspectives in medicine, 11(1), a038430. https://doi.org/10.1101/cshperspect.a038430
2. Langer, J., Welch, V. L., Moran, M. M., Cane, A., Lopez, S. M. C., Srivastava, A., Enstone, A. L., Sears, A., Markus, K. J., Heuser, M., Kewley, R. M., & Whittle, I. J. (2023). High Clinical Burden of Influenza Disease in Adults Aged ≥ 65 Years: Can We Do Better? A Systematic Literature Review. Advances in therapy, 40(4), 1601–1627. https://doi.org/10.1007/s12325-023-02432-1
3. Kaler, J. et al. (2023). Cureus, 15(3), e36342. https://doi.org/10.7759/cureus.36342
4. Tayal, A., Kabra, S. K., & Lodha, R. (2023). Management of Dengue: An Updated Review. Indian journal of pediatrics, 90(2), 168–177. https://doi.org/10.1007/s12098-022-04394-8
5. สสส. (2018, August). 3 เก็บ สู้ไข้เลือดออก. สสส. https://www.thaihealth.or.th/3เก็บ-สู้ไข้เลือดออก/
6. Top 10 chronic conditions affecting older adults. (n.d.). Ncoa.org. Retrieved September 17, 2024, from https://www.ncoa.org/article/the-top-10-most-common-chronic-conditions-in-older-adults/
7. Harpaz, R., Ortega-Sanchez, I. R., Seward, J. F., & Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP) Centers for Disease Control and Prevention (CDC) (2008). Prevention of herpes zoster: recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP). MMWR. Recommendations and reports : Morbidity and mortality weekly report. Recommendations and reports, 57(RR-5), 1–CE4.
8. Migasena, S., Simasathien, S., Desakorn, V., Phonrat, B., Suntharasamai, P., Pitisuttitham, P., Aree, C., Naksrisook, S., Supeeranun, L., Samakoses, R., & Meurice, F. (1997). Seroprevalence of varicella-zoster virus antibody in Thailand. International Journal of Infectious Diseases: IJID: Official Publication of the International Society for Infectious Diseases, 2(1), 26–30. https://doi.org/10.1016/s1201-9712(97)90007-2
9. Department of Obstetrics and Gynecology Faculty of Medicine Chiang Mai University. (2019, September). มะเร็งปากมดลูก (cervical cancer). cmu.ac.th. https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lecturestopics/topic-review/6596/
10. Faculty of Medicine Siriraj Hospital. (2020, August). โรคมะเร็งปากมดลูก : การป้องกันและรักษา. Mahidol.ac.th. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1297
11. Faculty of Medicine Siriraj Hospital. (2012, January). มะเร็งปากมดลูก. Mahidol.ac.th. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=943

NP-TH-NA-WCNT-240029

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว